Probiotics จุลินทรีย์ชั้นดี ลดโรค ลดการใช้ยาปฏิชีวนะ

หลายคนเชื่อว่า Probiotics (โพรไบโอติก) มีคุณสมบัติป้องกันและรักษาโรคหลายชนิด ดังนั้น การบริโภค Probiotics หรือจุลินทรีย์สายพันธุ์ดีต่าง ๆ อย่างแบคทีเรียแล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรี ในรูปแบบอาหารหรืออาหารเสริม อาจช่วยปรับสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ เสริมสร้างการทำงานของร่างกาย และรักษาสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรง ซึ่งอาจช่วยลดการใช้ปฏิชีวนะและลดปัญหาการเกิดเชื้อดื้อยาได้ด้วย

Probiotics rs

ความสำคัญของ Probiotics

โดยปกติร่างกายคนเรา โดยเฉพาะบริเวณภายในลำไส้ จะมีเชื้อจุลินทรีย์อย่างแบคทีเรียหรือยีสต์อาศัยอยู่ โดยมีทั้งกลุ่มที่เป็นประโยชน์และกลุ่มที่ส่งผลเสียต่อร่างกาย ซึ่งการกินยาปฏิชีวนะหรือการเผชิญความเครียด อาจทำให้เชื้อจุลินทรีย์สายพันธุ์ดีมีจำนวนลดลง และการสูญเสียสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย จนอาจก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา

Probiotics คือ เชื้อจุลินทรีย์มีชีวิตกลุ่มที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ดังนั้น การกิน Probiotics อย่างแบคทีเรียแล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรี (Lactobacillus Reuteri) ที่มีในอาหารหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จึงอาจช่วยเพิ่มจำนวนจุลินทรีย์สายพันธุ์ที่เป็นประโยชน์ และปรับสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ ซึ่งส่งผลดีต่อร่างกายหลายด้าน ทั้งระบบย่อยอาหาร ระบบภูมิคุ้มกัน และอาจช่วยป้องกันโรคหรือความผิดปกติต่าง ๆ รวมทั้งคาดว่าการบริโภค Probiotics เพื่อเพิ่มจำนวนจุลินทรีย์สายพันธุ์ดีอาจเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ที่อยากลดการใช้ยาปฏิชีวนะด้วย

ชนิดของ Probiotics

Probiotics นั้นมีหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดล้วนมีคุณสมบัติแตกต่างกันไป ทั้งนี้ Probiotics ที่นิยมใช้เป็นส่วนผสมของอาหารและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร มีดังนี้

  • แล็กโทบาซิลลัส (Lactobacillus) เป็นแบคทีเรียกลุ่มที่คนทั่วไปคุ้นหูกันดี มักพบในโยเกิร์ต ของดอง และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางยี่ห้อ ซึ่งแบ่งออกเป็นหลายสายพันธุ์ ส่วนใหญ่มีคุณสมบัติช่วยบรรเทาอาการท้องเสียและภาวะย่อยน้ำตาลแล็กโทสบกพร่อง
  • บิฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) เป็นแบคทีเรียที่มักพบในผลิตภัณฑ์นมอย่างโยเกิร์ตหรือชีส อาจมีคุณสมบัติช่วยบรรเทาภาวะลำไส้แปรปรวน และความผิดปกติอื่น ๆ
  • แซกคาโรไมซีส เบาลาร์ดดิ (Saccharomyces Boulardii ) จัดเป็นจุลินทรีย์จำพวกยีสต์ชนิดหนึ่ง อาจมีคุณสมบัติช่วยบรรเทาอาการท้องเสียและปัญหาในระบบย่อยอาหารอื่น ๆ

Probiotics ชั้นดีที่ช่วยในการดูแลสุขภาพ

ในบทความนี้จะกล่าวถึงคุณประโยชน์ของแล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรี (Lactobacillus Reuteri) ซึ่งเป็น Probiotics มีประโยชน์ชนิดหนึ่งเป็นหลัก เพราะในปัจจุบันมีงานวิจัยที่ศึกษาถึงประสิทธิภาพของแบคทีเรียสายพันธุ์นี้ด้านการรักษาและป้องกันโรคต่าง ๆ มากมาย

แบคทีเรียแล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรี จะอาศัยอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย ทั้งทางเดินอาหาร ทางเดินปัสสาวะ ผิวหนัง หรือแม้กระทั่งในนมแม่ โดยมีงานวิจัยที่พบว่า แบคทีเรียชนิดนี้มีคุณสมบัติช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่เป็นอันตราย ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และยังเสริมสร้างเกราะป้องกันแก่ลำไส้ด้วย

