Escitalopram (เอสซิตาโลแพรม)

Escitalopram (เอสซิตาโลแพรม)

Escitalopram (เอสซิตาโลแพรม) เป็นยาต้านเศร้าในกลุ่มเอสเอสอาร์ไอ (Selective Serotonin Reuptake Inhibitors: SSRI) ที่ออกฤทธิ์ช่วยปรับสมดุลของสารเซโรโทนินในสมอง ส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกมีเรี่ยวแรง รู้สึกดีต่อตนเอง หรือคลายความประหม่าได้ โดยนำมาใช้รักษาโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคแพนิค หรืออาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์

ยา Escitalopram มีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ

1643 Escitalopram resized

เกี่ยวกับยา Escitalopram

กลุ่มยา ยาต้านเศร้ากลุ่มเอสเอสอาร์ไอ
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคย้ำคิดย้ำทำ และโรคแพนิค
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน

 

คำเตือนในการใช้ยา Escitalopram

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาหากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ แพ้ยาชนิดอื่น อาหาร หรือสารใด ๆ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ ทั้งยาที่แพทย์สั่ง ยาที่ซื้อใช้ด้วยตนเอง วิตามิน และสมุนไพรใด ๆ เพราะมียาหลายชนิดที่อาจมีปฏิกิริยากับยานี้ โดยเฉพาะยาการใช้ยาบางชนิดภายใน 14 วันก่อนใช้ยานี้ เช่น ยาลีเนโซลิด ยาเมทิลีน บลู ยาพิโมไซด์ รวมไปถึงการใช้ยารักษาอาการซึมเศร้ากลุ่มอื่น ๆ และยารักษาโรคพาร์กินสัน เป็นต้น
  • แจ้งให้แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และทันตแพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยานี้ก่อนเข้ารับการรักษาใด ๆ
  • ห้ามหยุดใช้ยาโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ เพราะอาจเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้สูง
  • ระหว่างที่ใช้ยา ให้หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ การขับรถ หรือการทำกิจกรรมที่ต้องอาศัยความตื่นตัว จนกว่าจะแน่ใจว่ายาไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย เพราะยาอาจทำให้มีอาการวิงเวียนหรือง่วงซึมได้
  • อาการของผู้ป่วยจะดีขึ้นเร็วเมื่อใช้ยานี้ในการรักษาอาการซึมเศร้า มีปัญหาการนอนหลับ และความอยากอาหาร แต่อาการอื่น ๆ นอกจากนี้ อาจต้องใช้เวลาถึง 4 สัปดาห์ จึงจะเริ่มเห็นผลการรักษา
  • แพทย์อาจตรวจสุขภาพดวงตาของผู้ป่วยเป็นระยะ เพราะยาอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับดวงตา และควรแจ้งแพทย์ทันทีหากพบว่าตนมีอาการเจ็บตา การมองเห็นเปลี่ยนแปลง ตาบวม หรือแดงรอบดวงตาในระหว่างที่ใช้ยานี้
  • ยา Escitalopram อาจเพิ่มความเสี่ยงให้มีเลือดออกง่ายขึ้น และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น ผู้ป่วยต้องปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงดังกล่าวก่อนใช้ยา
  • ยานี้อาจทำให้ระดับโซเดียมในร่างกายลดลง และหากลดต่ำลงมากเกินไปก็อาจส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ ที่อาจเป็นอันตรายได้ เช่น ชัก หมดสติ มีปัญหาในการหายใจ หรือเสียชีวิต เป็นต้น
  • ยา Escitalopram อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะในกลุ่มอาการระยะคิวทียาว ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต และอาจส่งผลให้เกิดอาการอื่น ๆ เช่น เวียนศีรษะอย่างรุนแรง หน้ามืด เป็นต้น หากผู้ป่วยพบอาการดังกล่าวต้องไปพบแพทย์ทันที
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาหากมีภาวะหัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นช้า โรคหัวใจขาดเลือด ภาวะหัวใจหยุดเต้น มีปัญหาหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือมีประวัติคนในครอบครัวมีปัญหาหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • หากใช้ยานี้กับเด็ก ต้องใช้อย่างระมัดระวัง และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดเสมอ
  • ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปให้ใช้ยานี้อย่างระมัดระวัง เพราะเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาสูง
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์ วางแผนมีบุตร หรือกำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและข้อเสียของยาก่อนใช้เสมอ
  • การใช้ยานี้ในระหว่างตั้งครรภ์อาจทำให้ทารกเกิดอาการถอนยา เช่น มีปัญหาในการหายใจหรือกินอาหาร ชัก กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง เป็นต้น โดยเฉพาะการใช้ยาในช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์

ปริมาณการใช้ยา Escitalopram

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

รักษาโรคซึมเศร้า รควิตกกังวล และโรคย้ำคิดย้ำทำ

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 10 มิลลิกรัม/วัน หากจำเป็นให้เพิ่มปริมาณยาหลังผ่านไป 1 สัปดาห์ โดยปริมาณยาสูงสุดต้องไม่เกิน 20 มิลลิกรัม/วัน

ผู้สูงอายุ ใช้ยาในปริมาณลดลงครึ่งหนึ่งจากของผู้ใหญ่

รักษาโรคแพนิค

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณเริ่มต้น 5 มิลลิกรัม/วัน เพิ่มปริมาณยาหลังผ่านไป 1 สัปดาห์เป็น 10 มิลลิกรัม/วัน โดยปริมาณยาสูงสุดต้องไม่เกิน 20 มิลลิกรัม/วัน

ผู้สูงอายุ ใช้ยาในปริมาณลดลงครึ่งหนึ่งจากของผู้ใหญ่

การใช้ยา Escitalopram

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
  • การใช้ยา Escitalopram นั้น สามารถรับประทานพร้อมอาหารหรือไม่ก็ได้
  • ควรใช้ยานี้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดทางการรักษา
  • หากลืมรับประทานยา ให้รับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากใกล้กับเวลาที่ต้องใช้ยาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปใช้ยารอบต่อไป และห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
  • หากสงสัยว่าตนใช้ยาเกินกว่าปริมาณที่กำหนด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง
  • ห้ามให้ผู้อื่นใช้ยานี้ และห้ามใช้ยาของผู้อื่น
  • เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความร้อน แสงแดด และความชื้น โดยเก็บให้พ้นจากสายตาเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถึงวิธีการเก็บยาที่ถูกต้อง รวมถึงวิธีการกำจัดยาที่ไม่ได้ใช้แล้วอย่างเหมาะสม

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Escitalopram

การใช้ยา Escitalopram อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ปากแห้ง นอนไม่หลับ มีเหงื่อออกมาก เวียนศีรษะ ท้องไส้ปั่นป่วน ท้องผูก ท้องเสีย อ่อนแรง รู้สึกเหนื่อย หาว ง่วงนอน เป็นต้น หากอาการดังกล่าวไม่หายไปหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์

หากพบผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้ยา Escitalopram ดังต่อไปนี้ ควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันที

  • อาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก หน้าบวม ริมฝีปากบวม ลิ้นบวม คอบวม มีผื่นคัน ผิวหนังบวมแดง มีเม็ดพุพอง ผิวลอกพร้อมกับมีไข้หรือไม่มีไข้ แน่นหน้าอกหรือลำคอ หายใจเสียงดัง มีปัญหาในการหายใจหรือการพูด เป็นต้น
  • แน่นหน้าอก หรือเจ็บหน้าอก
  • เวียนศีรษะรุนแรง หรือหมดสติ
  • ระดับโซเดียมในร่างกายต่ำ ซึ่งอาจมีอาการบางอย่าง เช่น เวียนศีรษะ ไม่มีสมาธิ มีปัญหาเกี่ยวกับความทรงจำ สับสน อ่อนแรง เสียการทรงตัว และชัก เป็นต้น
  • มีเลือดออกในร่างกาย ซึ่งอาจมีอาการบางอย่าง เช่น มีรอยช้ำ อาเจียนเป็นเลือดหรือเป็นสีน้ำตาลเข้ม ไอเป็นเลือด ปัสสาวะปนเลือด อุจจาระมีสีดำหรือมีเลือดปน เลือดออกจากช่องคลอด มีเลือดออกมากหรือเลือดไหลไม่หยุด เป็นต้น
  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ
  • มีปัญหาเรื่องเพศ เช่น ความสนใจเรื่องเพศลดลง หรือมีปัญหาในการหลั่งน้ำอสุจิ เป็นต้น
  • เจ็บอวัยวะเพศชายในขณะแข็งตัว โดยอวัยวะเพศชายแข็งตัวนานกว่า 4 ชั่วโมงขึ้นไป
  • กลุ่มอาการเซโรโทนินซินโดรม เช่น กระสับกระส่าย สับสน หลอน เสียการทรงตัว มีไข้ หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดปกติ กล้ามเนื้อกระตุกหรือเกร็ง หนาวสั่น ชัก เหงื่อออกมาก ท้องไส้ปั่นป่วน ท้องเสียรุนแรง ปวดศีรษะรุนแรง และอาเจียน เป็นต้น โดยความเสี่ยงเผชิญอาการเหล่านี้จะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อใช้ยานี้ร่วมกับยารักษาอาการซึมเศร้า ยาไมเกรน หรือยาอื่น ๆ