มะเร็งกระดูกออสทีโอซาร์โคมา (Osteosarcoma)

ความหมาย มะเร็งกระดูกออสทีโอซาร์โคมา (Osteosarcoma)

Osteosarcoma หรือ มะเร็งกระดูกออสทีโอซาร์โคมา เป็นมะเร็งที่มักเกิดขึ้นบริเวณกระดูกหน้าแข้ง กระดูกต้นขาบริเวณใกล้กับหัวเข่า หรือกระดูกแขนส่วนบนที่ใกล้กับไหล่ ทำให้เกิดความผิดปกติขึ้นที่กระดูกบริเวณนั้น โดยผู้ป่วยอาจมีอาการปวดหรือบวมแดงที่กระดูกด้วย ปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้ อย่างไรก็ตาม มะเร็งชนิดนี้เป็นโรคที่พบได้น้อยและมักพบในเด็กวัยรุ่นตอนต้นที่มีอายุเฉลี่ยประมาณ 15 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว

อาการของมะเร็งกระดูกออสทีโอซาร์โคมา

ผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีอาการของโรคแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับบริเวณที่เกิดเนื้อร้าย เช่น

  • ปวดที่กระดูก โดยอาจเกิดขึ้นเมื่ออยู่นิ่ง ๆ เมื่อยกสิ่งของ หรือเมื่อเคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งเป็นอาการที่มักเกิดขึ้นในช่วงแรก ๆ
  • เคลื่อนไหวข้อต่อได้ไม่คล่องตัวเหมือนเคย
  • อาจคลำพบก้อนเนื้องอกขนาดใหญ่ผ่านผิวหนัง
  • ปวดแขน หากมีเนื้องอกที่แขน หรือเดินกะเผลก หากมีเนื้องอกที่ขา
  • มีอาการบวม แดง หรือกดเจ็บบริเวณที่มีเนื้องอก
  • กระดูกหัก ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ง่ายจากการเคลื่อนไหวทั่วไปในชีวิตประจำวัน

ทั้งนี้ อาการปวดที่เกิดจากโรคมะเร็งกระดูกชนิดนี้อาจคล้ายกับอาการปวดขาที่เป็นผลมาจากการเจริญเติบโตของกระดูก แต่อาการปวดขาที่เกิดจากการขยายตัวของกระดูกมักหายไปเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นตอนต้น ดังนั้น พ่อแม่ควรเข้าปรึกษาแพทย์เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นหากเด็กมีอาการปวดกระดูกหรือมีอาการบวมอย่างเรื้อรังแม้จะผ่านช่วงเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วมาเเล้ว รวมทั้งมีอาการปวดที่ก่อให้เกิดปัญหาที่รุนแรง เช่น ปวดจนทำให้ตื่นขึ้นมากลางดึก หรือปวดจนทำกิจวัตรประจำวันไม่ได้ เป็นต้น และหากสังเกตเห็นว่ากล้ามเนื้อแขนหรือขาข้างที่ปวดมีขนาดเล็กกว่าอีกข้างหนึ่ง

1887 Osteosarcoma rs

สาเหตุของมะเร็งกระดูกออสทีโอซาร์โคมา

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรค Osteosarcoma ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด แต่คาดว่าอาจมีบางปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงของโรคนี้มากขึ้น เช่น

  • การเจริญเติบโตที่รวดเร็วของกระดูกในช่วงที่เด็กมีพัฒนาการทางร่างกายอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้ได้ โดยเฉพาะเด็กผู้ชาย
  • พันธุกรรม โดยผู้ที่มีบุคคลในครอบเป็นโรคนี้หรือโรคมะเร็งจอตา อาจมีความเสี่ยงมากขึ้น
  • การฉายรังสีจากการรักษาโรคมะเร็งชนิดอื่น ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคมะเร็งกระดูกชนิดนี้หลังจากการฉายรังสี 1-2 ปี หรือหลังจากนั้นหลายปี
  • อายุ โดยโรคนี้อาจพบได้ในกลุ่มคนที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป

การวินิจฉัยมะเร็งกระดูกออสทีโอซาร์โคมา

เบื้องต้นแพทย์จะซักประวัติการเจ็บป่วยรวมถึงประวัติการรักษาในอดีต สอบถามอาการ และตรวจร่างกายของผู้ป่วย เพื่อดูว่ามีอาการผิดปกติของกระดูกแขนและขาหรือไม่ จากนั้นอาจวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยวิธีการตรวจต่อไปนี้

