Orgasm จุดสุดยอดทางเพศสัมพันธ์

Orgasm (ออกัสซั่ม) หรือจุดสุดยอด (Climax) คือ ภาวะที่กล้ามเนื้อบริเวณอวัยวะเพศเกิดการบีบตัวในขณะที่หลั่งฮอร์โมนเอ็นดอร์ฟินซึ่งเป็นสารระงับความเจ็บปวดและทำให้เกิดความผ่อนคลายออกมาจากต่อมใต้สมองในขณะที่มีเพศสัมพันธ์ เป็นหนึ่งในการตอบสนองทางร่างกายที่เกิดขึ้นในวัฏจักรการตอบสนองทางเพศ โดยฝ่ายหญิงจะมีอาการช่องคลอดบีบตัว ในขณะที่ฝ่ายชายจะมีการหลั่งอสุจิออกมาด้วย

Orgasm

การศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับ Orgasm และวัฏจักรการตอบสนองทางเพศตามขั้นต่าง ๆ อาจทำให้ทราบถึงความแตกต่างของแต่ละบุคคลที่อาจมีการตอบสนองทางเพศแตกต่างกันไป เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ หรือความพึงพอใจในเพศสัมพันธ์กับคู่ของตนมากยิ่งขึ้น

วัฏจักรการตอบสนองทางเพศ

ในกระบวนการมีเพศสัมพันธ์ มนุษย์เราจะมีการตอบสนองทางเพศทั้งทางร่างกายและอารมณ์ต่อสถานการณ์และสิ่งกระตุ้นเร้าในขณะมีเพศสัมพันธ์ หรือในขณะสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง โดยแต่ละคนอาจใช้เวลาในการตอบสนองแต่ละขั้นตอนแตกต่างกัน เช่น อาจดำเนินกิจกรรมไปตามขั้นจนถึงจุดสุดยอดในเวลาที่แตกต่างกัน

วัฏจักรการตอบสนองทางเพศ แบ่งเป็น 4 ขั้น ดังนี้

ระยะตื่นตัว

ในระยะเริ่มแรกที่มีการตอบสนองทางเพศ อาจใช้เวลาหลายนาทีหรือหลายชั่วโมงแตกต่างกันไป โดยอาการแสดงที่ปรากฏในระยะนี้ คือ

  • กล้ามเนื้อตึงมากขึ้น
  • หัวใจเต้นเร็วขึ้น หายใจถี่ขึ้น
  • เลือดสูบฉีดเร็ว ผิวหนังมีเลือดฝาด ยอดปทุมถันแข็งตัว
  • บริเวณคลิตอริสและแคมเล็กของเพศหญิงแข็งบวม
  • ช่องคลอดของเพศหญิงมีน้ำหล่อลื่นไหลออกมา
  • หน้าอกขยายใหญ่ขึ้น ผนังช่องคลอดขยายบวมออกมากขึ้นในเพศหญิง
  • องคชาตของเพศชายบวมแข็งตัวขึ้น
  • ลูกอัณฑะบวมโตขึ้น ถุงอัณฑะตึง เริ่มหลั่งน้ำหล่อลื่นออกจากองคชาต

ระยะก่อนจุดสุดยอด

ในระยะนี้จะเกิดการตอบสนองทางเพศมากยิ่งขึ้นเพื่อนำไปสู่จุดสุดยอดในระยะต่อไป โดยอาการที่ปรากฏ คืออาการที่เกิดในระยะแรก จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น

  • บริเวณช่องคลอดจะบวมอย่างต่อเนื่องจากเลือดที่สูบฉีดเพิ่มขึ้น และผนังช่องคลอดจะมีสีคล้ำขึ้น หรือเป็นสีม่วง
  • คลิตอริสของเพศหญิงจะไวต่อการสัมผัสมาก และจะหดตัวไปอยู่ใต้หนังหุ้มคลิตอริส เพื่อหลีกเลี่ยงแรงกระตุ้นจากองคชาตเพศชาย
  • ลูกอัณฑะถูกดันกลับขึ้นไปอยู่ในถุงอัณฑะส่วนบนของเพศชาย
  • อัตราการเต้นของหัวใจ การหายใจ และความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น
  • อาจมีอาการกล้ามเนื้อกระตุกหรือชา บริเวณใบหน้า มือ หรือเท้า
  • กล้ามเนื้อส่วนอื่น ๆ มีความตึงมากขึ้น

ระยะ Orgasm (จุดสุดยอด)

ระยะนี้เป็นช่วงที่การตอบสนองทางเพศถึงจุดสูงสุด เป็นระยะที่ใช้เวลาน้อยที่สุดและเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วินาที โดยมีอาการ ดังนี้

