เนื้องอกต่อมหมวกไตชนิดฟีโอโครโมไซโตมา (Pheochromocytoma)

ความหมาย เนื้องอกต่อมหมวกไตชนิดฟีโอโครโมไซโตมา (Pheochromocytoma)

Pheochromocytoma คือ เนื้องอกต่อมหมวกไตชนิดฟีโอโครโมไซโตมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเนื้องอกชนิดธรรมดาที่ไม่ใช่เนื้อร้ายหรือเซลล์มะเร็ง มักเกิดบริเวณต่อมหมวกไตข้างเดียว แต่อาจเป็นทั้งสองข้างก็ได้ โดยเนื้องอกนี้จะปล่อยฮอร์โมนบางชนิดออกมา ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีภาวะความดันโลหิตสูงเป็นบางช่วงหรือสูงตลอดเวลา และอาจส่งผลเสียต่อหัวใจและหลอดเลือด สมอง ไต หรือปอดได้ โดยทั่วไปผู้ป่วยมักหายเป็นปกติหลังเข้ารับการผ่าตัดเอาเนื้องอกออกไป

Pheochromocytoma

อาการของเนื้องอกต่อมหมวกไตชนิดฟีโอโครโมไซโตมา

ผู้ป่วย Pheochromocytoma อาจมีภาวะความดันโลหิตสูงเป็นบางช่วงหรือสูงตลอดเวลา และอาจมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย ดังนี้

  • เวียนศีรษะ หรือปวดศีรษะรุนแรง ซึ่งมักเกิดในช่วงที่มีความดันโลหิตสูง
  • มือสั่น ตัวสั่น
  • มีเหงื่อออกมาก
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • หายใจเร็ว หรือหายใจลำบาก
  • ตัวซีด หน้าซีด
  • คลื่นไส้
  • ปวดท้อง หรือปวดบริเวณสีข้างและหลัง
  • วิตกกังวล กระสับกระส่าย
  • ท้องผูก
  • น้ำหนักลด

ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการผิดปกติอย่างฉับพลันวันละหลายครั้งหรือเป็นไม่บ่อยในแต่ละเดือน ซึ่งจะมีอาการบ่อยและรุนแรงมากขึ้นเมื่อเนื้องอกโตขึ้น โดยผู้ป่วยต้องไปพบแพทย์ทันทีหากพบว่าตนเองมีอาการผิดปกติดังข้างต้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางส่วนอาจตรวจพบ Pheochromocytoma โดยบังเอิญ และยังไม่มีอาการใด ๆ ปรากฏ เช่น ตรวจพบจากการตรวจช่องท้องด้วยอัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเอมอาร์ไอสแกน เพื่อวินิจฉัยโรคอื่น ๆ ในช่องท้องอย่างโรคตับหรือโรคไต เป็นต้น

สาเหตุของเนื้องอกต่อมหมวกไตชนิดฟีโอโครโมไซโตมา

Pheochromocytoma ไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด แต่พบว่าประมาณ 25-30 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยมีความผิดปกติทางพันธุกรรมที่มักเกิดร่วมกับการมีเนื้องอกชนิดต่าง ๆ ในระบบประสาท หรืออาจเกี่ยวข้องกับภาวะออกซิเจนในเลือดน้อย ซึ่งเป็นผลจากภาวะความดันโลหิตสูงหรือโรคหัวใจแต่กำเนิด

เนื้องอกชนิดนี้มักเป็นในวัยผู้ใหญ่ตอนต้นจนถึงวัยผู้ใหญ่ตอนกลาง ซึ่งมักเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่เป็นโรคความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น เนื้องอกต่อมไร้ท่อซึ่งอาจเป็นเนื้องอกบริเวณต่อมไทรอยด์ ต่อมพาราไทรอยด์ ปาก ลิ้น หรืออวัยวะในระบบทางเดินอาหาร เนื้องอกในระบบประสาท โรคท้าวแสนปมซึ่งอาจเป็นเนื้องอกบริเวณผิวหนังหรือประสาทตา หรือเนื้องอกทั่วร่างกายซึ่งอาจเป็นเนื้องอกบริเวณต่อมไร้ท่อ ระบบประสาทส่วนกลาง ตับอ่อน หรือไต เป็นต้น

