ไกอาเดีย (Giardia)

ความหมาย ไกอาเดีย (Giardia)

Giardia หรือ Giardia Infection คือ ภาวะติดเชื้อไกอาเดีย ซึ่งเป็นการติดเชื้อในลำไส้เล็กจากปรสิตที่มีชื่อว่า Giardia Lamblia ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการท้องเสีย ปวดท้อง ท้องอืด และผายลม เชื้อชนิดนี้พบได้ตามพื้นที่ที่มีสุขอนามัยไม่ได้มาตรฐาน ดินและแหล่งน้ำที่ปนเปื้อนอุจจาระของคนหรือมูลของสัตว์ที่ติดเชื้อ โดยเชื้อสามารถแพร่กระจายจากคนที่ติดเชื้อไปยังคนอื่น ๆ ผ่านการรับประทานอาหารหรือการดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ

อาการของโรคติดเชื้อไกอาเดีย

ผู้ป่วยบางคนอาจไม่มีอาการใด ๆ แม้จะมีปรสิตชนิดนี้อยู่ภายในร่างกาย และยังสามารถแพร่เชื้อไปสู่คนรอบข้างผ่านทางอุจจาระได้แม้กระทั่งในช่วงที่ไม่มีอาการ โดยอาการของ Giardia อาจปรากฏขึ้นมาหลังการติดเชื้อไปแล้วประมาณ 1-3 สัปดาห์ เช่น ท้องเสีย ผายลม มีแก๊สในท้องปริมาณมาก ท้องอืด ปวดเกร็งบริเวณหน้าท้อง มีอาการขาดน้ำ เรอ อาเจียน น้ำหนักลด วิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย เป็นต้น ทั้งนี้ อาการดังกล่าวอาจใช้เวลา 2-6 สัปดาห์กว่าจะหายไป โดยผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการนานกว่านั้นหรือกลับมาเป็นซ้ำได้

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์หากพบอาการถ่ายเหลว ท้องอืด ท้องเฟ้อ และคลื่นไส้นานกว่า 1 สัปดาห์ หรือมีอาการผิวหนังแห้ง ปัสสาวะน้อยลง และอ่อนเพลีย ซึ่งอาจเป็นผลจากร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ

1910 Giardia rs

สาเหตุของโรคติดเชื้อไกอาเดีย

ภาวะ Giardia เกิดจากปรสิตขนาดเล็กอย่าง Giardia Lamblia เข้าไปอาศัยอยู่ในลำไส้ของคนและสัตว์ ก่อนจะออกจากร่างกายกลายเป็นอุจจาระ โดยปรสิตชนิดนี้จะสร้างเปลือกหุ้มที่เรียกว่าซีสต์ขึ้นมาห่อหุ้มตัวเอง ซึ่งช่วยให้อยู่ภายนอกร่างกายได้นานเป็นเดือน ๆ เมื่อคนรับประทานซีสต์นี้เข้าไป เปลือกหุ้มจะสลายตัวแล้วปล่อยปรสิตออกมาสู่ลำไส้จนก่อให้เกิดการติดเชื้อได้

โดยสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยได้รับเชื้อดังกล่าว มีดังนี้

  • การเผลอกลืนน้ำหรือดื่มน้ำที่ไม่สะอาด เช่น กลืนน้ำจากแม่น้ำ ลำธาร และแหล่งน้ำธรรมชาติโดยไม่ได้ตั้งใจ รวมถึงดื่มน้ำจากแหล่งน้ำอย่างบ่อน้ำ ถังน้ำ สระว่ายน้ำ และสวนน้ำที่มีเชื้อ gairdia ปนเปื้อนอยู่ เป็นต้น  
  • การรับประทานอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อน การติดเชื้อทางนี้มักพบได้น้อยกว่าน้ำดื่มและแหล่งน้ำต่าง ๆ เพราะปรสิตมักตายจากการโดนความร้อนในการปรุงอาหาร แต่ก็อาจได้รับเชื้อจากสุขอนามัยที่ไม่ดีในการรับประทานอาหาร เช่น ใช้มือสัมผัสอาหารโดยตรง รับประทานอาหารที่ล้างด้วยน้ำที่ไม่สะอาด และรับประทานอาหารดิบหรือกึ่งสุกกึ่งดิบที่มีเชื้อปนอยู่ เป็นต้น
  • การได้รับเชื้อจากผู้ที่ติดเชื้อโดยตรง อาจเกิดจากการสัมผัสกับอุจจาระโดยตรง หรือสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อจากอุจจาระของผู้ที่ติดเชื้อแล้วนำมือเข้าปากโดยไม่ได้ตั้งใจ เช่น เปลี่ยนผ้าอ้อมเด็ก ดูแลเด็กที่อาศัยอยู่ในศูนย์ดูแลเด็ก หรือมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก เป็นต้น   

