ความบกพร่องในการเรียนรู้ (Dyslexia)

ความหมาย ความบกพร่องในการเรียนรู้ (Dyslexia)

Dyslexia คือภาวะผิดปกติเกี่ยวกับการเรียนรู้ภาษาที่ส่งผลให้ไม่สามารถอ่าน สะกดคำ หรือเขียนหนังสือได้ เนื่องจากมีปัญหาเกี่ยวกับการแยกเสียงตัวอักษรและการเชื่อมโยงเสียงตัวอักษรเข้ากับรูปคำต่าง ๆ ซึ่งผู้ที่ประสบปัญหานี้มีระดับสติปัญญาและการมองเห็นเป็นปกติ สามารถเรียนหนังสือได้เหมือนคนทั่วไป เพียงแต่ต้องพยายามอย่างมากและใช้เวลานานในการอ่านหนังสือ ไม่ได้มีปัญหาด้านเชาว์ปัญญาเหมือนผู้ที่มีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้

Dyslexia

อาการของความบกพร่องในการเรียนรู้

โดยทั่วไปแล้ว อาการของ Dyslexia สังเกตได้ยากเมื่อเด็กยังไม่ได้เข้าเรียน แต่จะเห็นความผิดปกติชัดขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยเรียนและวัยรุ่น ผู้ที่มีภาวะนี้จะแสดงอาการแตกต่างกันไปตามแต่ละช่วงวัย ดังนี้

  • วัยก่อนเข้าเรียน แม้เด็กก่อนวัยเรียนที่มีภาวะ Dyslexia มักไม่แสดงอาการชัดเจนจนกว่าจะเริ่มเข้าเรียนหนังสือ แต่บางรายอาจมีอาการที่สังเกตได้ดังต่อไปนี้
    • พูดช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกัน
    • มีปัญหาด้านการพูด เช่น ออกเสียงคำที่มีหลายพยางค์ไม่ได้ เป็นต้น
    • มีปัญหาเกี่ยวกับการจำตัวอักษร ตัวเลข และสี
    • สะกดคำไม่ได้ เรียนรู้คำใหม่ได้ช้า
    • ไม่เข้าใจเกี่ยวกับการเล่นเสียงสัมผัสของกลอนหรือเพลง
  • วัยเริ่มเข้าเรียน เด็กจะเริ่มมีอาการของภาวะนี้ให้เห็นชัดเจนขึ้น โดยอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการอ่านและเขียนหนังสือ ดังนี้
    • มีปัญหาเกี่ยวกับการเรียนรู้และจดจำชื่อหรือเสียงของตัวอักษร
    • มีปัญหาในการแยกความแตกต่างของรูปคำและเสียงตัวอักษร
    • มีปัญหาด้านการจดจำลำดับของสิ่งต่าง ๆ
    • มีพัฒนาการด้านการสะกดคำและอ่านหนังสือที่ช้ากว่าปกติ
    • อ่านออกเสียงคำที่ไม่คุ้นเคยไม่ได้
    • ไม่สามารถเลือกใช้คำพูดในการสื่อสารได้อย่างเหมาะสม
    • เขียนตัวอักษรหรือตัวเลขผิด เช่น เขียนเลข 6 เป็นเลข 9 เป็นต้น
  • วัยรุ่นและผู้ใหญ่ เด็กวัยรุ่นและผู้ใหญ่ที่ประสบภาวะนี้มักมีอาการไม่ต่างจากเด็กวัยอื่น อาการที่พบได้ มีดังนี้
    • อ่านและเขียนหนังสือช้า ทำให้ทำงานที่ต้องใช้ทักษะการอ่านและการเขียนเสร็จช้ากว่าปกติ
    • สรุปใจความสำคัญของเรื่องต่าง ๆ ไม่ค่อยได้ หรือเรียบเรียงงานเขียนได้ไม่ดี
    • มีปัญหาเรื่องการสะกดคำ
    • ออกเสียงชื่อหรือคำต่าง ๆ ผิด
    • ไม่ค่อยเข้าใจมุกที่มีการเล่นคำหรือความหมายของสำนวนต่าง ๆ
    • มีปัญหาในการเรียนภาษาต่างประเทศ
    • มีปัญหาด้านการจดจำหรือการคำนวณ

