อาการแพ้แบบเซรุ่มซิกเนส (Serum Sickness)

ความหมาย อาการแพ้แบบเซรุ่มซิกเนส (Serum Sickness)

Serum Sickness หรืออาการแพ้แบบเซรุ่มซิกเนส เป็นปฏิกิริยาที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายไวต่อสิ่งกระตุ้นมากผิดปกติ มักเกิดหลังจากการใช้ยาหรือหลังการได้รับเซรุ่มแก้พิษที่ผลิตจากสัตว์ ส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น ไข้ ผื่นคัน ปวดตามข้อ บวมบริเวณใบหน้า เป็นต้น

อาการดังกล่าวแตกต่างจากอาการแพ้ยาทั่วไปที่มักจะแสดงอาการแพ้อย่างรวดเร็ว โดย Serum Sickness จะใช้เวลาหลายวันก่อนจะแสดงอาการ ทั้งนี้ อาการแพ้ดังกล่าวอาจหายไปเองเมื่อหยุดใช้ยาหรือสามารถรักษาด้วยการใช้ยาอื่น ๆ ได้ตามความเหมาะสมของอาการ

serum-sickness

อาการ Serum Sickness 

โดยทั่วไปอาการแพ้เซรุ่มซิกเนสจะแสดงอาการภายใน 3 วันไปจนถึง 3 สัปดาห์หลังจากการได้รับยา เซรุ่มแก้พิษหรือเซรุ่มต้านพิษในครั้งแรก แต่ผู้ป่วยบางรายอาจแสดงอาการภายใน 1 ชั่วโมงหลังการได้รับยา ซึ่งอาการพื้นฐานของผู้ที่มีอาการ Serum Sickness คือ มีไข้ เกิดผื่นคันบริเวณผิวหนัง ปวดหรือบวมตามข้อ

นอกจากนี้อาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น

  • เกิดผื่นลมพิษ ผิวหนังแดงฝาด คัน
  • ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง 
  • บวมบริเวณหน้าและเนื้อเยื่ออ่อนต่าง ๆ เช่น บริเวณดวงตา ริมฝีปาก เป็นต้น
  • ต่อมน้ำเหลืองโต
  • ปวดหัว 
  • คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องแบบบิดหรือเกร็ง 
  • ตาพร่ามัว 
  • หายใจลำบาก

นอกจากนี้ ยังมีบางภาวะที่มีลักษณะอาการคล้าย Serum Sickness แต่เกิดจากกลไกที่แตกต่างกัน เรียกว่า Serum Sickness-like Reaction ซึ่งพบอาการคันรุนแรง ลักษณะผื่นมีสีคล้ำคล้ายรอยช้ำ มักแสดงอาการหลังได้รับยาปฏิชิวนะหรือยากันชักไปแล้ว 1-3 สัปดาห์ ทั้งนี้ แพทย์อาจใช้การตรวจเลือดตรวจหาสารบางชนิดเพื่อวินิจฉัยภาวะดังกล่าว

สาเหตุของ Serum Sickness

อาการแพ้เซรุ่มซิกเนสเป็นอาการแพ้ที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีปฎิกิริยาไวต่อโปรตีนบางชนิดในยาหรือเซรุ่มต้านพิษมากผิดปกติ ส่งผลให้เกิดอาการดังกล่าวตามมา โดยปฏิกิริยานี้พบได้บ่อยในผู้ป่วยหลังได้รับการรักษาด้วยเซรุ่มต้านพิษชนิดที่ผลิตจากสัตว์เพื่อรักษาโรคต่าง ๆ เช่น พิษงู พิษสุนัขบ้า บาดทะยัก คอตีบ เป็นต้น

นอกจากนี้ การใช้ยาชนิดต่าง ๆ อาจเกิดอาการ Serum Sickness ได้ เช่น ยาเพนิซิลลิน ยาเซฟาคลอร์ ยาในกลุ่มยาซัลฟา รวมถึงภายหลังการได้รับ ยา Antithymocyte Globulin เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยที่ปลูกถ่ายอวัยวะ หรือการใช้ Rituximap เพื่อรักษาโรคทางภูมิคุ้มกันบางชนิด 

การวินิจฉัย Serum Sickness

แพทย์จะทำการวินิจฉัยเบื้องต้นจากการสอบถามถึงอาการ ช่วงเวลาที่เกิดอาการ รวมไปถึงยาที่ผู้ป่วยกำลังใช้อยู่ในขณะนั้น ในกรณีที่ผู้ป่วยมีผื่นคัน แพทย์อาจทำการตรวจชิ้นเนื้อจากผิวหนังบริเวณที่เกิดผื่นคัน เพื่อช่วยให้สามารถคัดแยกโรคอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องได้ รวมทั้งแพทย์อาจทำการตรวจเลือดหรือปัสสาวะของผู้ป่วยเพื่อหาความผิดปกติเพิ่มเติม ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

การรักษา Serum Sickness

โดยทั่วไปอาการ Serum Sickness จะหายไปเองหากผู้ป่วยไม่มีการใช้ยาตัวเดิมซ้ำและหลีกเลี่ยงการใช้ยาหรือเซรุ่มต้านพิษ โดยในช่วงที่มีอาการแพ้ แพทย์อาจให้การรักษาเพื่อบรรเทาอาการที่เกิดขึ้น เช่น  ยาต้านฮิสตามีนเพื่อลดอาการคันและผื่น ยาในกลุ่มยาแก้อักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์เพื่อลดอาการปวดตามข้อ อาการอักเสบหรือลดไข้ ยาในกลุ่มยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ในผู้ป่วยที่มีอาการแพ้อย่างรุนแรง เป็นต้น นอกจากนี้ แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยการเปลี่ยนถ่ายพลาสมา (Plasma Exchange) แต่เป็นกรณีที่พบได้น้อย

ภาวะแทรกซ้อนของ Serum Sickness

ผู้ที่มีเคยอาการ Serum Sickness มาก่อน หากกลับมาเป็นซ้ำจะมีอาการที่รุนแรงขึ้น ทั้งนี้ อาการแพ้เซรุ่มซิกเนสอาจก่อให้เกิดอาการแทรกซ้อนต่างๆ เช่น

  • หลอดเลือดอักเสบ 
  • ความผิดปกติของระบบประสาท
  • อาการไตอักเสบ ไตวาย 
  • อาการบวมบริเวณหน้า แขน และขา
  • ปฏิกิริยาแพ้ชนิดรุนแรง (Anaphylaxis)

การป้องกัน Serum Sickness

อาการ Serum Sickness อาจไม่สามารถป้องกันได้ตั้งแต่การใช้ยาในครั้งแรก กรณีที่เคยมีอาการแพ้เซรุ่มซิกเนสหรืออาการแพ้ยาอื่น ๆ ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อนการรักษาทุกครั้ง หากผู้ป่วยมีบัตรแพ้ยาควรพกติดตัวไว้เสมอ เพื่อให้สามารถรับความช่วยเหลือได้อย่างปลอดภัยเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน