Impingement Syndrome

ความหมาย Impingement Syndrome

Impingement Syndrome หรือ Shoulder Impingement Syndrome คือกลุ่มอาการกดเบียดภายในข้อไหล่ เกิดจากเอ็นกล้ามเนื้อหรือถุงน้ำภายในข้อไหล่ถูกกดทับหรือเสียดสีจากกระดูกหัวไหล่ ถือเป็นสาเหตุของอาการปวดไหล่ที่พบได้บ่อย ส่วนมากจะเกิดจากการใช้งานหัวไหล่หนักเกินไปหรือใช้งานซ้ำ ๆ จนอาจส่งผลให้รู้สึกปวดไหล่ขึ้นได้ อย่างการเล่นกีฬาที่ใช้แรงบริเวณหัวไหล่มากหรืออาจเกิดจากความผิดปกติของกระดูกและข้อ 

อาการปวดไหล่จาก Impingement Syndrome อาจคงอยู่ยาวนานและกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมอาจทำให้เกิดการอักเสบของถุงน้ำหรือเอ็นข้อไหล่ หรือทำให้เอ็นข้อไหล่บางลงและฉีกขาดได้

2456-impingement-syndrome

อาการ Impingement Syndrome

อาการเจ็บปวดในระยะแรกมักไม่รุนแรงนัก แต่หากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้อาการอาจรุนแรงขึ้นจนไม่สามารถเคลื่อนไหวไหล่ได้ตามปกติ บางรายอาจเกิดการฉีกขาดของเอ็นกล้ามเนื้อไหลได้ โดยอาการที่พบได้ทั่วไป เช่น 

  • รู้สึกเจ็บปวดบริเวณหัวไหล่ช่วงบนและหัวไหล่ด้านนอก อาจเกิดขึ้นได้ทั้งขณะใช้แรงหรือขณะพัก 
  • รู้สึกเจ็บปวดมากขึ้นเมื่อยกแขนขึ้นเหนือศีรษะ
  • แขนอ่อนแรงหรือขยับไหล่ได้ลำบากเมื่อต้องเอื้อมไปด้านหลัง
  • หากมีอาการรุนแรงอาจรู้สึกเจ็บปวดในเวลากลางคืน โดยอาจกระทบต่อการนอนหลับ

โดยปกติแล้ว Impingement Syndrome จะไม่ทำให้รู้สึกแข็งเกร็งบริเวณไหล่ หากมีอาการดังกล่าวอาจมีความเป็นไปได้ว่าเป็นอาการของภาวะไหล่ติด หรือหากรู้สึกแขนอ่อนแรงอย่างชัดเจนและไม่สามารถยกแขนขึ้นได้อาจเป็นอาการของภาวะเอ็นข้อไหล่ฉีกขาด อย่างไรก็ตาม ถ้าอาการปวดไหล่ยังไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์ หรือกระทบต่อการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างถูกวิธี

สาเหตุของ Impingement Syndrome

ข้อไหล่ประกอบไปด้วยกระดูก 3 ชิ้น คือ กระดูกสะบัก (Scapula) กระดูกไหปลาร้า (Clavicle) และกระดูกต้นแขน (Humerus) ซึ่งจะมีเอ็นข้อไหล่ (Rotator Cuff) ที่ประกอบด้วยกลุ่มของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นเป็นตัวยึดกระดูกแขนส่วนบนเข้ากับหัวไหล่ 

เมื่อเอ็นข้อไหล่เกิดการชนและเสียดสีกับกระดูกส่วนบนของข้อไหล่ (Acromion) ทำให้เกิดแรงดันบริเวณช่องว่างภายในเอ็นข้อไหล่และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิด Impingement Syndrome ขึ้นได้ โดยอาจเป็นผลมาจากหลายสาเหตุ

  • เส้นเอ็นบริเวณไหล่บวม หนาขึ้น หรือฉีกขาด เนื่องจากการได้รับบาดเจ็บ การใช้งานบริเวณหัวไหล่หนักเกินไป หรือใช้งานซ้ำ ๆ เป็นระยะเวลานาน สาเหตุนี้มักพบในกลุ่มคนเล่นกีฬา อย่างนักเทนนิสหรือนักว่ายน้ำ หรือกลุ่มคนที่ใช้แรงแขนในการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน อย่างนักวาดภาพหรือผู้ที่ทำงานด้านก่อสร้าง 
  • ถุงน้ำบริเวณข้อต่อเกิดการอักเสบจากการบาดเจ็บและการใช้งานหัวไหล่หนักเกินไป
  • กระดูกเหนือข้อไหล่โค้งงอ มักเกิดจากความผิดปกติโดยกำเนิด
  • ภาวะกระดูกงอกบริเวณกระดูกส่วนบนของหัวไหล่ ส่วนมากจะเกิดขึ้นเมื่อมีอายุมากขึ้น

การวินิจฉัย Impingement Syndrome

แพทย์จะสอบถามอาการและประวัติของผู้ป่วย เช่น ประวัติการได้รับบาดเจ็บในอดีต พฤติกรรมการใช้ชีวิตและออกกำลังกาย จากนั้นจะตรวจดูการเคลื่อนไหวของหัวไหล่ โดยให้ผู้ป่วยลองขยับไหล่ไปมาเพื่อวินิจฉัยอาการผิดปกติหรือหาสาเหตุอื่นที่อาจเกิดขึ้น อย่างอาการเส้นประสาทถูกกดทับ 

นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้วินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยการเอกซเรย์ เพื่อตรวจหาภาวะข้ออักเสบหรือภาวะกระดูกงอกที่อาจทำให้เกิด Impingement Syndrome ในกรณีที่มีการบาดเจ็บของเอ็นข้อไหล่อย่างรุนแรงหรือไม่สามารถวินิจฉัยอาการได้ แพทย์อาจใช้การตรวจเอ็มอาร์ไอ (MRI Scan) เพื่อให้สามารถวินิจฉัยอาการอักเสบหรือฉีกขาดจากภาพที่ละเอียดยิ่งขึ้น

การรักษา Impingement Syndrome

แพทย์สามารถรักษา Impingement Syndrome ได้หลายวิธี โดยจะพิจารณาจากอาการและความรุนแรงของโรคเป็นหลัก

การรักษาโดยไม่ผ่าตัด

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเริ่มต้นการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ ต่อไปนี้ 

การดูแลตนเองที่บ้าน

ผู้ป่วยที่มีอาการในระยะแรกสามารถดูแลตนเองได้ที่บ้าน โดยหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ทำให้อาการบาดเจ็บแย่ลง เช่น การยกแขนขึ้นเหนือศีรษะหรือการเล่นกีฬาที่ต้องใช้แรงแขน เป็นต้น เบื้องต้นอาจปรึกษาแพทย์ถึงระยะเวลาที่เหมาะสมที่จะกลับมาทำกิจกรรมต่าง ๆ อีกครั้ง แต่ในระหว่างการดูแลตนเองที่บ้านควรใช้แรงแขนในการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันเล็ก ๆ น้อย ๆ อยู่บ้าง เพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อไหล่อ่อนแอ 

นอกจากนี้ การประคบเย็นที่หัวไหล่เป็นเวลา 20 นาที วันละ 2-3 ครั้ง จะช่วยลดอาการปวดหรือบวมได้ แต่ไม่ควรประคบลงที่ผิวหนังโดยตรง แต่ควรนำถุงน้ำแข็งห่อด้วยผ้าขนหนูก่อนนำมาประคบ 

การทำกายภาพบำบัด

แพทย์อาจให้ผู้ป่วยทำกายภาพบำบัด โดยเป็นการออกกำลังกายที่เน้นการยืดเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ เพื่อปรับสมดุลและฟื้นฟูให้ข้อไหล่กลับมาใช้งานได้ตามปกติ หากผู้ป่วยเป็นนักกีฬาหรือทำงานที่ต้องใช้หัวไหล่มาก แพทย์จะแนะนำวิธีการใช้หัวไหล่ที่เหมาะสมเพื่อลดโอกาสในการกลับมาเกิดอาการซ้ำ บางครั้งอาจให้ผู้ป่วยทำควบคู่ไปกับการออกกำลังกายด้วยตนเองที่บ้าน เพื่อช่วยให้อาการเจ็บปวดบริเวณหัวไหล่หายเร็วขึ้น 

ทั้งนี้ การออกกำลังกายบางแบบ อย่างการใช้มือไต่ผนัง รำกระบอง รำมวยจีน ถือเป็นวิธีรักษาที่มีประสิทธิภาพมากและช่วยลดความเสี่ยงในการเกิด Impingement Syndrome ซ้ำอีกในภายหลัง แต่ผู้ป่วยควรระมัดระวังไม่ให้หักโหมจนเกินไป หากอาการปวดแย่ลงหรือไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์ ควรแจ้งแพทย์อีกครั้ง

การรักษาด้วยการใช้ยา 

ผู้ป่วยอาจบรรเทาอาการปวดด้วยการรับประทานยาพาราเซตามอล หรือยาในกลุ่ม NSAIDs อย่างยาไอบูโพรเฟน โดยควรปรึกษาเภสัชกรก่อนการรับประทานยาเพื่อความปลอดภัย ในกรณีที่มีอาการรุนแรงขึ้น แพทย์อาจสั่งจ่ายยาอื่นเพิ่มเติมตามดุลยพินิจของแพทย์ 

หากรับประทานยาหรือการดูแลตนเองทั่วไปแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจฉีดยาสเตียรอยด์ที่บริเวณถุงน้ำใต้กระดูกส่วนบนของหัวไหล่ ตัวยามีฤทธิ์ระงับอาการเจ็บปวดได้ประมาณ 2-3 สัปดาห์ แต่ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดได้อีกหากไม่ได้ทำกายภาพบำบัด อย่างไรก็ตาม การใช้ยาสเตียรอยด์อาจฉีดซ้ำได้อีกเมื่อต้องการ แต่ไม่ควรฉีดเกิน 2 ครั้ง เพราะอาจไปทำลายเส้นเอ็นหัวไหล่ในระยะยาวหรืออาจทำให้เกิดผลข้างเคียง อย่างเกิดรอยบุ๋มอย่างถาวรหรือสีผิวจางไม่สม่ำเสมอในบริเวณที่ฉีดยา