พ่อแม่ควรหมั่นสังเกตบุตรหลานว่ามีอาการของภาวะ Dyslexia หรือไม่ หากสงสัยว่าเด็กประสบภาวะนี้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีรักษา เพราะหากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง เด็กจะมีปัญหาดังกล่าวไปจนโต

สาเหตุของความบกพร่องในการเรียนรู้

ปัจจุบันทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุของภาวะ Dyslexia อย่างชัดเจน แต่มีแนวโน้มที่จะถ่ายทอดทางพันธุกรรม โดยผู้ที่ประสบภาวะนี้อาจได้รับยีนบางตัวมาจากพ่อแม่ ซึ่งส่งผลต่อสมองส่วนที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ภาษาและการอ่านหนังสือ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่ส่งผลให้เกิดภาวะ Dyslexia ได้ ดังนี้

  • บุคคลในครอบครัวมีภาวะ Dyslexia หรือมีปัญหาด้านการเรียนรู้อื่น ๆ
  • เด็กที่คลอดก่อนกำหนดหรือมีน้ำหนักตัวแรกเกิดต่ำกว่าปกติ
  • การได้รับยา สารเสพติด หรือแอลกอฮอล์ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ รวมถึงการเกิดภาวะติดเชื้อของมารดาที่อาจส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองของทารกในครรภ์

การวินิจฉัยความบกพร่องในการเรียนรู้

ภาวะ Dyslexia เป็นปัญหาสุขภาพที่วินิจฉัยได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากแพทย์ต้องพิจารณาจากหลายปัจจัยประกอบกัน เพื่อให้ได้ข้อสรุปแน่ชัดว่าความผิดปกติที่เกิดขึ้นไม่ได้มีสาเหตุมาจากการมีระดับสติปัญญาต่ำ สมรรถภาพการได้ยินหรือมองเห็นเสื่อมลง หรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ โดยใช้ข้อมูลและวิธีวินิจฉัย ดังนี้

  • พัฒนาการและประวัติการรักษาทั่วไป แพทย์จะสอบถามเกี่ยวกับอาการที่เกิดขึ้น ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต และสอบถามว่ามีบุคคลในครอบครัวที่เคยประสบภาวะนี้หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการเรียนรู้ด้านอื่น ๆ หรือไม่
  • สภาพแวดล้อมทางบ้าน แพทย์จะซักถามเรื่องราวทั่วไปเกี่ยวกับสมาชิกในครอบครัวและปัญหาทางบ้านของผู้ป่วย
  • แบบสอบถาม แพทย์อาจให้เด็ก บุคคลในครอบครัว หรือครูที่เป็นผู้สอนทำแบบสอบถามประกอบการวินิจฉัย รวมทั้งอาจให้เด็กทำแบบทดสอบความสามารถด้านการอ่านและการเรียนภาษาด้วยเช่นกัน
  • การตรวจสมรรถภาพร่างกาย เด็กที่ประสบภาวะนี้อาจได้รับการตรวจการมองเห็น การได้ยิน และตรวจการทำงานของสมอง เพื่อดูว่าเด็กมีปัญหาสุขภาพอื่นที่เป็นสาเหตุให้อ่านหนังสือไม่ได้หรือไม่
  • การทดสอบทางจิตวิทยา แพทย์จะให้เด็กหรือพ่อแม่ของเด็กทำแบบทดสอบทางจิตวิทยาเพื่อประเมินสุขภาพจิตโดยรวมของเด็ก วิธีนี้จะช่วยให้ทราบว่าความผิดปกติที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากปัญหาการเข้าสังคม ความวิตกกังวล หรืออาการซึมเศร้าของเด็กหรือไม่
  • การทดสอบทักษะการเรียนรู้ เป็นการให้เด็กทำแบบทดสอบทักษะทางการเรียนรู้และเข้ารับการวิเคราะห์ทักษะการอ่านจากผู้เชี่ยวชาญโดยตรง เพื่อประเมินทักษะและความสามารถด้านการเรียนรู้ของเด็ก