  • กล้ามเนื้อหดเกร็งตัวอย่างอัตโนมัติ
  • อัตราการเต้นของหัวใจ การหายใจ และความดันโลหิตเพิ่มขึ้นสูงที่สุด และสูดอากาศเอาออกซิเจนเข้าไปอย่างรวดเร็ว
  • กล้ามเนื้อที่เท้ากระตุกหรือชา
  • ความตึงเครียดจากการมีเพศสัมพันธ์ถูกปลดปล่อยผ่อนคลายลงในทันที
  • อาจมีผื่นแดงหรือตุ่มมีเลือดฝาดปรากฏทั่วร่างกาย (Sex Flush)
  • ในเพศหญิง กล้ามเนื้อบริเวณช่องคลอดเกร็งและบีบตัว มดลูกก็หดเกร็งตัวเป็นจังหวะด้วยเช่นกัน
  • ในเพศชาย กล้ามเนื้อองคชาตจะเกร็งตัวเป็นจังหวะ และหลั่งน้ำอสุจิออกมา

ระยะฟื้นตัว

ในระยะสุดท้ายนี้ ร่างกายจะค่อย ๆ ปรับตัวกลับไปสู่สภาวะปกติ เช่น

  • อวัยวะที่บวมตึงหรือแข็งตัวจะกลับไปสู่สีและขนาดเดิมก่อนหน้ามีเพศสัมพันธ์
  • เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย สบายตัว
  • เกิดความสนิทสนมใกล้ชิดระหว่างกันมากขึ้น
  • เหนื่อยล้า หมดแรง
  • ผู้หญิงบางคนสามารถมี Orgasm ได้หลายครั้งหากได้รับการปลุกเร้ากระตุ้นทางเพศอีก ในขณะที่ผู้ชายต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวหลังไปถึงจุดจุดยอดแล้วนานกว่าผู้หญิง ระยะฟื้นตัวในเพศชายนี้เป็นระยะที่เซลล์ไม่ตอบสนองต่อการกระตุ้นหรือตอบสนองต่อการกระตุ้นน้อยมาก ซึ่งระยะเวลาที่ใช้ในการฟื้นตัวของเพศชายอาจเพิ่มขึ้นตามช่วงอายุที่มากขึ้นด้วย

ปัญหาเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์และการไปถึงจุดสุดยอด

บางคนอาจมีความกังวลใจเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ก่อให้เกิดความพึงพอใจเท่าที่ควร ไปไม่ถึงจุดสุดยอด หรือไม่มีความสุขกับเรื่องทางเพศ ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดปัญหาสุขภาพกายใจ และปัญหาความสัมพันธ์กับคู่ครองตามมาได้ ดังนั้น ควรสังเกตอาการและปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างมีเพศสัมพันธ์ เพื่อหาทางแก้ไขรักษาต่อไป

โดยปัญหาเพศสัมพันธ์ที่มักเกิดขึ้น ได้แก่

ปัญหาเพศสัมพันธ์ในเพศชาย

การหลั่งอสุจิ

  • หลั่งเร็วเกินไป ถึงระยะ Orgasm และมีการหลั่งอสุจิก่อนการมีเพศสัมพันธ์ หรือในขณะที่เพิ่งเริ่มมีปฏิสัมพันธ์ทางเพศได้ไม่นาน
  • หลั่งช้าเกินไป ถึงระยะ Orgasm และมีการหลั่งอสุจิช้ามากในขณะมีเพศสัมพันธ์
  • หลั่งน้ำอสุจิย้อนทาง ถึงระยะ Orgasm และมีการหลั่งอสุจิ แต่น้ำอสุจิไม่ได้ถูกขับออกมาอย่างที่ควรจะเป็น แต่กลับไหลย้อนเข้าไปตามท่อปัสสาวะภายในองคชาตและเข้าไปยังกระเพาะปัสสาวะ  พบได้บ่อยในผู้ที่เป็นปลายประสาทเสื่อมจากโรคเบาหวาน

ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ

เป็นภาวะที่ผู้ชายไม่สามารถมีองคชาตที่แข็งตัวพร้อมสำหรับการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งอาจเกิดขึ้นเพียงช่วงเวลาหนึ่ง หรือเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเรื้อรัง จนสร้างความไม่สบายใจและขาดความมั่นใจแก่ผู้ที่เป็น อาจเกิดจากสาเหตุปัจจัยทางอารมณ์และจิตใจ หรืออาจเกิดจากการเจ็บป่วยทางร่างกายที่ส่งผลต่อสมรรถภาพทางเพศ

ไม่มีความต้องการทางเพศ

ผู้ชายบางคนอาจประสบกับปัญหาขาดอารมณ์ทางเพศ ไม่สนใจเรื่องเพศ ไม่มีความต้องการทางเพศ หรือมีความต้องการทางเพศลดน้อยลง ปัญหานี้เกิดจากหลายสาเหตุปัจจัยเช่นกัน และเป็นผลให้มีกิจกรรมทางเพศลดน้อยลง หรือไม่มีกิจกรรมทางเพศเลย ซึ่งอาจกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างคู่ครอง หรือสร้างความไม่สบายใจต่อตนเอง