ประโยชน์ของแล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรี

การบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีแบคทีเรียแล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรี เป็นส่วนประกอบในปริมาณที่พอเหมาะนั้นค่อนข้างปลอดภัยต่อคนทุกเพศทุกวัย ทั้งทารก เด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ โดยแบคทีเรียสายพันธุ์นี้อาจมีคุณสมบัติช่วยรักษาและป้องกันโรคหรือความผิดปกติบางชนิดได้ ดังนี้

อาการท้องเสีย

อาการท้องเสียเป็นภาวะที่ผู้ป่วยถ่ายอุจจาระเหลวและอาจมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย อย่างปวดท้อง คลื่นไส้ หรือมีไข้ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือปรสิต การกินยาปฏิชีวนะ การเจ็บป่วยด้วยภาวะย่อยน้ำตาลแล็กโทสบกพร่อง เป็นต้น

Probiotics ส่วนใหญ่ รวมทั้งแล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรี มีคุณสมบัติโดดเด่นในเรื่องการช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย โดยมีงานวิจัยหนึ่งได้ศึกษาคุณสมบัติในการรักษาอาการท้องเสียชนิดฉับพลันของแบคทีเรียสายพันธุ์นี้ โดยแบ่งเด็กอายุ 6 เดือนไปจนถึง 3 ปี จำนวน 40 ราย ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่กินแล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรี กับกลุ่มที่กินยาหลอก โดยเด็กเหล่านี้เป็นผู้ที่มีอาการท้องเสียชนิดเฉียบพลัน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโรต้า ผลปรากฏว่าเด็กในกลุ่มที่กินแล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรี ส่วนใหญ่มีอาการถ่ายเหลวเป็นน้ำอยู่เพียง 1.7 วัน และเหลือเด็กอยู่เพียง 26 เปอร์เซ็นต์ที่ยังถ่ายอุจจาระเหลวเมื่อเข้าสู่การทดลองวันที่ 2 ส่วนเด็กในกลุ่มที่กินยาหลอก ส่วนใหญ่มีอาการถ่ายเหลวเป็นน้ำอยู่นาน 2.9 วัน และเหลือเด็กอยู่ถึง 81 เปอร์เซ็นต์ที่ยังมีอุจจาระเหลวเมื่อเข้าสู่การทดลองวันที่ 2

นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งงานวิจัยที่ศึกษาประสิทธิภาพของแล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรี ในการป้องกันอาการท้องเสียจากการใช้ยาปฏิชีวนะ โดยแบ่งผู้ที่กำลังใช้ยาปฏิชีวนะจำนวน 23 ราย ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่กินแล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรี วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกัน 4 สัปดาห์ กับกลุ่มที่กินยาหลอก ผลการศึกษาพบว่าอาสาสมัครกลุ่มแรกเกิดอาการท้องเสียน้อยครั้งกว่าอาสาสมัครกลุ่มที่ 2

ในปัจจุบันยังมีงานวิจัยอีกหลายชิ้นที่ศึกษาถึงประสิทธิภาพของแล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรี ด้านการป้องกันและรักษาอาการท้องเสีย อย่างไรก็ตาม ควรมีงานวิจัยสนับสนุนเพิ่มเติมเพื่อยืนยันประสิทธิภาพในด้านนี้ให้แน่ชัดต่อไป และผู้ที่มีอาการท้องเสียควรศึกษาข้อมูลการบริโภคอาหารชนิดต่าง ๆ ให้ดี รวมทั้งปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทานอาหารหรืออาหารเสริมใด ๆ เพื่อหวังผลทางการรักษา

ภาวะลำไส้แปรปรวน

ลำไส้แปรปรวนจัดเป็นความผิดปกติของลำไส้ที่เกิดขึ้นเรื้อรังและจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยลำไส้ที่ทำงานผิดปกติจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องเสีย หรือท้องผูก ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะ ภาวะลำไส้ทำงานผิดปกติ การติดเชื้อ เป็นต้น

ทั้งนี้ มีงานค้นคว้าหนึ่งศึกษาในเด็กที่มีอายุ 4-18 ปี ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยภาวะปวดท้องไม่ทราบสาเหตุ (FAP) หรือภาวะลำไส้แปรปรวน (IBS) โดยแบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม แล้วทดลองให้กลุ่มแรกกินแล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรี กับอีกกลุ่มกินยาหลอกเป็นเวลา 12 สัปดาห์ พบว่ากลุ่มเด็กที่กินแล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรี มีจำนวนวันที่มีอาการปวดท้องน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้กิน