การรักษาโดยการผ่าตัด

ในกรณีที่ใช้วิธีการรักษาในข้างต้นแล้วอาการของผู้ป่วยยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัดด้วยวิธี Subacromial Decompression ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยเพิ่มพื้นที่ว่างและไม่ให้เอ็นข้อไหล่เกิดการเบียดกับกระดูกหัวไหล่ โดยอาจเป็นการผ่าตัดแบบผ่าเปิดบริเวณไหล่เพื่อให้แพทย์สามารถรักษาบริเวณเอ็นข้อไหล่และกระดูกหัวไหล่ได้โดยตรง หรืออาจเป็นการผ่าตัดแบบส่องกล้องที่ช่วยให้แผลหลังการผ่าตัดมีขนาดเล็กกว่า ลดอาการเจ็บแผล และใช้ระยะเวลาในการพักฟื้นน้อยกว่า 

หลังจากการผ่าตัด ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ภายใน 1-2 วัน และใช้งานหัวไหล่ได้ตามปกติภายใน 2-3 สัปดาห์ แพทย์อาจให้ผู้ป่วยใส่ที่คล้องแขนเพื่อช่วยพยุงหลังการผ่าตัดจนกว่าอาการจะดีขึ้น นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยออกกำลังกายเบา ๆ ในช่วงพักฟื้น เพื่อสร้างความแข็งแรงให้เอ็นข้อไหล่และช่วยยืดกล้ามเนื้อแขน อก และไหล่ แต่ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายระดับหนักหรือใช้งานหัวไหล่มากเกินไป เนื่องจากอาจทำให้อาการแย่ลงได้ 

โดยทั่วไป ผู้ป่วยจะใช้เวลาการฟื้นฟูร่างกายโดยรวมให้กลับมาเป็นปกติภายในระยะเวลา 3-6 เดือน แต่ในกรณีที่มีอาการรุนแรงอาจต้องใช้ฟื้นฟูร่างกายเป็นเวลานานถึง 1 ปี 

ภาวะแทรกซ้อนของ Impingement Syndrome

หากมีอาการ Impingement Syndrome แล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ผู้ป่วยอาจมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะเอ็นข้อไหล่เสื่อมหรือฉีกขาดได้ รวมทั้งอาจเกิดภาวะไหล่ติด หรือภาวะเอ็นหุ้มข้อไหล่ฉีกขาด (Cuff Tear Arthropathy) 

นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นขึ้นได้หลังจากการได้รับยา การทำกายภาพบำบัด หรือการผ่าตัด ดังนี้

  • ภาวะแทรกซ้อนจากการรับประทานยาแก้อักเสบ ได้แก่ ปวดศีรษะ รู้สึกไม่สบายท้อง อาหารไม่ย่อย  จึงควรรับประทานยาหลังมื้ออาหารหรือพร้อมอาหารเพื่อช่วยลดอาการไม่สบายท้อง ในบางกรณีอาจเกิดอาการท้องผูก อาเจียน หรือมีเลือดออกในช่องท้อง แต่จัดว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนที่ผิดปกติและควรไปพบแพทย์
  • ภาวะแทรกซ้อนจากการฉีดยาสเตียรอยด์จะขึ้นอยู่กับปริมาณและความถี่ในการได้รับยา การฉีดยาสเตียรอยด์มักไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงเหมือนกับยาสเตียรอยด์ชนิดรับประทาน โดยมากมักทำให้ระดับน้ำตาลและความดันในเลือดสูงขึ้น น้ำหนักเพิ่มขึ้น ภูมิต้านทานการติดเชื้อของร่างกายลดลง ผิวหนังบางลง กระดูกเปราะบางเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน และอาจทำให้เกิดโรคต้อกระจก

การป้องกัน Impingement Syndrome

Impingement Syndrome เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่มักเกิดขึ้นจากพฤติกรรมการใช้งานหัวไหล่หนักเกินไปหรือการได้รับบาดเจ็บบริเวณหัวไหล่ ดังนั้น การลดความเสี่ยงของการเกิด Impingement Syndrome สามารถทำได้ด้วยการปรับพฤติกรรม ได้แก่ หลีกเลี่ยงการออกแรงหรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้หัวไหล่ซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน หากเป็นนักกีฬาควรอบอุ่นร่างกายก่อนการเล่นกีฬาทุกครั้ง เพื่อช่วยเตรียมความพร้อมและลดโอกาสที่จะได้รับบาดเจ็บ สำหรับบุคคลทั่วไปควรออกกำลังกายให้เหมาะสมกับอายุและสุขภาพร่างกายโดยรวม ไม่ควรหักโหมจนเกินไป เพื่อเป็นการเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและเอ็นข้อไหล่