สาเหตุของปัญหาเพศสัมพันธ์ในเพศชาย

  • สาเหตุทางร่างกาย อาจป่วยด้วยโรคหรืออาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต่ออารมณ์และสมรรถภาพทางเพศ เช่น เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด ความผิดปกติทางระบบประสาท โรคไตหรือโรคตับที่เรื้อรัง เสพติดแอลกอฮอล์หรือยาเสพติด และความไม่สมดุลของฮอร์โมนเพศในร่างกาย เป็นต้น
  • สาเหตุทางจิตใจ เช่น มีความวิตกกังวลในเรื่องต่าง ๆ ความเครียดจากการทำงาน ความรู้สึกผิด ภาวะซึมเศร้า ปัญหาสัมพันธภาพระหว่างบุคคล ความกังวลเกี่ยวกับบทบาททางเพศ หรือความฝังใจในอดีตเกี่ยวกับเรื่องเพศ

ปัญหาเพศสัมพันธ์ในเพศหญิง

ความผิดปกติทางเพศในเพศหญิงมักเป็นภาวะที่ผู้หญิงไม่สามารถไปถึงจุด Orgasm ได้ หรือไม่พึงพอใจในระยะ Orgasm จนอาจเกิดความไม่สบายใจ และอาจกระทบต่อความสัมพันธ์กับคู่ครอง

โดยอาการที่พบ ได้แก่

  • ไม่สามารถไปถึงจุด Orgasm ได้
  • ใช้เวลานานกว่าจะไปถึงจุด Orgasm
  • มี Orgasm ที่ไม่ทำให้เกิดความพึงพอใจ

ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นเหล่านี้ อาจมีสาเหตุมาจาก

  • มีประวัติเคยถูกทารุณกรรมทางเพศ หรือเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ
  • เบื่อหน่ายในการทำกิจกรรมทางเพศ
  • เบื่อหน่ายในความสัมพันธ์กับคู่ครอง
  • มีความเครียด ความเหนื่อยล้า หรือมีภาวะซึมเศร้า
  • ขาดความรู้เกี่ยวกับกิจกรรมและกระบวนการทางเพศ
  • มีความคิดแง่ลบเกี่ยวกับเรื่องทางเพศ หรือเคยมีประสบการณ์และการเรียนรู้ในแง่ลบเกี่ยวกับเรื่องเพศ
  • มีความอายหรือความอึดอัดใจที่จะตอบสนองหรือทำกิจกรรมทางเพศให้พึงพอใจที่สุด
  • มีปัญหาสุขภาพ เช่น มีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน ช่องคลอดแห้ง ใช้ยารักษาที่อาจมีผลต่อสภาพอารมณ์และความต้องการทางเพศ ระบบประสาทบริเวณอุ้งเชิงกรานได้รับความเสียหาย หรือมีการเจ็บป่วยเรื้อรังอื่น ๆ ที่กระทบต่อความต้องการและสมรรถภาพทางเพศ

การรักษาและแก้ไขปัญหาทางเพศสัมพันธ์

การรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น ผู้ที่ประสบปัญหาควรปรึกษาพูดคุยกับแพทย์และคู่ครองของตน เพื่อหาแนวทางรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป โดยอาจมีวิธีรักษาและแก้ไขปัญหาทางเพศสัมพันธ์ในเบื้องต้นด้วยตนเอง ดังนี้

  • ปรับแนวคิด และมีทัศนคติที่ดีต่อเรื่องเพศมากขึ้น
  • ศึกษากระบวนการมีเพศสัมพันธ์ การกระตุ้นเล้าโลม และการตอบสนองทางเพศ เพื่อให้มีเพศสัมพันธ์ที่ทำให้เกิดความพึงพอใจมากขึ้น
  • พักผ่อนอย่างเพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงหรือลดการสูบบุหรี่หรือการดื่มแอลกอฮอล์
  • ในเพศหญิง ควรฝึกขมิบกล้ามเนื้อในช่องคลอด เพื่อเป็นการบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน
  • มีอารมณ์ร่วม มีสมาธิ และใส่ใจคู่ครองในขณะมีเพศสัมพันธ์

แต่หากเป็นผู้ที่กำลังป่วยด้วยโรคหรืออาการที่กระทบต่อการมีเพศสัมพันธ์ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม และรับประทานยาหรือเข้ารับการรักษาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดสม่ำเสมอ เพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพร่างกายและจิตใจ จนสามารถมี Orgasm มีความพึงพอใจในกิจกรรมทางเพศ และหมดปัญหากังวลใจเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ในที่สุด