  • การตรวจเลือด เพื่อตรวจระดับความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดและระดับเกลือแร่ในร่างกาย รวมถึงประเมินการทำงานของระบบอวัยวะอื่น ๆ เช่น ตับและไต เป็นต้น
  • การเอกซเรย์ ช่วยตรวจหาความผิดปกติของกระดูกอย่างก้อนเนื้องอกของกระดูก กระดูกหัก หรือลักษณะมะเร็งกินกระดูก ซึ่งหากตรวจพบมะเร็ง แพทย์อาจเอกซเรย์ปอดเพื่อดูว่าเซลล์มะเร็งได้กระจายไปที่ปอดหรือไม่ด้วย
  • การทำ CT Scan เป็นการเอกซเรย์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์แบบสามมิติ เพื่อตรวจดูกระดูกเเละอวัยวะภายในร่างกายโดยละเอียด ซึ่งช่วยในการประเมินความรุนแรงและการลุกลามของมะเร็ง รวมถึงแพทย์อาจดูว่ามีเซลล์มะเร็งกระจายไปสู่ปอดหรือไม่
  • การทำ MRI Scan เป็นการใช้คลื่นวิทยุและแม่เหล็กไฟฟ้าแรงสูงเพื่อสร้างภาพถ่ายโครงสร้างภายในร่างกาย ซึ่งอาจช่วยให้เห็นภาพร่างกายภายในชัดเจนขึ้นหลังตรวจพบความผิดปกติจากการเอกซเรย์
  • การทำ PET Scan เป็นการใช้น้ำตาลกลูโคสแบบพิเศษเพื่อจับเซลล์มะเร็ง โดยหากร่างกายส่วนไหนมีการดูดซึมน้ำตาลไปใช้มากผิดปกติ อาจบ่งชี้ได้ว่าบริเวณนั้นมีเซลล์มะเร็งอยู่
  • การตัดชิ้นเนื้อ เป็นการนำเอาเนื้อเยื่อตัวอย่างจากกระดูกบริเวณที่มีอาการผิดปกติไปตรวจโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ ซึ่งเป็นการตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อยืนยันชนิดมะเร็ง Osteosarcoma
  • การสแกนกระดูก เป็นการตรวจทางภาพถ่ายเพื่อดูความผิดปกติของกระดูกที่เครื่องมือถ่ายภาพชนิดอื่น ๆ ไม่สามารถตรวจหาได้ นอกจากนี้ อาจตรวจดูได้ด้วยว่ามะเร็งกระจายไปยังกระดูกชิ้นอื่น ๆ หรือไม่

การรักษามะเร็งกระดูกออสทีโอซาร์โคมา

โดยทั่วไป การรักษาจะเริ่มหลังจากผ่าตัดเอาชิ้นเนื้อออกไปตรวจและยืนยันผลการตรวจชิ้นเนื้อว่าเป็นมะเร็งชนิด Osteosarcoma แล้ว ซึ่งการรักษาโรคนี้อาจทำได้ดังนี้

การทำเคมีบำบัดหรือการทำคีโม เป็นการกำจัดและทำให้เซลล์มะเร็งหรือเนื้องอกเล็กลงด้วยการใช้ยา ซึ่งมักนำมาใช้ก่อนการผ่าตัดเพื่อช่วยให้ผ่าตัดได้ง่ายขึ้น โดยระยะเวลาในการให้คีโมขึ้นอยู่กับว่าเซลล์มะเร็งได้กระจายออกไปยังส่วนอื่นของร่างกายหรือไม่ หากเซลล์มะเร็งยังไม่ได้กระจายออกไป แพทย์อาจแนะนำให้ทำคีโม 6 เดือนก่อนการผ่าตัด และหลังจากผ่าตัดอาจต้องทำคีโมอีกครั้งเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งเล็ก ๆ ที่อาจยังหลงเหลืออยู่

การผ่าตัด เป็นการนำเอาเนื้องอกและกระดูกที่อยู่บริเวณรอบ ๆ ออกไปแล้วใส่กระดูกเทียมแทนที่ หรืออาจใช้กระดูกจากส่วนอื่น ๆ ของร่างกายเข้าไปทดแทน ซึ่งส่วนใหญ่วิธีนี้จะช่วยรักษาแขนและขาที่เกิดมะเร็งเอาไว้ได้ แต่ในกรณีที่มีเซลล์มะเร็งขนาดใหญ่หรือมีการลุกลามมาก อาจต้องผ่าตัดแขนหรือขาและใส่อุปกรณ์เทียม เช่น ขาเทียม เป็นต้น

การฉายรังสี เป็นวิธีที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งกระดูกบริเวณกระดูกสันหลัง กระดูกสันหลังส่วนกระเบนเหน็บ บริเวณกะโหลกศีรษะ หน้า หรือสะโพก

ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือ CT Scan สแกนกระดูก หรือเอกซเรย์ เพื่อตรวจมะเร็งซ้ำแม้จะได้รับการรักษาเรียบร้อยเเล้วก็ตาม เพราะมะเร็งอาจกลับมาเกิดซ้ำได้อีก

ภาวะแทรกซ้อนของมะเร็งกระดูกออสทีโอซาร์โคมา

โรคมะเร็งกระดูกออสทีโอซาร์โคมาอาจไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการผ่าตัดหรือทำคีโม เพราะเซลล์มะเร็งอาจขยายตัวและแพร่กระจายออกไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายอย่างปอดได้ โดยหากเซลล์มะเร็งกระจายไปที่ปอด มักมีสัญญาณบ่งชี้ เช่น เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก เสียงแหบ หายใจเสียงดังวี้ด ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยอาจต้องตัดแขนขาเพื่อป้องกันการกระจายของเซลล์มะเร็งด้วย

นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่เข้ารับการทำเคมีบำบัดอาจรู้สึกอ่อนเพลีย มีอาการปวด คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง ท้องผูก ท้องร่วง มีอาการติดเชื้อ มีภาวะคั่งน้ำ หรือโลหิตจาง ได้ด้วยเช่นกัน

การป้องกันมะเร็งกระดูกออสทีโอซาร์โคมา

เนื่องจากยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคมะเร็งชนิดนี้ จึงยังไม่มีวิธีป้องกันโรค อย่างไรก็ตาม พ่อแม่สามารถเฝ้าระวังการเกิดโรคได้ โดยหากสังเกตเห็นว่าลูกมีอาการปวดกระดูกหรือบวมที่ผิวหนังบริเวณใดบริเวณหนึ่งอย่างต่อเนื่อง ควรพาเด็กไปรับการตรวจรักษา ส่วนผู้ป่วยโรคมะเร็งชนิดอื่น ๆ ที่เคยเข้ารับการฉายรังสีมาก่อน อาจเข้ารับการตรวจเพื่อดูว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็ง Osteosarcoma หรือไม่