Octreotide (ออกทรีโอไทด์)

Octreotide (ออกทรีโอไทด์)

Octreotide (ออกทรีโอไทด์) เป็นยาที่ออกฤทธิ์โดยช่วยยับยั้งฮอร์โมนต่าง ๆ และลดการไหลเวียนของเลือดในระบบทางเดินอาหาร จึงนำมาใช้รักษาภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร รักษาภาวะอะโครเมกาลี (Acromegaly) ซึ่งเกิดจากร่างกายผลิตโกรทฮอร์โมนออกมามากเกิน ป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดตับอ่อน รักษาเนื้องอกบางชนิด รักษาอาการท้องเสียจากการติดเชื้อเอชไอวีหรือโรคมะเร็ง และอาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์

ยา Octreotide มีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ

Octreotide

เกี่ยวกับยา Octreotide

กลุ่มยา ยารักษาโรคกระเพาะอาหารและลำไส้
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร รักษาภาวะอะโครเมกาลี
ป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดตับอ่อน รักษาเนื้องอกชนิด Secretory Neoplasms
รักษาอาการท้องเสียจากการติดเชื้อเอชไอวีหรือโรคมะเร็ง
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน (ยาผง ยาเม็ด และแคปซูล)

คำเตือนในการใช้ยา Octreotide

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ หากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ รวมถึงการแพ้ยาชนิดอื่น อาหาร หรือสารใด ๆ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบถึงยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ ทั้งยาที่แพทย์สั่ง ยาที่ซื้อใช้ด้วยตนเอง วิตามิน อาหารเสริม และสมุนไพรต่าง ๆ เพราะยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยานี้และก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือยามีประสิทธิภาพลดลง
  • แจ้งให้แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และทันตแพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยานี้ ก่อนเข้ารับการรักษาใด ๆ
  • ระหว่างที่ใช้ยานี้ ผู้ป่วยต้องเข้ารับการตรวจเลือดตามที่แพทย์สั่ง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่กำลังใช้ยาไซโคลสปอรินที่อาจต้องได้รับการตรวจเลือดเป็นประจำ
  • ผู้ป่วยอาจมีภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำหลังจากฉีดยานี้ หากเกิดภาวะดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์ และอาจต้องเข้ารับการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดตามที่แพทย์สั่ง
  • ผู้ป่วยควรใช้ผลิตภัณฑ์คุมกำเนิดเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ในระหว่างที่ใช้ยานี้
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์ วางแผนมีบุตร หรือกำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและข้อเสียของยาก่อนใช้ยานี้

ปริมาณการใช้ยา Octreotide

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยและดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

รักษาภาวะอะโครเมกาลี

ผู้ใหญ่ สำหรับยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ฉีดยาปริมาณเริ่มต้น 20 มิลลิกรัม ทุก 4 สัปดาห์ หลังผ่านไป 3 เดือน อาจปรับปริมาณยาเป็น 10-30 มิลลิกรัม ทุก 4 สัปดาห์ หากจำเป็น ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 40 มิลลิกรัม ทุก 4 สัปดาห์

สำหรับยาฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ฉีดยาปริมาณเริ่มต้นครั้งละ 50 ไมโครกรัม วันละ 3 ครั้ง และปรับเพิ่มปริมาณยาตามความเหมาะสมเป็นครั้งละ 100-200 ไมโครกรัม วันละ 3 ครั้ง ปริมาณยาสูงสุดไม่เกินครั้งละ 500 ไมโครกรัม วันละ 3 ครั้ง

รักษาภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารของผู้ป่วยโรคตับแข็ง
ผู้ใหญ่ หยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำอย่างต่อเนื่องปริมาณ 25 ไมโครกรัม/ชั่วโมง เป็นเวลา 48 ชั่วโมง และอาจให้ยาเป็นระยะเวลา 5 วัน หากผู้ป่วยมีความเสี่ยงกลับมามีเลือดออกซ้ำ
เด็กอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 1 เดือน หยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำอย่างต่อเนื่องปริมาณ 1 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/ชั่วโมง ให้ยาปริมาณสูงสุดไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ชั่วโมง โดยอาจเริ่มต้นจากปริมาณยาสูงสุดและค่อย ๆ ปรับลดลงเรื่อย ๆ เมื่อผ่าน 24 ชั่วโมงแรกไปแล้ว จนกระทั่งเลือดหยุดไหล

ป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดตับอ่อน
ผู้ใหญ่ ฉีดยายาชนิดออกฤทธิ์เร็วเข้าใต้ผิวหนังครั้งละ 100 ไมโครกรัม วันละ 3 ครั้ง โดยให้ยาเป็นเวลา 7 วัน ติดต่อกัน และฉีดยาอย่างน้อย  1 ชั่วโมง ก่อนขั้นตอนการผ่าตัด

เนื้องอกชนิด Secretory Neoplasms
ผู้ใหญ่ ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังครั้งละ 50 ไมโครกรัม วันละ 1-2 ครั้ง อาจค่อย ๆ เพิ่มปริมาณถึง 600 ไมโครกรัม/วัน โดยแบ่งฉีดยา 2-4 ครั้ง ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วย และอาจหยดยาปริมาณเริ่มต้นเข้าทางหลอดเลือดดำเพื่อให้มีการตอบสนองต่อยาอย่างรวดเร็ว ไม่ควรใช้ยาต่อหากใช้แล้วไม่เห็นผลภายใน 1 สัปดาห์