นอกจากนี้ เด็กที่มีอายุน้อยมักมีความเสี่ยงในการติดเชื้อมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากมีแนวโน้มสัมผัสอุจจาระหรือสัมผัสดินและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อจากการเล่นซุกซนมากกว่า ส่วนผู้ที่อาศัยหรือเดินทางไปในที่ที่มีสุขอนามัยไม่ได้มาตรฐานหรือมีแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคที่ไม่สะอาดก็อาจเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อชนิดนี้เช่นกัน

การวินิจฉัยโรคติดเชื้อไกอาเดีย

แพทย์จะสอบถามอาการ ความเสี่ยงในการติดเชื้อปรสิตชนิดนี้ และตรวจร่างกาย โดยอาจทดสอบด้วยวิธีดังต่อไปนี้ด้วย เพื่อตรวจว่าผู้ป่วยติดเชื้อ Giardia หรือไม่

  • ตรวจอุจจาระ เป็นการเก็บตัวอย่างอุจจาระของผู้ป่วยแล้วนำไปตรวจหาปรสิต Giardia Lamblia ในห้องปฏิบัติการ โดยแพทย์อาจเก็บตัวอย่างหลาย ๆ ครั้ง เพื่อความแม่นยำในการวินิจฉัย
  • ส่องกล้องตรวจภายใน วิธีนี้ใช้แค่บางกรณีที่ไม่สามารถวินิจฉัยจากการตรวจอุจจาระได้เท่านั้น โดยแพทย์จะสอดท่อขนาดเล็กที่มีกล้องติดอยู่ผ่านทางปากเข้าไปยังลำไส้เล็ก เพื่อตรวจความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร และอาจเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อออกมาตรวจเพิ่มเติมด้วย  

การรักษาโรคติดเชื้อไกอาเดีย

เด็กและผู้ใหญ่ที่ไม่แสดงอาการใด ๆ และไม่มีความเสี่ยงแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นอาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา โดยผู้ป่วยที่แสดงอาการส่วนมากมักดีขึ้นเองในไม่กี่สัปดาห์ แต่หากมีอาการรุนแรง แพทย์อาจใช้ยาช่วยในการรักษา เช่น

  • ยาเมโทรนิดาโซล เป็นยาปฏิชีวนะที่นิยมใช้กันมากที่สุดในการรักษาอาการติดเชื้อ แต่ยาเมโทรนิดาโซลอาจมีผลข้างเคียงอย่างอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง และการรับรสผิดปกติ โดยผู้ป่วยต้องห้ามดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงที่ใช้ยานี้
  • ยาทินิดาโซล ออกฤทธิ์โดยช่วยกำจัดและยับยั้งการติดเชื้อ อาจมีผลข้างเคียง เช่น ไม่อยากอาหาร ปวดเกร็งบริเวณหน้าท้อง ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เป็นต้น โดยแพทย์อาจให้รับประทานยานี้เพียงครั้งเดียว

อย่างไรก็ตาม สำหรับสตรีมีครรภ์ แพทย์อาจพิจารณาการรักษาเป็นรายบุคคล เนื่องจากยาที่ใช้อาจเกิดผลข้างเคียงต่อทารกในครรภ์ได้ หากผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง แพทย์อาจเลื่อนการรักษาออกไปก่อนจนกว่าจะผ่านพ้นการตั้งครรภ์ในไตรมาสแรก แต่หากมีความจำเป็น ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์อย่างละเอียดเพื่อให้วางแผนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