แม้มีการศึกษาว่าแล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรีอาจช่วยรักษาอาการของภาวะลำไส้แปรปรวนได้ แต่เพื่อยืนยันประสิทธิภาพที่ชัดเจนของแล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรี ต่อการรักษาภาวะลำไส้แปรปรวน ควรมีการค้นคว้าในด้านนี้ต่อไปโดยศึกษาในกลุ่มทดลองขนาดใหญ่และควบคุมปัจจัยที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสม ซึ่งจนกว่าจะมีผลลัพธ์ที่แน่ชัด ผู้ป่วยภาวะลำไส้แปรปรวนหรือผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับลำไส้ควรดูแลสุขภาพ รับการรักษาจากแพทย์ และอาจปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการบริโภคอาหารหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีประโยชน์และมีคุณภาพ แต่ผู้ป่วยต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดเสมอ เพื่อประสิทธิผลสูงสุดทางการรักษา

อาการท้องผูก

ท้องผูกเป็นภาวะที่ถ่ายอุจจาระได้น้อยครั้งกว่าปกติหรือถ่ายอุจจาระไม่ออก โดยอุจจาระมักมีลักษณะเป็นเพียงเม็ดเล็ก ๆ แห้งและแข็ง จึงต้องใช้แรงเบ่งมาก และอาจรู้สึกเจ็บเมื่อเบ่งเพื่อขับถ่าย ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ฮอร์โมนไม่สมดุล การใช้ยาบางชนิด การอุดตันภายในลำไส้ เป็นต้น

มีงานวิจัยหนึ่งได้ทำการศึกษาคุณสมบัติของแล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรีในการรักษาอาการท้องผูก โดยแบ่งอาสาสมัครทั้งชายและหญิงที่มีอาการท้องผูกที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากโรคอื่น ๆ จำนวน 40 คน ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่กินแล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรีติดต่อกัน 4 สัปดาห์ กับกลุ่มที่กินยาหลอก จากกการศึกษาพบว่ากลุ่มที่กินแล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรี มีจำนวนครั้งของการขับถ่ายเพิ่มขึ้น และเมื่อสิ้นสุดการศึกษาพบว่ามีจำนวนครั้งของการขับถ่าย 5.28 ครั้งต่อสัปดาห์ เทียบกับกลุ่มที่กินยาหลอกซึ่งมีการขับถ่าย 3.89 ครั้งต่อสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีงานวิจัยสนับสนุนเพิ่มเติมในอนาคตต่อไป เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของแล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรีในด้านนี้ให้แน่ชัดยิ่งขึ้น

อาการโคลิค

โคลิค คือ ภาวะที่ทารกร้องไห้อย่างหนักโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด มักเกิดอาการในช่วงเวลากลางคืน และกล่อมให้เด็กหยุดร้องได้ยาก ซึ่งเป็นอาการทั่วไปที่เกิดขึ้นกับทารกได้ และจะค่อย ๆ ลดน้อยลงตามอายุเด็กที่เพิ่มมากขึ้น โดยส่วนใหญ่อาการนี้จะหายไปเมื่อทารกมีอายุ 3-4 เดือน แม้ในทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการโคลิค แต่คาดว่าอาจเป็นผลมาจากหลายปัจจัย เช่น การหดเกร็งของกล้ามเนื้อในระบบทางเดินอาหาร อาการท้องอืด หรืออาการปวดท้องจากฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง เป็นต้น

หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า แล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรี อาจมีคุณสมบัติป้องกันและรักษาภาวะโคลิคในทารกด้วย โดยมีการศึกษาผลการรักษาภาวะโคลิคด้วยโพรไบโอติกแล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรี ซึ่งศึกษาเปรียบเทียบกับการให้ยาลดอาการท้องอืด Simethicone ด้วยการแบ่งทารกที่มีภาวะโคลิคออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่กินแล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรี ชนิดหยดวันละ 5 หยด 41 คน และกลุ่มที่กินยา Simethicone 42 คน เป็นเวลา 28 วัน ผลการศึกษาพบว่า ทารกกลุ่มที่กินแล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรี มีระยะเวลาในการร้องไห้ลดลง ต่างจากกลุ่มที่กินยา Simethicone โดยเห็นผลความแตกต่างภายใน 1 สัปดาห์ และเมื่อพิจารณาผลลัพธ์ทางการรักษาก็พบว่า การกินแล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรี มีประสิทธิผลทางการรักษาสูงถึง 95 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่การรักษาด้วยยา Simethicone ให้ผลทางการรักษาเพียง 7 เปอร์เซ็นต์ โดยประสิทธิผลทางการรักษาวัดจากการลดลงของระยะเวลาในการร้องไห้ที่กลุ่มทดลองที่ได้รับโพรไบโอติกแล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรี มีระยะเวลาในการร้องไห้ลดลงมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับก่อนการรักษา

อย่างไรก็ตาม ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมในกลุ่มทดลองขนาดใหญ่และควบคุมปัจจัยที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสม เพื่อยืนยันประสิทธิผลในด้านนี้ต่อไป และการดูแลเด็กอ่อนหรือเด็กเล็กนั้นเป็นเรื่องสำคัญ หากพ่อแม่มีปัญหากับการรับมืออาการโคลิคของลูกน้อย ควรศึกษาข้อมูลการดูแลลูกเมื่อเผชิญอาการนี้ให้ดี หรือปรึกษาแพทย์เพื่อรับฟังแนวทางการดูแลเด็กอย่างเหมาะสม

โรคหอบหืด

โรคหืดหรือหอบหืดเกิดจากหลอดลมไวต่อสารก่อภูมิแพ้ในสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้กล้ามเนื้อหลอดลมหดเกร็งและเยื่อบุหลอดลมอักเสบ ผู้ป่วยมักมีอาการหายใจลำบาก เนื่องจากเยื่อบุหลอดลมที่อักเสบจะบวมขึ้น ทำให้ทางเดินหายใจตีบแคบลง อีกทั้งอาจมีเสมหะในร่างกายหลั่งออกมาคั่งค้างอยู่ในหลอดลมด้วย

มีงานวิจัยหนึ่งพบว่าแล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรีอาจช่วยบรรเทาอาการของโรคหอบหืดได้ โดยมีการทดลองแบ่งเด็กที่เป็นโรคหอบหืดและมีอายุระหว่าง 6-14 ปี จำนวน 50 คน ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับแล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรีชนิดน้ำจำนวน 5 หยด/วัน ติดต่อกัน 60 วัน กับกลุ่มที่ไม่ได้รับแล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรี แล้วทำการวัดค่าไนตริกออกไซด์ (Nitric Oxide) ในลมหายใจขณะหายใจออก หากค่านี้มีปริมาณมากแสดงว่ามีการอักเสบในหลอดลมสูง ผลปรากฏว่าเด็กกลุ่มที่ได้รับแล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรีมีปริมาณไนตริกออกไซด์ลดลงจากเดิม ซึ่งอาจแสดงได้ว่าการอักเสบของทางเดินหายใจมีแนวโน้มลดลงด้วย

นอกจากนี้ แบคทีเรียสายพันธุ์นี้อาจมีคุณสมบัติในการรักษาโรคหรือความผิดปกติอื่น ๆ ที่เกิดจากสารก่อภูมิแพ้อย่างผื่นผิวหนังอักเสบด้วย แต่งานวิจัยที่ศึกษาในด้านนี้ยังมีอยู่ค่อนข้างจำกัด จึงควรมีการทดลองเพื่อหาผลลัพธ์ชัดเจนในด้านนี้ต่อไป

ส่วนผู้ป่วยหอบหืด โดยทั่วไปสามารถรับประทานหรือนำอาหารเสริมจากแล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรีมาใช้ควบคู่กับยารักษาหอบหืดได้ แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนตัดสินใจบริโภคอาหารเสริมชนิดนี้ด้วย และไม่ควรใช้แล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรีเพื่อหวังผลทางการรักษาในรูปแบบยาหลักเพียงอย่างเดียว เพราะไม่สามารถใช้แล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรีทดแทนยาหอบหืดที่ออกฤทธิ์รักษาอาการโดยตรงได้

หลักการบริโภค Probiotics อย่างปลอดภัย

โดยปกติ Probiotics ในอาหารและอาหารเสริมที่ผ่านการรับรองมาตรฐานนั้นค่อนข้างปลอดภัยต่อร่างกาย แต่ผู้บริโภคบางรายอาจเผชิญกับผลข้างเคียงเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้เช่นกัน โดยเฉพาะช่วง 2-3 วันแรกที่เริ่มกิน Probiotics เช่น รู้สึกไม่สบายท้อง ท้องเสีย ท้องอืด เป็นต้น

ในปัจจุบัน Probiotics ในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นมีวางจำหน่ายตามท้องตลาดหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบเม็ดสำหรับผู้ใหญ่ แบบน้ำสำหรับเด็ก รวมถึงนมผงชนิดที่มี Probiostics เป็นส่วนผสม

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่โพรไบโอติกทุกสายพันธุ์ที่จะมีความปลอดภัยหรือให้ผลทางการรักษาและป้องกันโรคได้ ดังนั้น ผู้บริโภคควรพิจารณาข้อมูลทางโภชนาการและความปลอดภัยให้ดี เลือกบริโภคอาหารหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีคุณภาพและมาตรฐานรับรอง รวมทั้งเลือก Probiotics สายพันธุ์ที่มีการศึกษายืนยันประสิทธิภาพและความปลอดภัยเฉพาะสำหรับโรคหรือกลุ่มผู้ป่วยนั้น ๆ แล้ว และควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรให้ดีก่อนบริโภคผลิตภัณฑ์ใด ๆ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาสุขภาพหรือมีโรคประจำตัว เพื่อการคงไว้ซึ่งสุขภาพที่ดีของตัวผู้บริโภคเอง