การรักษาความบกพร่องในการเรียนรู้

ภาวะ Dyslexia ถือเป็นปัญหาสุขภาพเรื้อรังและยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด อย่างไรก็ตาม การตรวจพบและได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้อาการของโรคดีขึ้นได้ วิธีรักษาภาวะ Dyslexia มีดังนี้

  • พัฒนาทักษะการเรียนรู้ที่โรงเรียน ครูผู้สอนจะจัดโปรแกรมการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับผู้ที่ประสบภาวะนี้ โดยเน้นเพิ่มความสามารถด้านการอ่านด้วยการใช้ทักษะการมอง การฟัง และการสัมผัส เช่น ให้เด็กฟังเทปบันทึกเสียงพร้อมกับชี้นิ้วอ่านตามคำที่ได้ยิน เป็นต้น วิธีนี้จะช่วยให้เด็กเข้าใจและจดจำคำต่าง ๆ ได้ สะกดคำเป็น รวมทั้งเข้าใจสิ่งที่อ่านมากขึ้น
  • วิธีพัฒนาทักษะด้วยตนเองสำหรับเด็ก พ่อแม่ช่วยให้เด็กที่มีภาวะ Dyslexia มีความสามารถในการเรียนรู้ที่ดีขึ้นได้ ดังนี้
    • สังเกตว่าเด็กมีอาการของภาวะ Dyslexia หรือไม่ หากพบอาการดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์ เนื่องจากการรักษาตั้งแต่เด็กอายุยังน้อยจะช่วยให้อาการดีขึ้นได้มาก
    • ให้เด็กหัดฟังหนังสือเสียงตั้งแต่อายุ 6 เดือนหรือน้อยกว่านั้น เมื่อเด็กเริ่มโตขึ้นแล้วจึงฝึกอ่านนิทานไปพร้อมกับเด็ก
    • ปรึกษาครูผู้สอนเกี่ยวกับการจัดแผนการเรียนที่เสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ของเด็กอย่างเหมาะสม
    • กระตุ้นให้เด็กฝึกอ่านหนังสืออย่างสม่ำเสมอเพื่อพัฒนาทักษะดังกล่าว โดยอาจกำหนดเวลาสำหรับการอ่านหนังสือในแต่ละวันอย่างชัดเจน
  • วิธีพัฒนาทักษะด้วยตนเองสำหรับผู้ใหญ่ ผู้ที่ประสบภาวะ Dyslexia มีโอกาสประสบความสำเร็จด้านการเรียนหรือการทำงานได้จากการฝึกทักษะเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของตัวเองอย่างต่อเนื่อง ดังนี้
    • หมั่นทำแบบทดสอบประเมินทักษะตัวเองและหาวิธีช่วยฝึกทักษะการอ่านและการเขียน
    • เข้ารับการอบรมที่เอื้อต่อการพัฒนาทักษะการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ
  • เรียนรู้วิธีรับมืออื่น ๆ การเรียนรู้วิธีรับมือกับอารมณ์และความรู้สึกของตนเองหรือคนใกล้ชิดที่ประสบปัญหานี้ รวมถึงการสนับสนุนหรือให้กำลังใจ จะช่วยผลักดันให้ผู้ที่มีภาวะ Dyslexia ทำสิ่งต่าง ๆ และใช้ชีวิตได้ตามปกติ ทำได้ดังนี้
    • ทำความเข้าใจโรค ผู้ป่วยควรหาข้อมูลหรือปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับภาวะ Dyslexia เพื่อทำความเข้าใจว่าภาวะนี้ไม่ใช่โรคร้ายแรงและมีทางแก้ไขได้ ส่วนผู้ที่เป็นพ่อแม่ควรอธิบายให้เด็กรู้ว่าการประสบภาวะดังกล่าวไม่ใช่ความล้มเหลวของการใช้ชีวิต
    • ให้กำลังใจ ผู้คนรอบข้างควรกระตุ้นให้ผู้ที่มีปัญหานี้เกิดความเชื่อมั่นในตนเองและเห็นคุณค่าในความสามารถและข้อดีที่ตนมี
    • หมั่นฝึกฝนทักษะตนเอง ควรจำกัดเวลาการเล่นอินเทอร์เน็ตหรือดูโทรทัศน์อย่างเหมาะสม รวมทั้งกำหนดตารางเวลาในการฝึกอ่านหนังสือให้ชัดเจน เลือกสถานที่ที่เงียบสงบและเป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อช่วยให้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
    • ปรึกษาครูผู้สอน พ่อแม่อาจซักถามหรือปรึกษาครูผู้สอนเกี่ยวกับแผนการเรียน และอาจขอให้ครูผู้สอนอัดเสียงการเรียนการสอนในชั้นเรียนเพื่อนำมาเปิดให้เด็กฟังซ้ำ
    • เข้าร่วมกลุ่มสนับสนุนต่าง ๆ วิธีนี้จะช่วยให้ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับภาวะ Dyslexia รวมทั้งช่วยให้ผู้ที่เกิดภาวะนี้เรียนรู้วิธีรับมือกับอารมณ์ของตนเองได้อย่างเหมาะสม

