ลิชมาเนีย (Leishmaniasis)

ความหมาย ลิชมาเนีย (Leishmaniasis)

Leishmaniasis หรือโรคลิชมาเนีย เป็นโรคจากการติดเชื้อปรสิตลิชมาเนีย มักเกิดจากการถูกริ้นฝอยทรายที่เป็นพาหะของเชื้อกัด ส่วนใหญ่จะแพร่ระบาดในบริเวณที่มีสภาพอากาศร้อนชื้นหรือกึ่งร้อนชื้น โดยเฉพาะแถบเอเชีย แอฟริกา หรืออเมริกาใต้ ซึ่งผู้ป่วยแต่ละรายจะแสดงอาการป่วยแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ของเชื้อที่เข้าสู่ร่างกาย เช่น อาจเกิดแผลตรงผิวหนังบริเวณที่ถูกกัด เกิดแผลที่เยื่อบุจมูกหรือปาก ตับและม้ามโต ผิวซีด หรือเป็นไข้เรื้อรัง เป็นต้น

1720 Leishmaniasis resize

อาการของลิชมาเนีย

ผู้ป่วยโรคลิชมาเนียแต่ละรายจะแสดงอาการป่วยแตกต่างกันไปตามชนิดของโรค ดังนี้

โรคลิชมาเนียที่ผิวหนัง

ระยะแรกผู้ป่วยอาจสังเกตเห็นผื่นนูนคล้ายผดขึ้นบริเวณที่ถูกกัด จากนั้นผื่นอาจค่อย ๆ ขยายวงกว้างขึ้นและเกิดเป็นแผลตามมา โดยแผลอาจเกิดขึ้นได้หลายลักษณะ แต่ส่วนใหญ่มักเป็นแผลขอบนูนและไม่เจ็บ ซึ่งรักษาให้หายเป็นปกติได้ค่อนข้างช้า ผู้ป่วยบางรายอาจใช้เวลารักษานานหลายเดือนหรือหลายปี และเมื่อแผลหายแล้วก็อาจทิ้งรอยแผลเป็นที่คล้ายแผลจากไฟไหม้เอาไว้

โรคลิชมาเนียที่อวัยวะภายใน

ผู้ป่วยมักเริ่มแสดงอาการผิดปกติหลังถูกปรสิตที่มีเชื้อกัดไปแล้ว 2-6 เดือน โดยอาการบ่งชี้ของโรคนี้ ได้แก่

  • น้ำหนักลด
  • อ่อนเพลีย
  • เป็นไข้เรื้อรัง ซึ่งอาจเป็นนานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน
  • ตับหรือม้ามโต
  • ต่อมน้ำเหลืองโต
  • มีภาวะเลือดออกผิดปกติ

ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่มีอาการดังข้างต้นหรือสงสัยว่าตนอาจเป็นโรคลิชมาเนียชนิดนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะหากปล่อยไว้อาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

โรคลิชมาเนียที่เยื่อบุ

พบได้ไม่บ่อยเท่าโรคลิชมาเนียที่ผิวหนังและที่อวัยวะภายใน โดยในระยะแรกผู้ป่วยจะสังเกตเห็นแผลที่ผิวหนังบริเวณที่ถูกกัด หลังจากนั้นประมาณ 1-5 ปี จะเริ่มมีแผลเกิดขึ้นในจมูก ช่องปาก ริมฝีปาก หรือกล่องเสียง ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคัดจมูก เลือดกำเดาไหล หายใจลำบาก หรือเสียงแหบร่วมด้วย

สาเหตุของลิชมาเนีย

Leishmaniasis มักเกิดจากการถูกริ้นฝอยทรายที่เป็นพาหะของเชื้อชนิดนี้กัด โดยตัวริ้นอาจได้รับเชื้อมาจากการกัดสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ที่ติดเชื้อ นอกจากนั้น ผู้ป่วยอาจติดเชื้อจากการเปลี่ยนถ่ายเลือดที่มีเชื้อหรือการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อได้เช่นกัน

โดยผู้ที่อยู่ในกลุ่มต่อไปนี้ อาจเสี่ยงเป็นโรคลิชมาเนียสูงกว่าคนทั่วไป

  • ผู้ที่อาศัยอยู่หรือเคยเดินทางไปบริเวณที่มีสภาพอากาศร้อนชื้นหรือกึ่งร้อนชื้น โดยเฉพาะในแถบเอเชีย ยุโรป แอฟริกา และอเมริกาใต้
  • ผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนยากไร้ หรือมีภาวะขาดแคลนอาหาร
  • ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีผู้อพยพเข้าเมืองมาเป็นจำนวนมาก
  • ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ อย่างผู้ติดเชื้อเอชไอวี

