Meningioma

ความหมาย Meningioma

Meningioma หรือเนื้องอกเยื่อหุ้มสมอง เป็นเนื้องอกชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นในชั้นเยื่อหุ้มสมองและเยื่อหุ้มไขสันหลัง มักโตช้าและอาจใช้เวลาหลายปีกว่าผู้ป่วยจะมีอาการ จึงยากต่อการวินิจฉัย ในบางครั้งอาจส่งผลต่อเนื้อเยื่อสมอง เส้นประสาท และหลอดเลือดโดยรอบ ทำให้ผู้ป่วยพิการหรือเสียชีวิตได้ 

เนื้องอกที่เยื่อหุ้มสมองสามารถเกิดได้ในคนทุกเพศทุกวัย แต่ส่วนใหญ่มักเป็นผู้สูงอายุและเป็นเพศหญิง ผู้ป่วยอาจจะมีก้อนเนื้อเพียงก้อนเดียวหรือหลายก้อนก็ได้ โดยทั่วไป Meningioma จะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ตามลักษณะของเนื้องอก ได้แก่

เนื้องอกที่เยื่อหุ้มสมอง

  • ระดับที่ 1 เป็นเนื้องอกที่เยื่อหุ้มสมองที่เจริญเติบโตช้าและไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย มักพบได้บ่อยกว่าระดับอื่น
  • ระดับที่ 2 เป็นเนื้องอกที่เยื่อหุ้มสมองที่ผิดปกติและเริ่มเจริญเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้น เนื้องอกในระดับนี้สามารถเกิดขึ้นซ้ำได้แม้จะผ่าตัดออกไปแล้ว
  • ระดับที่ 3 เป็นเนื้องอกที่เยื่อหุ้มสมองที่เป็นเซลล์มะเร็ง ทำให้เจริญเติบโตและแพร่กระจายไปยังบริเวณโดยรอบได้อย่างรวดเร็ว

อาการของ Meningioma

ผู้ป่วยจะค่อย ๆ แสดงอาการออกมาทีละน้อย ขึ้นอยู่กับว่า Meningioma เกิดในส่วนใดของสมอง บางรายอาจเกิดบริเวณกระดูกสันหลัง แต่จะพบได้ค่อนข้างน้อย ซึ่งอาการที่พบได้บ่อยที่สุดเป็นอาการปวดศีรษะ มือหรือเท้าอ่อนแรง และอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น  

  • มีอาการสับสน ง่วงซึม
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป
  • การมองเห็นเปลี่ยนแปลงไป มองเห็นเป็นภาพซ้อนหรือภาพเบลอ
  • สูญเสียการได้ยินหรือหูอื้อ หรือมีปัญหาการพูด
  • สูญเสียความทรงจำ 
  • สูญเสียการรับรู้กลิ่น
  • รู้สึกชาหรือเจ็บบริเวณใบหน้า
  • ร่างกายกระตุก ชัก

หากอาการปวดศีรษะแย่ลงเรื่อย ๆ อาการที่เกิดขึ้นสร้างความกังวลใจหรือส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย แต่หากมีอาการชัก การมองเห็นหรือความจำเปลี่ยนไป หรือเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว

สาเหตุของ Meningioma

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของ Meningioma แน่ชัด แต่คาดว่าเกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมคู่ที่ 22 ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากคนในครอบครัวที่มีประวัติเป็นโรคท้าวแสนปมชนิดที่ 2 หรือมะเร็งเต้านม นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่คาดว่าก่อให้เกิดเนื้องอกที่เยื่อหุ้มสมองได้ เช่น การฉายรังสีบริเวณศีรษะ ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในร่างกายผู้หญิง โรคอ้วนหรือมีค่าดัชนีมวลกายสูง ผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 30-70 ปี เป็นต้น

การวินิจฉัย Meningioma

การเจริญเติบโตของเนื้องอกอย่างช้า ๆ และอาการของโรคมักคล้ายกับปัญหาสุขภาพทั่วไปที่พบในผู้สูงอายุ จึงอาจทำให้ยากต่อการวินิจฉัย Meningioma ในกรณีที่ผู้ป่วยเข้าข่ายมีเนื้องอก แพทย์ผู้ดูแลอาจส่งตัวผู้ป่วยไปตรวจกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทเพื่อวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น