ภาวะแทรกซ้อนจากความบกพร่องในการเรียนรู้

เด็กที่ประสบภาวะ Dyslexia นั้นเสี่ยงเกิดโรคสมาธิสั้นได้ ซึ่งเป็นภาวะที่เด็กจดจ่อกับสิ่งที่ทำได้ยากและมีพฤติกรรมขาดความยับยั้งชั่งใจ ส่งผลให้การรักษาทำได้ยากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ เด็กที่มีภาวะ Dyslexia อาจมีปัญหาด้านต่าง ๆ ตามมา ดังนี้

  • ปัญหาด้านการเรียนรู้ เด็กจะสูญเสียโอกาสในการได้รับความรู้ทางด้านวิชาการและเรียนไม่ทันเพื่อน เนื่องจากมีปัญหาเกี่ยวกับการอ่านหนังสืออันเป็นทักษะพื้นฐานของการเรียนรู้
  • ปัญหาด้านการเข้าสังคม เด็กที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องเสี่ยงเกิดปัญหาในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง โดยเด็กอาจมีความเชื่อมั่นในตัวเองต่ำ ขี้กังวล ก้าวร้าว และมักแยกตัวออกจากครอบครัวและเพื่อนฝูง
  • ปัญหาอื่น ๆ เด็กที่ประสบภาวะนี้เสี่ยงเกิดปัญหาต่าง ๆ ได้เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียนหรือการเข้าสังคม เนื่องจากมีปัญหาเกี่ยวกับการอ่านและการทำความเข้าใจตรรกะต่าง ๆ ส่งผลให้เด็กไม่สามารถพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่

การป้องกันความบกพร่องในการเรียนรู้

เนื่องจากภาวะ Dyslexia นั้นไม่สามารถระบุสาเหตุได้อย่างแน่ชัด จึงไม่มีวิธีป้องกันปัญหานี้ได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่วางแผนมีบุตรหรือกำลังตั้งครรภ์สามารถเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงของภาวะ Dyslexia อย่างการคลอดก่อนกำหนดหรือมีน้ำหนักตัวแรกคลอดต่ำกว่าเกณฑ์ได้ด้วยการดูแลตัวเองขณะตั้งครรภ์ ดังนี้

  • รับประทานอาหารให้ครบถ้วนตามหลักโภชนาการ
  • กินแคลเซียม เสริมวันละ 1,000 มิลลิกรัม
  • รับประทานยาแอสไพรินวันละ 60-80 มิลลิกรัม เนื่องจากอาจช่วยให้ผู้ที่มีประวัติคลอดก่อนกำหนดหรือครรภ์เป็นพิษ รวมทั้งผู้ที่ความดันโลหิตสูงเรื้อรังเสี่ยงเกิดภาวะคลอดก่อนกำหนดน้อยลง
  • เลี่ยงการสัมผัส สูดดม หรือรับประทานอาหารที่มีสารเคมีเจือปน
  • ใส่อุปกรณ์ช่วยพยุงอุ้งเชิงกราน (Pessary)
  • ผู้ที่เคยคลอดบุตรก่อนกำหนดอาจปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการใช้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเสริมหรือเข้ารับการเย็บผูกปากมดลูกเพื่อลดความเสี่ยง