ท้องเสียจากการติดเชื้อเอชไอวี
ผู้ใหญ่ ฉีดยาปริมาณเริ่มต้นครั้งละ 100 ไมโครกรัม วันละ 3 ครั้ง หากอาการไม่ดีขึ้นหลังผ่านไป 1 สัปดาห์ ให้เพิ่มปริมาณยาเป็นครั้งละ 250 ไมโครกรัม วันละ 3 ครั้ง และหากผ่านไปอีก 1 สัปดาห์ อาการยังไม่ดีขึ้นให้หยุดใช้ยา

การใช้ยา Octreotide

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
  • ยา Octreotide มีทั้งชนิดฉีดเข้าใต้ผิวหนังซึ่งจะฉีดบริเวณผิวหนังที่มีชั้นไขมันมาก หรือยาชนิดฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ ซึ่งชนิดยาที่ใช้จะขึ้นอยู่กับโรคและดุลยพินิจของแพทย์
  • หากผู้ป่วยรับยา Octreotide ไปฉีดเองที่บ้าน แพทย์หรือพยาบาลจะสอนวิธีการใช้ที่ถูกต้อง ผู้ป่วยต้องปฏิบัติตามที่แพทย์สั่งและอ่านฉลากการใช้ยาอย่างรอบคอบ ล้างมือให้สะอาดก่อนใช้ยา นำยาออกจากตู้เย็นมาไว้ที่อุณหภูมิห้องก่อนฉีด ห้ามทำให้ยาเกิดความร้อน และเปลี่ยนตำแหน่งที่ฉีดยาทุกครั้ง
  • ห้ามใช้ยา หากพบว่ายามีสีขุ่น เปลี่ยนสี ตกตะกอน หรือบรรจุภัณฑ์มีรอยรั่ว
  • เมื่อฉีดยาเสร็จเรียบร้อยแล้วให้ทิ้งอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น เข็มฉีดยา ในบรรจุภัณฑ์ที่มิดชิด โดยผู้ป่วยสามารถสอบถามวิธีการทิ้งที่ถูกต้องได้จากแพทย์หรือเภสัชกร และห้ามนำเข็มฉีดยากลับมาใช้ซ้ำ
  • หากอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
  • ห้ามให้ผู้อื่นใช้ยานี้และห้ามใช้ยาของผู้อื่น
  • หากลืมใช้ยาตามเวลาที่กำหนด ให้ใช้ยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้ถึงเวลาใช้ยาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปใช้ยารอบต่อไป และไม่เพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
  • หากสงสัยว่าตนใช้ยาเกินกว่าปริมาณที่กำหนด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
  • เก็บยาตามที่แพทย์สั่งหรือตามที่ระบุในฉลากอย่างเคร่งครัด
  • เก็บยาไว้ในที่แห้ง ห่างจากแสงแดด พ้นจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Octreotide 

ผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไปจากการใช้ยา Octreotide ได้แก่ ปวดท้อง ท้องอืด เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ท้องผูก ท้องเสีย อ่อนเพลีย อาเจียน เป็นต้น หากอาการดังกล่าวไม่หายไปหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ควรปรึกษาแพทย์

ผู้ป่วยควรหยุดใช้ยาและแจ้งให้แพทย์ทราบทันที หากมีอาการรุนแรงดังต่อไปนี้

  • อาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก หน้าบวม ริมฝีปากบวม ลิ้นบวม คอบวม มีผื่นคัน ผิวหนังบวมแดง พุพอง ผิวลอกพร้อมกับมีไข้หรือไม่มีไข้ แน่นหน้าอกหรือลำคอ หายใจเสียงดัง มีปัญหาในการหายใจหรือการพูด เสียงแหบ เป็นต้น
  • อาการของภาวะระดัน้ำตาลในเลือดสูง เช่น สับสน ง่วงนอน รู้สึกกระหายน้ำหรือหิวมาก ปัสสาวะบ่อย ผิวหนังแดง หายใจเร็ว หรือลมหายใจมีกลิ่นคล้ายผลไม้
  • อาการของภาวะระดับฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ เช่น ท้องผูก ทนความหนาวไม่ได้ มีปัญหาด้านความจำ อารมณ์เปลี่ยนแปลง แสบและชาตามร่างกายผิดปกติ
  • อาการของการเกิดนิ่วในถุงน้ำดี เช่น เจ็บบริเวณท้องส่วนบน ไหล่ขวา หรือระหว่างสะบักกะทันหัน ตัวเหลืองตาเหลือง มีไข้และหนาวสั่น
  • อาการของภาวะความดันโลหิตสูง เช่น เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ หมดสติ หรือมีการมองเห็นเปลี่ยนแปลงไป
  • ตับอ่อนอักเสบ อาจทำให้มีอาการ เช่น ปวดท้องมาก ปวดท้องร้าวไปถึงด้านหลัง ไม่สบายท้อง หรืออาเจียน
  • หัวใจเต้นช้าหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • อ่อนเพลียมาก

นอกจากนี้ หากพบอาการผิดปกติใด ๆ เพิ่มเติม ควรรีบแจ้งให้แพทย์ผู้รักษาทราบด้วยเช่นกัน