  • CT Scan เป็นการใช้รังสีเอกซเรย์ในการสร้างภาพฉายบริเวณสมอง 
  • MRI Can เป็นการใช้คลื่นวิทยุร่วมกับคลื่นสนามแม่เหล็กแรงสูงช่วยสร้างภาพถ่ายโครงสร้างภายในสมองและเนื้องอกที่เยื่อหุ้มสมอง แต่จะให้ความละเอียดที่มากกว่า 
  • การตัดชิ้นเนื้อ (Biopsy) ในบางกรณีแพทย์อาจนำตัวอย่างชิ้นเนื้อของผู้ป่วยไปส่งตรวจในห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันผลการวินิจฉัย
  • การฉีดสีเข้าหลอดเลือดสมอง (Cerebral Angiogram) เพื่อดูหลอดเลือดที่ส่งเลือดไปเลี้ยงเนื้องอกหรือผลกระทบของก้อนเนื้อต่อการไหลเวียนของเลือดในสมอง แต่มักใช้ตรวจในผู้ป่วยน้อยราย    

การรักษา Meningioma

แพทย์จะรักษา Meningioma โดยพิจารณาจากหลายปัจจัย เช่น ขนาดของเนื้องอก ตำแหน่งที่เกิดเนื้องอก อัตราการเจริญเติบโตของเนื้องอก อายุและสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย และจุดประสงค์ในการรักษา ในกรณีที่เนื้องอกมีขนาดเล็กและไม่มีอาการใด ๆ ผู้ป่วยอาจจะยังไม่ได้รับการรักษาในทันที แต่จะต้องตรวจสแกนสมองเป็นระยะเพื่อประเมินการเติบโตของเนื้องอก โดยแพทย์จะเลือกวิธีรักษาที่เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละคนหากเนื้องอกนั้นเจริญเติบโตและแสดงอาการ เช่น

การผ่าตัด

เนื่องจาก Meningioma มักเกิดในสมองและไขสันหลังซึ่งมีโครงสร้างที่ละเอียดอ่อนสูง แพทย์จะใช้วิธีนี้เพื่อผ่าตัดเอาเนื้องอกออกไปให้ได้มากที่สุด โดยมักต้องผ่าตัดเปิดกระโหลกศีรษะ (Craniotomy) เพื่อเข้าถึงเนื้องอกและผ่าตัดได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดอาจทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการติดเชื้อ มีเลือดออก หรือมีอาการเฉพาะอื่น ๆ ตามบริเวณที่ถูกผ่าตัด อย่างสูญเสียการมองเห็นจากการผ่าตัดเนื้องอกที่อยู่ใกล้เส้นประสาทตา 

การฉายรังสี

การฉายรังสีพลังงานสูงจะช่วยทำลายเซลล์มะเร็งหรือเนื้องอกที่ไม่สามารถผ่าตัดออกมาได้ ทำให้เนื้องอกฝ่อ ป้องกันการเจริญเติบโตของเนื้องอก และลดโอกาสในการเกิดเนื้องอกซ้ำ โดยจะมีหลายประเภทที่แพทย์พิจารณาเลือกใช้ เช่น  การฉายรังสีร่วมพิกัด การฉายรังสีแบบปรับความเข้ม หรือการฉายอนุภาคโปรตอน เป็นต้น

การใช้ยารักษา

เคมีบำบัด (Chemotherapy) อาจนำมาใช้รักษาเนื้องอกที่เยื่อหุ้มสมองระดับที่ 2 และระดับที่ 3 และใช้กับระดับที่ 1 ที่การผ่าตัดและการฉายรังสีใช้ไม่ได้ผล แต่มักใช้ในผู้ป่วยน้อยราย 

การรักษาทางเลือก

วิธีนี้อาจไม่ได้ทำให้เนื้องอกหายไป แต่อาจช่วยบรรเทาอาการข้างเคียงหลังการรักษาและจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้นได้ เช่น การฝังเข็ม การสะกดจิต การนวด การทำสมาธิ การทำดนตรีบำบัด การออกกำลังกายเพื่อผ่อนคลาย เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนของ Meningioma

โดยทั่วไป Meningioma และวิธีรักษาอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ในระยะยาว โดยเฉพาะการผ่าตัดหรือรังสีรักษา ทำให้ผู้ป่วยอาจสูญเสียความทรงจำ ขาดสมาธิ มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป และชัก นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ โดยเฉพาะในผู้ป่วยสูงอายุ เช่น  การติดเชื้อ ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำลึก สมองบวม ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ  ประสิทธิภาพการทำงานของสมองลดลง หรือเสียชีวิต เป็นต้น

การป้องกัน Meningioma

เนื่องจากไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของ Meningioma จึงยากต่อการป้องกันโรค แต่หากคนในครอบครัวเคยมีประวัติเป็นเนื้องอกที่เยื่อสมอง โรคท้าวแสนปมชนิดที่ 2 หรือมะเร็งเต้านมมาก่อน อาจปรึกษาแพทย์เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงของ Meningioma 

นอกจากนี้ ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ลดความเครียด และนอนพักผ่อนให้เพียงพอ สำหรับผู้ที่เข้ารับการฉายรังสีที่ศีรษะแล้วพบความผิดปกติใด ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบและรับการรักษาทันที