Rabeprazole (ราบีพราโซล)

Rabeprazole (ราบีพราโซล)

Rabeprazole (ราบีพราโซล) เป็นยาลดกรดหรือยากลุ่มโปรตอนปั๊มอินฮิบิเตอร์ ออกฤทธิ์ช่วยลดกรดที่สร้างจากกระเพาะอาหาร ซึ่งจะช่วยลดอาการแสบร้อนกลางอก นำมาใช้รักษาภาวะกรดไหลย้อน กลุ่มอาการโซลลิงเจอร์–เอลลิสัน (Zollinger-Ellison Syndrome) แผลในกระเพาะอาหาร การติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร นอกจากนี้ ยังช่วยฟื้นฟูความเสียหายของกระเพาะอาหารและหลอดอาหารจากการมีกรดเกิน และอาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ด้วย

1580 Rabeprazole Resized

ยา Rabeprazole มีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ

เกี่ยวกับยา Rabeprazole

กลุ่มยา ยาลดกรด
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ รักษากรดไหลย้อน กลุ่มอาการโซลลิงเจอร์–เอลลิสัน โรคกระเพาะอาหาร การติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร
กลุ่มผู้ป่วย เด็ก ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน

คำเตือนในการใช้ยา Rabeprazole

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ หากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ และแพ้ยาชนิดอื่น อาหาร หรือสารใด ๆ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ หากมีประวัติป่วยเป็นโรคตับ โรคกระดูกพรุน โรคลูปัสหรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง และภาวะแมกนีเซียมในเลือดต่ำ
  • การใช้ยา Rabeprazole มีความเสี่ยงที่ทำให้ไตผิดปกติ เกิดการติดเชื้อในลำไส้ หรือเกิดโรคลูปัส
  • การใช้ยา Rabeprazole อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการแตกหักของกระดูกสะโพก ข้อมือ หรือกระดูกสันหลัง โดยมักเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่ใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือใช้ยามากกว่าวันละ 1 ครั้ง รวมไปถึงผู้ป่วยที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป แต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่ายานี้เป็นสาเหตุที่แท้จริงของความเสี่ยงดังกล่าว
  • ระหว่างที่ใช้ยา ให้หลีกเลี่ยงยาแก้ท้องเสียหากแพทย์ไม่ได้สั่ง และยานี้อาจทำให้เกิดอาการท้องเสียซึ่งเป็นอาการของภาวะติดเชื้อ ดังนั้น หากมีอาการท้องเสียเป็นน้ำหรือมีเลือดปนให้ไปพบแพทย์ทันที
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์ วางแผนมีบุตร และให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและข้อเสียของยาก่อนใช้ยานี้

ปริมาณการใช้ยา Rabeprazole

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

โรคกรดไหลย้อน  

เด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป รับประทานยาปริมาณ 20 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ในตอนเช้า เป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์
ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 20 มิลลิกรัม เป็นระยะเวลา 4-8 สัปดาห์ ส่วนปริมาณยาสำหรับควบคุมอาการ ให้รับประทานยา 10 หรือ 20 มิลลิกรัม/วัน โดยรับประทานในตอนเช้าวันละ 1 ครั้ง
ผู้สูงอายุ รับประทานยาปริมาณเดียวกันกับผู้ใหญ่ โดยไม่จำเป็นต้องปรับปริมาณยา

แผลในกระเพาะอาหาร

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 20 มิลลิกรัม ในตอนเช้าวันละ 1 ครั้ง เป็นระยะเวลา 4-8 สัปดาห์หากเป็นแผลในลำไส้เล็กส่วนต้น หรือรับประทานยาเป็นเวลา 6-12 สัปดาห์หากเป็นแผลที่กระเพาะอาหาร
ผู้สูงอายุ รับประทานยาปริมาณเดียวกันกับผู้ใหญ่ โดยไม่จำเป็นต้องปรับปริมาณยา

รักษาการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร หรือ เอชไพโล ( H.pylori)

ผู้ใหญ่

  • รับประทานยาปริมาณ 20 มิลลิกรัมร่วมกับยาคลาริโธรมัยซินปริมาณ 500 มิลลิกรัมและยาอะม็อกซีซิลลินปริมาณ 1 กรัม วันละ 2 ครั้ง
  • รับประทานยาปริมาณ 20 มิลลิกรัมร่วมกับยาคลาริโธรมัยซินปริมาณ 250 มิลลิกรัมและยาเมโทรนิดาโซลปริมาณ 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง

ผู้สูงอายุ รับประทานปริมาณเดียวกันกับผู้ใหญ่ โดยไม่จำเป็นต้องปรับปริมาณยา

กลุ่มอาการโซลลิงเจอร์–เอลลิสัน (Zollinger-Ellison Syndrome)

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณเริ่มต้น 60 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ในตอนเช้า และหากจำเป็นให้ปรับปริมาณยาสูงสุดได้ไม่เกิน 120 มิลลิกรัม/วัน โดยหากปริมาณยามากกว่า 100 มิลลิกรัม ให้แบ่งรับประทาน 2 ครั้ง
ผู้สูงอายุ รับประทานปริมาณเดียวกันกับผู้ใหญ่ โดยไม่จำเป็นต้องปรับปริมาณยา

การใช้ยา Rabeprazole

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ใช้ยาในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
  • ห้ามใช้ยา Rabeprazole ในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี โดยไม่ปรึกษาแพทย์
  • ให้รับประทานยา Rabeprazole พร้อมกับน้ำเปล่า 1 แก้ว
  • หากใช้ยาเพื่อรักษาแผลในลำไส้เล็กส่วนต้น ให้รับประทานยาหลังอาหาร หากใช้เพื่อป้องกันการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร ให้รับประทานยาพร้อมอาหาร และกรณีที่ใช้รักษาภาวะอื่น ๆ อาจรับประทานพร้อมอาหารหรือไม่พร้อมก็ได้
  • ห้ามบด หัก หรือเคี้ยวยา แต่ให้รับประทานโดยกลืนยาทั้งเม็ด
  • ห้ามปรับเปลี่ยนปริมาณยาโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ และใช้ยา Rabeprazole ให้ครบตามจำนวนที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดแม้อาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม
  • แจ้งให้แพทย์หรือผู้ตรวจทางห้องปฏิบัติการทราบว่ากำลังใช้ยานี้ เพราะยาอาจส่งผลให้การตรวจบางชนิดคลาดเคลื่อน
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง
  • กรณีที่ใช้ยานี้ติดต่อกันนานกว่า 3 ปี อาจทำให้ผู้ป่วยมีภาวะขาดวิตามินบี 12 ซึ่งผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการป้องกันการเกิดภาวะดังกล่าว
  • หากลืมรับประทานยา ให้รับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากใกล้กับเวลาที่ต้องใช้ยาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปใช้ยารอบต่อไป และห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
  • เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความร้อนและความชื้น
  • หากสงสัยว่าตนใช้ยาเกินกว่าปริมาณที่กำหนด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Rabeprazole

การใช้ยา Rabeprazole อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง ได้แก่ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก ท้องเสีย และปวดท้อง เป็นต้น หากอาการดังกล่าวไม่หายไปหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์

หากพบผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้ยา Rabeprazole ดังต่อไปนี้ ควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันที

  • ปวดท้องรุนแรง ท้องเสียเป็นน้ำหรือปนเลือด
  • เจ็บหรือมีความผิดปกติอย่างกะทันหันในการเคลื่อนไหวสะโพก ข้อมือ และหลัง
  • ไตผิดปกติ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการ เช่น ปัสสาวะน้อยกว่าปกติ ปัสสาวะปนเลือด ตัวบวม และน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นต้น
  • โรคลูปัสหรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการ เช่น ปวดข้อ มีผื่นขึ้นที่แก้มหรือแขน เป็นต้น
  • วิตามินบีต่ำ ซึ่งอาจมีอาการบางอย่าง เช่น ผิวซีด เหนื่อย กล้ามเนื้ออ่อนแรง หัวใจเต้นผิดจังหวะ รู้สึกหวิว หรือหายใจไม่อิ่ม เป็นต้น
  • ภาวะแมกนีเซียมในเลือดต่ำ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการ เช่น เวียนศีรษะ หัวใจเต้นผิดปกติ กระสับกระส่าย เจ็บกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อที่มือและเท้ากระตุก รู้สึกอึดอัด เสียงแหบ และชัก เป็นต้น

นอกจากนี้ หากผู้ป่วยพบอาการผิดปกติใด ๆ เพิ่มเติม ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเช่นกัน