Misoprostol (ไมโสพรอสตอล)

Misoprostol (ไมโสพรอสตอล)

Misoprostol (ไมโสพรอสตอล) เป็นยาในกลุ่มโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ชนิดสังเคราะห์ เพื่อป้องกันแผลในกระเพาะอาหาร และลำไส้จากการรับประทานยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์หรือยาเอ็นเสด (NSAIDs) ลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงอื่น ๆ จากภาวะดังกล่าว รักษาภาวะตกเลือดหลังคลอด ช่วยเร่งการคลอด หรืออาจใช้รักษาภาวะอื่นภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์

Misoprostol

นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ควบคู่กับยาชนิดอื่นเพื่อยุติการตั้งครรภ์ในช่วงอายุครรภ์น้อย ๆ ที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ จึงอาจถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดเป็นยาเหน็บสำหรับทำแท้ง ในปัจจุบันกฎหมายไทยได้จัดให้ยาไมโซพรอสทอลเป็นยาควบคุมพิเศษที่ใช้เฉพาะในสถานพยาบาลเท่านั้น

เกี่ยวกับยา Misoprostol  

กลุ่มยา ยารักษาโรคกระเพาะ ยาลดกรด
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ ป้องกันและรักษาแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ รักษาภาวะตกเลือด เร่งการคลอด
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน (ยาเม็ดและยาเหน็บ)

คำเตือนของการใช้ยา Misoprostol  

  • ห้ามใช้ยากับสตรีมีครรภ์ เพราะมีความเสี่ยงต่อภาวะแท้ง การคลอดก่อนกำหนด หรือทารกในครรภ์พิการ หากมีความจำในการรับประทานยานี้ ควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและข้อเสียก่อนทุกครั้ง
  • ควรใช้ยาอย่างระมัดระวังสำหรับผู้ที่มีอาการท้องเสียหรือเป็นโรคในกลุ่มอาการที่เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของลำไส้ ภาวะขาดน้ำ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง ความดันโลหิตต่ำหรือโรคที่ส่งผลให้ความดันโลหิตต่ำ โรคไต
  • สตรีที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรและเด็กไม่ควรใช้ยานี้ เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลยืนยันถึงความปลอดภัยอย่างเพียงพอและตัวยาอาจส่งผ่านทางน้ำนมไปยังทารก
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีแนวโน้มตั้งครรภ์และยังไม่ได้รับการยืนยันด้วยการตรวจอัลตราซาวด์ มีภาวะท้องนอกมดลูก อายุครรภ์มากกว่า 49 วัน เคยผ่าท้องคลอดบุตรหรือมีรอยแผลที่มดลูก มีภาวะรกเกาะต่ำหรือเลือดออกโดยไม่ทราบสาเหตุในช่วงที่มีอายุครรภ์มากกว่า 24 สัปดาห์ ทารกอยู่ในท่าผิดปกติ ภาวะถุงน้ำคร่ำอักเสบ อายุครรภ์น้อยกว่า 36 สัปดาห์ เพิ่งได้รับยาออกซิโทซิน (Oxytocin) หรือยาเร่งคลอดอื่น ๆ  

ปริมาณการใช้ยา Misoprostol  

ยา Misoprostol มักใช้รักษาโรคแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ โดยทั่วไปผู้ใหญ่ให้รับประทานวันละ 800 ไมโครกรัม โดยแบ่งรับประทาน 2-4 ครั้ง พร้อมอาหาร เป็นระยะเวลาติดต่อกันอย่างน้อย 4 สัปดาห์ จนกว่าอาการจะดีขึ้น แต่ไม่ควรเกิน 8 สัปดาห์

สำหรับปริมาณการใช้ยาในสภาวะอื่นอาจแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านสุขภาพของแต่ละคน วัตถุประสงค์ในการรักษา ตัวยาหลักในการออกฤทธิ์ ความแรงของยา และดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา เช่น

ป้องกันแผลในกระเพาะอาหารจากการใช้ยากลุ่มเอ็นเสด

  • ผู้ใหญ่: รับประทานวันละ 100-200 ไมโครกรัม แบ่งรับประทาน 2-4 ครั้ง

ยุติการตั้งครรภ์ (อายุครรภ์ 49 วัน หรือน้อยกว่า)

  • ผู้ใหญ่: รับประทานวันละ 400 ไมโครกรัม โดยให้รับประทานหลังจากยามิฟีพริสโตน (Mifepristone)

กระตุ้นให้เจ็บครรภ์คลอด

  • ผู้ใหญ่: สอดยาชนิดควบคุมการปลดปล่อยยา ขนาด 200 ไมโครกรัม บริเวณช่องคลอด ซึ่งตัวยาจะค่อย ๆ ถูกปล่อยออกมา 7 ไมโครกรัมต่อชั่วโมงในเวลา 24 ชั่วโมง หรือ สอดยา ขนาด 25 ไมโครกรัม ทุก ๆ 4-6 ชั่วโมง

ป้องกันการตกเลือดหลังคลอด

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยา 400-600 ไมโครกรัม หรือ เหน็บยาทางทวารหนักหลังทารกคลอด แต่ให้ยาก่อนขั้นตอนการคลอดรก

การใช้ยา Misoprostol   

ก่อนการใช้ยา ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับประวัติการแพ้ยา สมุนไพร อาหารเสริม หรือยาทุกชนิดที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเสมอ รวมถึงใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์และอ่านฉลากอย่างละเอียด เนื่องจากตัวยามีหลายรูปแบบ โดยทั่วไปมักรับประทานหลังอาหารและการใช้ยาครั้งสุดท้ายของวันควรเป็นเวลาก่อนนอน เพื่อประสิทธิภาพยาสูงสุด ยกเว้นแพทย์สั่งเป็นกรณีพิเศษ

นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาลดกรดที่มีส่วนผสมของแมกนิเซียม ไฮดรอกไซด์ หรือยาที่กระตุ้นให้เกิดการขับถ่ายอย่างน้อย 1-2 ชั่วโมง เพราะผลข้างเคียงของยา Misoprostol มักจะก่อให้เกิดอาการท้องเสีย ซึ่งจะยิ่งทำให้อาการของผู้ป่วยแย่ลง ทั้งนี้ ไม่ควรใช้ยาเกินปริมาณที่แพทย์กำหนดหรือใช้ติดต่อเป็นเวลานานนอกเหนือคำสั่งแพทย์ หากเกิดความผิดปกติหรืออาการไม่ดีขึ้น ควรหยุดใช้ยาทันทีและรีบปรึกษาแพทย์  

ในกรณีที่ลืมรับประทานยาตามเวลาที่กำหนด สามารถรับประทานยาได้ทันที แต่หากใกล้ถึงเวลาให้ข้ามไปรับประทานยาในรอบถัดไป ไม่ควรเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า และเมื่อมีอาการผิดปกติหรือรุนแรงควรรีบไปพบแพทย์

การเก็บยาควรเก็บให้ห่างจากความร้อน ความชื้น แสงแดด และเก็บไว้ในที่ที่พ้นมือเด็ก รวมไปถึงไม่ควรเก็บยาหมดอายุหรือยาที่มีบรรจุภัณฑ์อยู่ในสภาพไม่ดี เพราะอาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Misoprostol  

ในบางราย หลังการใช้ยาอาจเกิดผลข้างเคียง ผู้ป่วยจึงควรไปพบแพทย์เมื่ออาการเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นประจำหรือรุนแรงมากขึ้น เช่น ท้องเสีย ปวดหัว ปวดท้อง มีแก๊สในท้องมาก อาเจียน ท้องผูก อาหารไม่ย่อย ท้องอืด คลื่นไส้ มีผื่นขึ้น วิงเวียนศีรษะ มีการหดเกร็งของมดลูก มีเลือดออกจากช่องคลอด หรือความดันโลหิตต่ำซึ่งมักพบได้ค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตในรายที่เกิดภาวะอาการช็อกแบบเฉียบพลันจากพิษของแบคทีเรีย (Toxic Shock) หรือภาวะช็อกจากการติดเชื้อ (Septic Shock)

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการดังต่อไปนี้ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

  • มีอาการแพ้ยา ทำให้เกิดผื่น อาการบวมตามใบหน้า ลิ้น หรือคอ เวียนศีรษะอย่างรุนแรง มีปัญหาในการหายใจ หรือความผิดปกติอื่น ๆ
  • อาเจียนเป็นเลือดหรือมีสีดำ
  • ถ่ายอุจจาระปนเลือดหรือมีสีดำ
  • ปัสสาวะปนเลือด
  • ความสามารถในการได้ยินเปลี่ยนแปลงไป หรือหูหนวก
  • มึนศีรษะ
  • มองเห็นไม่ชัด
  • เลือดออกหรือเกิดรอยช้ำโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • เหนื่อยง่าย อ่อนแรง
  • หายใจมีเสียงวี๊ด ๆ หรือหายใจสั้น