Lactobacillus reuteri โพรไบโอติกสำหรับเด็ก ตัวช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อย

โพรไบโอติก (Probiotic) คือ จุลินทรีย์ที่มีชีวิต ซึ่งเมื่อรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม จะส่งผลดีต่อสุขภาพ เช่น โพรไบโอติก Lactobacillus reuteri (L. reuteri) หรือแล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรี ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในโพรไบโอติกสำหรับเด็ก เพราะเป็นสายพันธุ์ที่มีงานวิจัยทางการแพทย์รองรับหลายชิ้นว่า โพรไบโอติกชนิดนี้อาจช่วยให้เด็กมีร่างกายแข็งแรง และช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ 

โพรไบโอติกและระบบภูมิคุ้มกันมีความเกี่ยวข้องกันในหลายด้าน การที่เด็ก ๆ ได้รับโพรไบโอติกในปริมาณที่ เหมาะสมอยู่เป็นประจำสามารถช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของเด็กแข็งแรงและป่วยน้อยลง ทำให้เด็ก ๆ เติบโตและเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่เพื่อสุขภาพที่ดีของเด็ก ๆ บทความนี้จะพาคุณพ่อคุณแม่มาทำความรู้จักกับ แล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรี โพรไบโอติกสำหรับเด็กกันมากขึ้น

Lactobacillus reuteri โพรไบโอติกสำหรับเด็ก ตัวช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อย

รู้จัก L. reuteri (แล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรี) โพรไบโอติกสำหรับเด็ก

L. reuteri คือ โพรไบโอติกหรือจุลินทรีย์มีประโยชน์ชนิดหนึ่งในกลุ่มแล็กโทบาซิลลัส (Lactobacillus) ที่หลายคนคุ้นหูกัน ซึ่งแล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรี จัดเป็นเชื้อแล็กโทบาซิลลัสสายพันธุ์เฉพาะที่ถูกค้นพบครั้งแรก ในปีค.ศ. 1962 และต่อมาก็ได้มีการนำโพรไบโอติกสายพันธุ์ดังกล่าวมาศึกษาวิจัยจนพบผลลัพธ์ที่ดีต่อสุขภาพ

แล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรี ได้ถูกนำมาศึกษาทดลองในหลายด้าน โดยกลไกเบื้องต้นของ แล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรี คือการผลิตสารรูเทอริน (Reuterin) ที่มีคุณสมบัติยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค อย่างเช่น เชื้อแบคทีเรีย ทั้งยังช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันอีกด้วย ซึ่งคุณสมบัติในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันจัดเป็นคุณสมบัติที่พบได้ในโพรไบโอติกบางชนิดเท่านั้น

นอกเหนือจากคุณสมบัติเฉพาะของ L. reuteri แล้ว โพรไบโอติกชนิดนี้จะเข้าไปครองพื้นที่ในระบบทางเดินอาหารเพื่อปรับสมดุลของจำนวนจุลินทรีย์มีประโยชน์กับจุลินทรีย์ก่อโรคให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม จึงส่งผลดีต่อร่างกาย แต่หากโพรไบโอติกลดลงอาจทำให้สมดุลจุลินทรีย์เสียสมดุลและอาจทำให้เด็ก ๆ เสี่ยงต่อการเกิดโรคได้มากขึ้น

ช่วงวัยเด็กเป็นช่วงวัยแห่งการเรียนรู้ และโดยธรรมชาติของเด็ก การเล่นซนกับเพื่อน ๆ กับสัตว์เลี้ยง หรือแม้แต่การเล่นนอกบ้านกับธรรมชาติก็อาจทำให้เขาได้รับเชื้อโรคจนก่อให้เกิดอาการป่วยได้บ่อยครั้ง โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่เข้าสู่วัยเรียนหรือเด็กเล็กที่ต้องเข้าเนอร์สเซอรี่ เด็กกลุ่มนี้อาจเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อโรคจากเด็กคนอื่น

แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถเตรียมความพร้อมให้กับลูกได้ด้วยการดูแลสุขภาพเขาให้แข็งแรง โดยการเลือกเสริมโพรไบโอติกสำหรับเด็ก อย่างเช่น โพรไบโอติกสายพันธุ์เฉพาะ L. reuteri DSM 17938 ซึ่งเป็นโพรไบโอติกที่มีต้นกำเนิดมาจากน้ำนมแม่ เพราะมีการศึกษาจำนวนมากชี้ว่าการได้รับโพรไบโอติกนี้ ในปริมาณที่เหมาะสมสามารถช่วยเสริมสร้างสุขภาพที่แข็งแรงได้

โพรไบโอติกสำหรับเด็กสายพันธุ์เฉพาะ Lactobacillus reuteri (แล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรี) มีประโยชน์อย่างไร

มีการศึกษาในเด็กก่อนวัยเรียนอายุตั้งแต่ 3 เดือนจนถึง 3 ขวบ แบ่งเป็น เด็กที่ได้รับ L. reuteri DSM 17938 จำนวน 168 คน กับได้รับยาหลอก (Placebo) 168 คน ให้ทั้งสองกลุ่มรับประทานเป็นเวลา 3 เดือน และติดตามผลหลังจากหยุดรับประทานไปอีก 3 เดือน

ผลพบว่า เด็กกลุ่มที่ได้รับ L. reuteri DSM 17938 มีความถี่และระยะเวลาของการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ และอาการท้องเสียลดน้อยลง ทำให้เด็ก ๆ หยุดเรียนน้อยลง ใช้ยาปฏิชีวนะลดลง ไปโรงพยาบาลน้อยลง และในการศึกษายังไม่พบผลข้างเคียงอันตรายจากการใช้โพรไบโอติกชนิดดังกล่าว

นอกจากนี้ โพรไบโอติก L. reuteri DSM17938 ยังได้รับการศึกษาและนำไปใช้ในแง่มุมอื่นอีก เช่น ในทารกที่ร้องโคลิคพบว่าช่วยลดระยะเวลาร้องของทารกได้ ในเด็กที่มีอาการท้องผูกมีการศึกษาพบว่าช่วยทำให้การขับถ่ายดีขึ้น รวมทั้งในเด็ก ๆ ที่มีภาวะปวดท้อง ซึ่งก็พบว่าช่วยบรรเทาอาการปวดท้องได้

โพรไบโอติกสายพันธุ์เฉพาะแล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรี DSM17938 ยังได้รับการแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารนานาชาติ (WGO: World Gastroenterology Organisation) ซึ่งได้แนะนำโพรไบโอติกสายพันธุ์นี้เพื่อป้องกันการติดเชื้อในเด็กที่ต้องเข้าศูนย์รับเลี้ยงตอนกลางวัน เด็กเล็กที่มีอาการร้องกวนโคลิค หรือเด็กที่มีภาวะปวดท้อง 

อย่างไรก็ตามก่อนเลือกซื้ออาหารเสริมโพรไบโอติกสำหรับเด็ก โดยเฉพาะเด็กแรกเกิด เด็กอ่อน และเด็กที่มีโรคประจำตัว คุณพ่อคุณแม่ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อความปลอดภัย

เลือกโพรไบโอติกสำหรับเด็กและลูกน้อยอย่างไร?

การเลือกโพรไบโอติกสำหรับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นเด็กในช่วงวัยใด คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจในรายละเอียดเพื่อให้ ลูกน้อยได้รับสิ่งที่ดีที่สุดเสมอ โดยวิธีต่อไปนี้น่าจะเป็นแนวทางในการเลือกซื้อและเลือกใช้โพรไบโอติก สำหรับเด็กเบื้องต้น

  • ปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญก่อนการเลือกซื้ออาหารเสริมโพรไบโอติกสำหรับเด็ก และอาหารเสริมอื่น ๆ รวมทั้งสอบถามข้อดี ข้อเสีย ความเสี่ยง ความจำเป็น และวิธีใช้อย่างปลอดภัย พร้อมแจ้งโรคประจำตัว ของเด็กและยาที่ใช้อยู่ให้แพทย์ทราบก่อนเสมอ
  • หลีกเลี่ยงการใช้โพรไบโอติกพร้อมกับยาปฏิชีวนะและยาต้านเชื้อรา เพราะยาดังกล่าวอาจลดจำนวนของโพรไบโอติกได้ หากจำเป็นต้องใช้พร้อมกัน ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรถึงการเว้นระยะห่างในการใช้ยา กลุ่มดังกล่าวและโพรไบโอติก
  • ใช้อาหารเสริมโพรไบโอติกสำหรับเด็กตามที่แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญแนะนำ หากมีข้อสงสัยควรสอบถาม แพทย์และผู้เชี่ยวชาญ
  • ช่วงแรกของการใช้โพรไบโอติกบางตัวอาจพบกับผลข้างเคียงทั่วไป เช่น อาการท้องอืดและ ท้องเสียที่ไม่รุนแรง ซึ่งมักหายได้เองภายใน 1–2 สัปดาห์ แต่หากอาการไม่ดีขึ้น ควรพาเด็กไปพบแพทย์
  • เมื่อเริ่มใช้แล้ว ควรใช้อย่างสม่ำเสมอตามฉลากบรรจุภัณฑ์หรือตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อผลลัพธ์ที่ชัดเจน
  • โพรไบโอติกส่วนใหญ่จัดเป็นอาหารเสริมไม่ใช่ยารักษาโรค แต่อาจช่วยเสริมสุขภาพ บรรเทาความรุนแรงและ ลดระยะเวลาของการเจ็บป่วย หากลูกน้อยไม่สบายจำเป็นต้องพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษาอย่าง เหมาะสม
  • เลือกรูปแบบอาหารเสริมโพรไบโอติกให้เหมาะกับช่วงวัยของเด็ก 
  • เลือกซื้ออาหารเสริมโพรไบโอติกที่ได้มาตรฐาน จากบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือ และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุมัติจากจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรืออย.
  • ควรเลือกโพรไบโอติกสายพันธุ์ที่ผ่านการศึกษาทดลองและมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยืนยันประสิทธิภาพใน การเสริมสร้างสุขภาพ เช่น โพรไบโอติกสายพันธุ์เฉพาะ L. reuteri DSM 17938 เพราะแม้จะเรียกว่า โพรไบโอติกเหมือนกัน แต่ละสายพันธุ์ก็ส่งผลต่อร่างกายแตกต่างกัน
  • ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม ตามที่แพทย์แนะนำ
  • ควรเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ตามคำแนะนำบนฉลากบนบรรจุภัณฑ์เพื่อรักษาคุณภาพ
  • หากใช้แล้วพบอาการผิดปกติ เช่น ผื่นแดง ลมพิษ หายใจติดขัด หายใจมีเสียงหวีด ผิวหนังบวม เป็นไข้สูง ท้องเสียไม่หยุด อาเจียน หรือเกิดอาการซึม ควรหยุดใช้ยา และพาเด็กไปพบแพทย์ทันที

นอกจากการใช้โพรไบโอติกสำหรับเด็กแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลสุขภาพของเด็ก ๆ ด้วยวิธีอื่นควบคู่ไปด้วย เช่น กินอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผักผลไม้ที่มีพรีโอติก (Prebiotic) เพื่อช่วยเสริมการทำงานของโพรไบโอติก ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ รวมไปถึงการรับวัคซีนตามช่วงวัย เพื่อให้เด็ก ๆ เติบโตได้อย่างแข็งแรงสมวัย

เอกสารอ้างอิง

  1. Mai, et al. (2019). Human Breast Milk Promotes the Secretion of Potentially Beneficial Metabolites by Probiotic Lactobacillus reuteri DSM 17938. Nutrients, 11(7), pp. 1548.
  2. Sanders, et al. (2018). Probiotics for Human Use. Nutrition Bulletin, 43, pp. 212–225.
  3. Srinivasan, et al. (2018) Lactobacillus reuteri DSM 17938: Review of Evidence in Functional Gastrointestinal Disorders. Pediatrics and Therapeutics, 8(3), pp 1-8.
  4. Gutierrez-Castrellon, et al. (2014). Diarrhea in Preschool Children and Lactobacillus reuteri: A Randomized Controlled Trial. Pediatrics, 133(4), e904-e909.
  5. Cleusix, et al. (2007). Inhibitory Activity Spectrum of Reuterin Produced by Lactobacillus reuteri against Intestinal Bacteria. BMC Microbiology, 7, pp. 101.
  6. Valeur, et al. (2004). Colonization and Immunomodulation by Lactobacillus reuteri ATCC 55730 in the Human Gastrointestinal Tract. Applied and Environmental Microbiology, 70(2), pp. 1176-1181.
  7. World Gastroenterology Organisation (2017). World Gastroenterology Organisation Global Guidelines: Probiotics and Prebiotics.
  8. Vimol Srisukh. Mahidol University (2010). Department of Food Chemistry. 4 ขั้นตอน การเลือกโพรไบโอติคส์.
  9. Cleveland Clinic (2020). Health. Probiotics.
  10. WebMD. Children's Chewable Probiotic.

เขียนโดย กองบรรณาธิการ POBPAD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. นงนภัส เก้าเอี้ยน

THL2203014-3