ภาวะแทรกซ้อนของโรคติดเชื้อไกอาเดีย

แม้ส่วนใหญ่การติดเชื้อ Giardia จะไม่ก่อให้เกิดอาการรุนแรงและมักหายไปได้เอง แต่ผู้ป่วยบางรายก็อาจมีอาการรุนแรงหรือใช้เวลานานกว่าจะหายจากภาวะนี้ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้ ดังนี้

  • ร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่ ซึ่งเกิดจากอาการท้องเสียอย่างรุนแรง ส่งผลให้ร่างกายสูญเสียน้ำมากจนเกินไป ทำให้อาจมีอาการผิวแห้ง ปัสสาวะน้อยลงหรือไม่ปัสสาวะเลย ตาโหลหรือเบ้าตาลึก และกระสับกระส่าย หากเกิดภาวะนี้ในเด็ก อาจทำให้เด็กไม่มีน้ำตาไหลออกมาขณะร้องไห้และปัสสาวะน้อยกว่าปกติ
  • ภาวะการดูดซึมสารอาหารผิดปกติ ในกรณีที่มีอาการท้องเสียอย่างเรื้อรัง อาจทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อภาวะขาดสารอาหารได้ ซึ่งสังเกตได้จากการมีน้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ หากเกิดขึ้นในเด็กเล็ก อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางด้านร่างกายและจิตใจของเด็กด้วย
  • ภาวะย่อยน้ำตาลแล็กโทสบกพร่อง ผู้ที่ติดเชื้อ Giardia ไม่อาจย่อยน้ำตาลแล็กโทสที่อยู่ในนมได้ตามปกติ จึงส่งผลให้มีอาการท้องเสียเมื่อดื่มนมที่มีแล็กโทส โดยผู้ป่วยอาจมีภาวะนี้ต่อไปอีกระยะหนึ่งแม้จะหายจากการติดเชื้อ Giardia แล้วก็ตาม

การป้องกันโรคติดเชื้อไกอาเดีย

ในปัจจุบันยังไม่มียาหรือวัคซีนสำหรับป้องการติดเชื้อ Giardia โดยเฉพาะ แต่อาจลดความเสี่ยงในการติดเชื้อหรือการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • ล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังรับประทานอาหารหรือสัมผัสอาหาร รวมทั้งหลังเข้าห้องน้ำและเปลี่ยนผ้าอ้อมให้เด็ก หากล้างมือไม่ได้ ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพื่อช่วยในการฆ่าเชื้อโรค
  • เลือกดื่มน้ำที่สะอาด ถูกหลักอนามัย
  • หลีกเลี่ยงการกลืนน้ำขณะว่ายน้ำ และไม่ดื่มน้ำจากแม่น้ำ ลำธาร และแหล่งน้ำธรรมชาติที่ยังไม่ได้ผ่านการต้มหรือกรองมาก่อน    
  • หากต้องเดินทางไปบริเวณที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ ควรพกขวดน้ำติดตัวไปด้วย ห้ามดื่มน้ำหรือแปรงฟันด้วยน้ำประปา เลือกรับประทานอาหารและเครื่องดื่มอย่างระมัดระวัง โดยหลีกเลี่ยงน้ำแข็งที่อาจทำมาจากน้ำประปา ผักผลไม้สด และอาหารที่ไม่ได้ปรุงสุกหรืออาหารแบบกึ่งสุกกึ่งดิบ
  • ระมัดระวังในการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก และควรสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งก่อนมีเพศสัมพันธ์ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

ส่วนผู้ป่วยที่ติดเชื้อ Giardia ควรหยุดงานหรือหยุดเรียน และหลีกเลี่ยงการไปสระว่ายน้ำจนกว่าอาการจะหายดี นอกจากนี้ ควรล้างมืออย่างสม่ำเสมอ ไม่ปรุงอาหารหรือใช้มือสัมผัสอาหารหากต้องรับประทานร่วมกับสมาชิกในครอบครัว และหลีกเลี่ยงการใช้ผ้าเช็ดตัวหรือเครื่องใช้ในครัวร่วมกับผู้อื่น เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