นอกจากนี้ ปัจจัยบางอย่างก็อาจกระตุ้นให้เกิดอาการเจ็บป่วยจากโรคนี้ได้ เช่น

  • ภาวะวิตกกังวล หรือเครียด
  • การเปลี่ยนท่วงท่าของร่างกาย การใช้แรง และการออกกำลังกาย
  • การรับประทานอาหารที่มีสารไทรามีนปริมาณสูง เช่น เบียร์ ไวน์ ช็อกโกแลต ชีส ปลาแห้ง เป็นต้น
  • การใช้ยาบางชนิด อย่างยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ ยาเคมีบำบัด และยาต้านเศร้ากลุ่มเอ็มเอโอไอ เช่น ฟีเนลซีน ทรานิลซัยโปรมีน หรือไอโซคาร์บอกซาซิด เป็นต้น
  • การใช้สารเสพติด เช่น ยาบ้า หรือโคเคน เป็นต้น
  • การคลอด การผ่าตัด และการถูกวางยาสลบ

การวินิจฉัยเนื้องอกต่อมหมวกไตชนิดฟีโอโครโมไซโตมา

แพทย์อาจวินิจฉัยผู้ป่วย Pheochromocytoma จากการซักประวัติ การตรวจร่างกาย และการตรวจสัญญาณชีพร่วมกับการตรวจเพิ่มเติมอื่น ๆ ดังนี้

  • ตรวจเลือด เพื่อดูค่าการทำงานของตับและไต ปริมาณน้ำตาลในเลือด ค่าฮอร์โมนต่อมหมวกไตหรือฮอร์โมนกลุ่มแคททีโคลามีน เช่น อะดรีนาลีน นอร์อะดรีนาลีน และเมทาเนฟริน เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยอาจต้องงดอาหารและยาบางชนิดก่อนเข้ารับการตรวจเลือด
  • ตรวจปัสสาวะ เพื่อตรวจระดับฮอร์โมนของต่อมหมวกไต เช่น อะดรีนาลีน นอร์อะดรีนาลีน และเมทาเนฟริน เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยจะต้องเก็บตัวอย่างปัสสาวะตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดตลอดระยะเวลา 24 ชั่วโมง
  • ตรวจทางภาพถ่าย เพื่อดูตำแหน่งและรูปร่างของเนื้องอกหากพบว่ามีระดับของฮอร์โมนต่อมหมวกไตมากผิดปกติ ได้แก่ การตรวจซีทีสแกน เอ็มอาร์ไอสแกน และเพทซีทีสแกน รวมถึงอาจตรวจภาพต่อมหมวกไตทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ด้วยการฉีดสารกัมมันตรังสีที่ใช้ตรวจเฉพาะโรคนี้ด้วย
  • ตรวจสารพันธุกรรม เพื่อหาความบกพร่องทางพันธุกรรมที่อาจส่งผลให้ผู้ป่วยและคนในครอบครัวเผชิญกับความผิดปกติต่าง ๆ รวมถึงการเกิดเนื้องอกชนิดนี้
  • ตรวจชิ้นเนื้อต่อมหมวกไตหลังการผ่าตัด เป็นการตรวจวินิจฉัยที่ได้ผลแน่นอนแต่ต้องทำหลังการผ่าตัด โดยแพทย์จะไม่ตัดชิ้นเนื้อตรวจรอยโรคของต่อมหมวกไตก่อนการผ่าตัด เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงได้มาก เช่น มีเลือดออกมากและหยุดไหลยาก หรือมีฮอร์โมนจากก้อนเนื้อถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายในปริมาณสูงอย่างรวดเร็วจนอาจก่ออาการป่วยที่รุนแรงได้ เป็นต้น

การรักษาเนื้องอกต่อมหมวกไตชนิดฟีโอโครโมไซโตมา

Pheochromocytoma มักต้องรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดร่วมกับวิธีอื่น ๆ ซึ่งแบ่งตามช่วงของการรักษา ดังนี้

ก่อนการผ่าตัด แพทย์มักให้ผู้ป่วยรับประทานยาลดความดันโลหิตก่อนเข้ารับการผ่าตัดประมาณ 7-10 วัน ซึ่งผู้ป่วยมักต้องรับประทานยา 2 ชนิดร่วมกัน ดังนี้