การวินิจฉัยลิชมาเนีย

ในขั้นแรก แพทย์จะสอบถามถึงอาการผิดปกติที่พบ รวมถึงซักประวัติการเดินทางและถิ่นที่อยู่อาศัยของผู้ป่วย หากประเมินแล้วว่ามีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ แพทย์อาจวินิจฉัยด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม เพื่อยืนยันสาเหตุของอาการป่วยและตรวจหาสายพันธุ์ของเชื้อที่พบในร่างกาย โดยอาจขูดแผลเพื่อนำตัวอย่างเซลล์ไปตรวจดูดีเอ็นเอหรือสารพันธุกรรมของเชื้อปรสิตหากสงสัยว่าติดเชื้อโรคลิชมาเนียที่ผิวหนัง หรือหากมีอาการเข้าข่ายโรคลิชมาเลียที่อวัยวะภายใน แพทย์จะตรวจดูลักษณะของตับและม้าม จากนั้นอาจเจาะเอาเนื้อเยื่อไขกระดูกไปส่งตรวจ หรือตรวจเลือดเพื่อดูแอนติบอดี้ที่ผิดปกติด้วย

การรักษาลิชมาเนีย

การรักษา Leishmaniasis สามารถทำได้หลายวิธี โดยพิจารณาตามชนิดของโรค ได้แก่

  • โรคลิชมาเนียที่ผิวหนัง ผู้ป่วยอาจหายเป็นปกติได้เองโดยไม่ต้องรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติมหากแผลที่เกิดขึ้นมีขนาดเล็กและค่อย ๆ มีอาการดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่แพทย์อาจให้รักษาเพิ่มเติมอย่างการให้ยาฆ่าเชื้อหากมีแผลขนาดใหญ่ อาการรุนแรง แผลหายช้า หรืออาจให้ใช้ยาเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ
  • โรคลิชมาเนียที่เยื่อบุ โรคชนิดนี้ไม่สามารถหายเองได้ แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ยาต้านเชื้อราอย่างแอมโฟเทอริซินบี หรือยาต้านเชื้อแบคทีเรียอย่างพาโรโมมัย เพื่อกำจัดเชื้อและรักษาแผล
  • โรคลิชมาเนียที่อวัยวะภายใน ผู้ป่วยจำเป็นต้องรักษาด้วยการใช้ยา โดยชนิดของยาที่ใช้นั้นขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์เป็นหลัก ตัวอย่างยาที่แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ ได้แก่ ยาโซเดียมสติโบกลูโคเนต ยาแอมโฟเทอริซินบี ยาพาโรโมไมซิน ยามิลเทโฟซีน เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนของลิชมาเนีย

โรคลิชมาเนียแต่ละชนิดอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนแตกต่างกันไป โดยโรคลิชมาเนียที่ผิวหนังและโรคลิชมาเนียที่อวัยวะภายในเป็นชนิดที่พบได้ค่อนข้างบ่อย และอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนดังต่อไปนี้

โรคลิชมาเนียที่ผิวหนัง

  • เกิดรอยแผลเป็นหลังจากแผลที่ผิวหนังหายเป็นปกติ
  • มีภาวะเลือดออกบริเวณแผล
  • ติดเชื้อชนิดอื่น ๆ ไปด้วย เพราะระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ซึ่งหากติดเชื้อรุนแรงก็อาจทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิตได้

โรคลิชมาเนียที่อวัยวะภายใน หากไม่รีบทำการรักษา ผู้ป่วยอาจมีอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงอย่างภาวะน้ำหนักลดลงมากจนผอมแห้ง (Wasting Syndrome) หรืออวัยวะภายในอาจทำงานผิดปกติ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อตัวผู้ป่วยและอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ ส่วนผู้ป่วยโรคลิซมาเนียที่ติดเชื้อเอชไอวี ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที เพราะเชื้อเอชไอวีอาจทำให้อาการของโรคลิชมาเนียรุนแรงขึ้นและทำการรักษาได้ยากยิ่งขึ้น

การป้องกันลิชมาเนีย

ในปัจจุบันยังไม่มียาหรือวัคซีนชนิดใดที่สามารถป้องกันโรคนี้ได้ ดังนั้น ผู้ที่จำเป็นต้องเดินทางไปในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการติดโรคจึงควรป้องกันตัวริ้นฝอยทรายกัดตามคำแนะนำต่อไปนี้

ภายนอกอาคาร

  • สวมเสื้อแขนยาว กางเกงยายาว ถุงเท้า และเก็บชายเสื้อไว้ในกางเกง
  • ทายากันยุงหรือยากันแมลงที่ผิวทั้งบริเวณนอกร่มผ้าและในร่มผ้า โดยใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์หรือตามฉลากบนผลิตภัณฑ์อย่างเคร่งครัด
  • หลีกเลี่ยงการออกนอกที่พักในเวลาพลบค่ำและรุ่งเช้า

ภายในอาคาร

  • ใช้ยาฆ่าแมลงฉีดในที่พักอาศัยก่อนเข้าพัก
  • อาศัยอยู่ในที่พักที่มีประตู หน้าต่าง และมุ้งลวดปิดมิดชิด
  • กางมุ้งก่อนเข้านอนเสมอ โดยตรวจดูให้แน่ใจว่ามุ้งไม่มีรูที่ตัวริ้นสามารถลอดเข้ามาได้