ทำความรู้จักกับการตรวจอุจจาระ

การตรวจอุจจาระเป็นวิธีการที่ทำได้ง่ายและไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงใด ๆ ต่อร่างกาย แต่มีความสำคัญในทางการแพทย์อย่างมาก เพราะเป็นการตรวจพื้นฐานที่ช่วยในการวินิจฉัยโรคเบื้องต้น เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อราหรือพยาธิ ความผิดปกติในระบบทางเดินอาหารหรือลำไส้ เป็นต้น

แม้ว่าการตรวจอุจจาระนั้นมีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก แต่ก็มีข้อควรระวังบางอย่างที่อาจทำให้ผลการตรวจเกิดความคาดเคลื่อนจากความเป็นจริงไปได้ บทความนี้จึงอยากจะชวนทุกคนมารู้จักการตรวจอุจจาระ พร้อมทั้งข้อมูลที่เป็นประโยชน์อื่น ๆ ที่ควรรู้

ทำความรู้จักกับการตรวจอุจจาระ

การตรวจอุจจาระ ตรวจเพื่ออะไร

การตรวจอุจจาระสามารถทำได้ด้วยตาเปล่าโดยแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อดูสี ความคงตัว ปริมาณ รูปทรง กลิ่นและเมือกจากอุจจาระ อีกทั้งยังสามารถตรวจหาเม็ดเลือดขาว เลือดแฝงในอุจจาระ ไขมัน น้ำตาล ความเป็นกรดด่าง (pH) เอ็นไซม์จากตับอ่อน สารแคลโพรเทคติน หรือสาเหตุของการติดเชื้อที่อยู่ภายในอุจจาระ

แพทย์มักสั่งให้มีการตรวจอุจจาระในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการท้องร่วงติดต่อกันมากกว่า 2–3 วัน อุจจาระเป็นเลือดหรือมีเมือก มีอาการเจ็บหรืออาการปวดเกร็งบริเวณหน้าท้อง คลื่นไส้อาเจียนและมีไข้ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ที่รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนหรือมีอาการผิดปกติขั้นรุนแรง

คำแนะนำก่อนการตรวจอุจจาระ 

ผู้ป่วยจะได้รับบรรจุภัณฑ์สำหรับเก็บตัวอย่างอุจจาระ โดยจะมีลักษณะปากกว้าง สะอาด แห้งและเป็นฝาปิดสูญญากาศ สถานพยาบาลบางแห่งอาจให้ผู้ป่วยใช้ทิชชู่ชนิดพิเศษเพื่อเก็บตัวอย่างอุจจาระ 

นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรทราบข้อควรระวังอื่น ๆ เช่น

  • หากมีปัสสาวะเจือปนอาจส่งผลต่อผลการตรวจ จึงควรปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนเก็บตัวอย่างอุจจาระ
  • ตัวอย่างอุจจาระที่นำไปตรวจจะต้องเก็บหลังจากผู้ป่วยขับถ่ายออกมาทันที เพื่อให้ปริมาณแบคทีเรียเทียบเท่ากันกับแบคทีเรียในลำไส้  
  • ในการเก็บตัวอย่างอุจจาระอาจใช้ภาชนะสำหรับอุจจาระบนเตียงหรือใช้พลาสติกแรป (Plastic Wrap) รองก่อนจะใช้อุปกรณ์ตักอุจจาระและนำใส่บรรจุภัณฑ์ 
  • ไม่ควรให้ทิชชู่สัมผัสกับตัวอย่างอุจจาระ และไม่ควรให้อุจจาระสัมผัสกับโถสุขภัณฑ์เพื่อไม่ให้เจือปนเชื้อโรคในบริเวณดังกล่าว
  • ไม่ควรเก็บตัวอย่างจนล้นบรรจุภัณฑ์ แต่ควรเก็บอุจจาระในบริเวณที่มีเลือด เมือกหรือเหลวเป็นน้ำ  

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดและควรแจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาทุกชนิด สมุนไพร วิตามิน อาหารเสริมและสารเสพติดที่กำลังใช้อยู่ในช่วงที่เข้ารับการตรวจ เพราะอาจส่งผลกับผลการตรวจอุจจาระได้

ผลการตรวจอุจจาระบอกอะไรได้บ้าง

แพทย์จะส่งตัวอย่างอุจจาระไปยังห้องปฏิบัติการโดยเร็วที่สุดเพื่อทำการเพาะเชื้อ หากผู้ป่วยไม่มีความผิดปกติใด ๆ ในร่างกาย ไม่มีการติดเชื้อหรือไม่มีเชื้อโรคอยู่ในอุจจาระตัวอย่าง ผลจากการทดสอบจะออกมาเป็นลบ (Negative) แต่หากแพทย์พบเชื้อโรค อย่างเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียชนิดต่าง ๆ ในตัวอย่างอุจจาระ ผลจากการทดสอบจะออกมาเป็นบวก (Positive) และผลการตรวจยังอาจระบุถึงสิ่งอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน เช่น ลักษณะภายนอกของอุจจาระ การมีเมือกหรือเลือดปนเปื้อน จำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวและจำนวนเซลล์เม็ดเลือดแดง ซึ่งแพทย์จะนำผลตรวจที่ได้ไปใช้เพื่อประกอบการวินิจฉัยและวางแผนการรักษาต่อไป

การตรวจอุจจาระนอกจากจะช่วยให้แพทย์ได้ข้อมูลที่มีประโยชน์ในการวินิจฉัยโรคต่าง ๆ แล้ว ยังช่วยให้แพทย์การติดตามอาการของผู้ป่วยได้ โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินอาหา และแม้ว่าการตรวจด้วยวิธีดังกล่าวจะไม่เสี่ยงต่อการเกิดอันตราย แต่ตัวอย่างอุจจาระอาจมีเชื้อโรคเจือปน จึงควรล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลังเก็บตัวอย่าง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น