Fosinopril (โฟซิโนพริล)

Fosinopril (โฟซิโนพริล)

Fosinopril (โฟซิโนพริล) เป็นยาในกลุ่มเอซีอี อินฮิบิเตอร์ (ACE inhibitor) ที่ออกฤทธิ์คลายหลอดเลือด ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดียิ่งขึ้น ใช้รักษาความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจวาย หรืออาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์

ยา Fosinopril มีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ

1685 Fosinopril rs

เกี่ยวกับยา Fosinopril

กลุ่มยา ยาเอซีอี อินฮิบิเตอร์
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาความดันโลหิตสูง และภาวะหัวใจวาย
กลุ่มผู้ป่วย เด็ก ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน

คำเตือนในการใช้ยา Fosinopril

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้หากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ และแพ้ยาชนิดอื่น อาหาร หรือสารใด ๆ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ ทั้งยาที่แพทย์สั่ง ยาที่ซื้อใช้ด้วยตนเอง วิตามิน และสมุนไพร เพราะมียาหลายชนิดที่อาจมีปฏิกิริยากับยานี้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาหากเคยเกิดภาวะปากและหน้าบวมชนิดแองจิโออีดีมา (Angioedema) และมีภาวะความดันโลหิตสูง
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาหากกำลังใช้ยาที่มีอะลิสคิเรนเป็นส่วนประกอบ ใช้ยาที่มีซาคูบิทริลเป็นส่วนประกอบในช่วง 36 ชั่วโมงก่อนหน้า มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง หรือมีภาวะไตทำงานผิดปกติ
  • แจ้งให้แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และทันตแพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยานี้ ก่อนเข้ารับการรักษาใด ๆ
  • ระหว่างที่ใช้ยาให้หลีกเลี่ยงการขับรถและทำกิจกรรมที่ต้องอาศัยความตื่นตัว
  • ลุกขึ้นจากท่านั่งหรือนอนอย่างช้า ๆ และระมัดระวังในการขึ้นลงบันได เพราะอาจเสี่ยงเกิดอาการเวียนศีรษะหรือวูบหมดสติได้ในขณะที่ใช้ยานี้
  • ผู้ป่วยต้องเข้ารับการตรวจเลือดและวัดความดันตามที่แพทย์สั่งในระหว่างที่ใช้ยา
  • แจ้งให้แพทย์หรือผู้ทำการตรวจทราบว่ากำลังใช้ยา Fosinopril เพราะยาอาจส่งผลให้การตรวจบางอย่างคลาดเคลื่อนได้
  • หากกำลังใช้สารทดแทนเกลือที่มีโพแทสเซียมเป็นส่วนประกอบ ใช้ยาขับปัสสาวะชนิดโพแทสเซียม-สแปริ่ง ไดยูเรติก หรือใช้ผลิตภัณฑ์โพแทสเซียมอื่น ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเสมอ
  • หญิงที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร ห้ามให้นมบุตรในระหว่างที่ใช้ยานี้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากผู้ป่วยต้องจำกัดการบริโภคเกลือหรือต้องงดเกลือ
  • หากต้องการดื่มแอลกอฮอล์ขณะอยู่ในช่วงใช้ยารักษานี้ ให้ปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
  • ระหว่างที่ใช้ยา ให้ระมัดระวังหากต้องอยู่ในที่ที่มีสภาพอากาศร้อนหรือต้องทำกิจกรรมใด ๆ และควรดื่มน้ำในปริมาณมากเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ

ปริมาณการใช้ยา Fosinopril

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

ความดันโลหิตสูง

ผู้ใหญ่
รับประทานยาปริมาณเริ่มต้น 10 มิลลิกรัม/วัน โดยรับประทานครั้งแรกในเวลาก่อนนอน
ปริมาณยาสำหรับควบคุมอาการ ให้รับประทานยาเริ่มต้น 10-40 มิลลิกรัม/วัน

เด็ก
น้ำหนักตัว 50 กิโลกรัมขึ้นไป ให้รับประทานยาปริมาณ 5-10 มิลลิกรัม/วัน

ภาวะหัวใจวาย 

ผู้ใหญ่
รับประทานยาปริมาณเริ่มต้น 10 มิลลิกรัม/วัน อาจเพิ่มปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 40 มิลลิกรัม/วัน
สำหรับผู้ป่วยที่เสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูง ให้รับประทานยาปริมาณเริ่มต้น 5 มิลลิกรัม/วัน

การใช้ยา Fosinopril

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
  • การใช้ยา Fosinopril อาจรับประทานพร้อมหรือไม่พร้อมมื้ออาหารก็ได้
  • ไม่ลืมกินยา เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษา
  • ใช้ยาอย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์สั่งแม้อาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม และใช้ยาในเวลาเดิมทุกวัน
  • ระหว่างที่ใช้ยา ให้ดื่มน้ำเปล่าในปริมาณมาก ยกเว้นแพทย์จะแนะนำให้ดื่มน้ำน้อย
  • ห้ามใช้ยาลดกรดในช่วง 2 ชั่วโมงก่อนหรือหลังใช้ยา Fosinopril
  • หากลืมใช้ยาตามเวลาที่กำหนด ให้ใช้ยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้ถึงเวลาใช้ยาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปใช้ยารอบต่อไป ห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
  • หากสงสัยว่าตนใช้ยาเกินปริมาณที่กำหนด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
  • ห้ามให้ผู้อื่นใช้ยานี้ และห้ามใช้ยาของผู้อื่น
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง
  • เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความร้อน แสงแดด และความชื้น โดยเก็บยาให้พ้นจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Fosinopril

การใช้ยา Fosinopril อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ไอ เวียนศีรษะ และหน้ามืดคล้ายจะเป็นลม เป็นต้น หากอาการดังกล่าวไม่หายไปหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์

หากพบผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้ยา Fosinopril ดังต่อไปนี้ ควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์

  • อาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก หน้าบวม ริมฝีปากบวม ลิ้นบวม คอบวม มีผื่นคัน ผิวหนังบวมแดง มีเม็ดพุพอง ผิวลอกพร้อมกับมีไข้หรือไม่มีไข้ แน่นหน้าอกหรือลำคอ หายใจเสียงดัง มีปัญหาในการหายใจหรือการพูด เป็นต้น
  • ไตผิดปกติ ทำให้มีอาการบางอย่าง เช่น ปัสสาวะไม่ออก ปริมาณปัสสาวะเปลี่ยนแปลง ปัสสาวะมีเลือดปน หรือน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เป็นต้น
  • ตับผิดปกติ ทำให้มีอาการข้างเคียง เช่น ไม่อยากอาหาร อาเจียน อ่อนเพลีย ตัวเหลืองตาเหลือง ท้องไส้ปั่นป่วน ปวดท้อง ปัสสาวะมีสีเข้ม อุจจาระมีสีซีด เป็นต้น
  • ระดับโพแทสเซียมในร่างกายสูง อาจมีอาการบางอย่าง เช่น หัวใจเต้นผิดปกติ ความคิดเปลี่ยนแปลงไป รู้สึกอ่อนแรง วิงเวียน รู้สึกคล้ายจะหมดสติ มีอาการชา และหายใจไม่อิ่ม เป็นต้น
  • ไออย่างต่อเนื่อง
  • ปวดท้องรุนแรง ท้องไส้ปั่นป่วนรุนแรง หรืออาเจียน
  • เวียนศีรษะรุนแรง หรือหมดสติ