  • ยากลุ่มแอลฟา-บล็อกเกอร์ เช่น ด็อกซาโซซิน พราโซซิน หรือฟีน็อกซีเบนซามีน เป็นต้น ซึ่งยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดคลายตัวจึงทำให้เลือดไหลเวียนสะดวก โดยผู้ป่วยควรระวังอาการข้างเคียง เช่น อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ หัวใจเต้นผิดจังหวะ มองเห็นผิดปกติ แขนและขาบวม หรือเสื่อมสมรรถภาพทางเพศในผู้ชาย เป็นต้น
  • ยากลุ่มเบต้า-บล็อกเกอร์ เช่น โพรพราโนลอล หรืออะทีโนลอล เป็นต้น ซึ่งยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ลดอัตราการเต้นของหัวใจและทำให้หลอดเลือดคลายตัว แต่มีอาการข้างเคียง เช่น อ่อนเพลีย เวียนศีรษะหรือปวดศีรษะ ท้องไส้ปั่นป่วน ท้องผูกหรือท้องเสีย หัวใจเต้นผิดจังหวะ หายใจลำบาก แขนขาบวม เป็นต้น โดยผู้ป่วยต้องรับประทานยากลุ่มนี้หลังจากที่รับประทานยากลุ่มแอลฟา-บล็อกเกอร์ไปแล้วหลายวัน

นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจต้องรับประทานอาหารที่มีเกลือเป็นส่วนประกอบในปริมาณสูง เพื่อป้องกันภาวะความดันโลหิตต่ำ ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายขณะเข้ารับการผ่าตัดได้

ระหว่างการผ่าตัด แพทย์มักผ่าตัดส่องกล้องเพื่อตัดต่อมหมวกไตข้างที่ผิดปกติทิ้งในกรณีที่ผู้ป่วยมีเนื้องอกต่อมหมวกไตเพียงข้างเดียว แต่หากผู้ป่วยเป็นเนื้องอกต่อมหมวกไตทั้งสองข้างหรือมีต่อมหมวกไตอยู่ข้างเดียว แพทย์จะตัดเฉพาะเนื้อเยื่อที่ผิดปกติทิ้งไป เพื่อให้ต่อมหมวกไตที่เหลืออยู่ทำงานได้ตามปกติ ยกเว้นในกรณีที่เป็นมะเร็ง ซึ่งแพทย์ต้องตัดเนื้อร้ายทิ้งไปทั้งหมด

หลังการผ่าตัด แพทย์อาจให้ยาควบคุมความดันโลหิตอย่างยากลุ่มสเตียรอยด์ เพื่อควบคุมความดันโลหิตที่อาจผิดปกติในช่วงแรกหลังการผ่าตัดต่อมหมวกไต หากผู้ป่วยมีผลตรวจชิ้นเนื้อที่ระบุว่าเป็นมะเร็งก็อาจต้องเข้ารับการรักษาต่อด้วยรังสีบำบัดหรือเคมีบำบัดเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งด้วย รวมทั้งอาจต้องรับยาบางชนิดเพื่อช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตและแพร่กระจายของมะเร็ง

ภาวะแทรกซ้อนของเนื้องอกต่อมหมวกไตชนิดฟีโอโครโมไซโตมา

ผู้ป่วย Pheochromocytoma ที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมอาจเสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูงขั้นวิกฤต หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง ระบบหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน ประสาทตาเสื่อม ไตวาย รวมทั้งอวัยวะภายในร่างกายทำงานล้มเหล

นอกจากนี้ ในระหว่างการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด ผู้ป่วยอาจเสี่ยงต่อภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตต่ำหรือสูงเข้าขั้นวิกฤต และหากผู้ป่วยเป็นมะเร็งก็อาจเกิดการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งไปยังส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะในระบบน้ำเหลือง กระดูก ตับ หรือปอดด้วย

การป้องกันเนื้องอกต่อมหมวกไตชนิดฟีโอโครโมไซโตมา

เนื่องจากไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด จึงยังไม่มีวิธีป้องกัน Pheochromocytoma แต่ผู้ป่วยต้องไปพบแพทย์ทันทีหากพบว่าตนเองมีอาการผิดปกติที่อาจเป็นสัญญาณของโรคนี้ และควรเข้ารับการรักษาจากแพทย์เฉพาะทางที่เชี่ยวชาญในการรักษาเนื้องอกชนิดนี้ เพื่อให้การรักษาผ่านไปได้ด้วยดี