Duloxetine (ดูล็อกซีทีน)

Duloxetine (ดูล็อกซีทีน)

Duloxetine (ดูล็อกซีทีน) เป็นยาต้านเศร้าในกลุ่มเอสเอ็นอาร์ไอ (SNRIs) ออกฤทธิ์โดยช่วยปรับสมดุลของสารเซโรโทนินและนอร์อิพิเนฟรินในสมอง ซึ่งจะส่งผลต่อระดับอารมณ์และความเจ็บปวดของผู้ป่วย นำมาใช้รักษาภาวะซึมเศร้าในผู้ใหญ่ ใช้รักษาโรควิตกกังวลในผู้ใหญ่และเด็กอายุ 7 ปีขึ้นไป ใช้บรรเทาอาการปวดของเส้นประสาทที่มีสาเหตุมาจากเบาหวาน รวมทั้งอาจใช้รักษาอาการปวดเรื้อรังอื่น ๆ เช่น โรคข้ออักเสบ อาการปวดหลัง และโรคไฟโบมัยอัลเจีย เป็นต้น

1937 Duloxetine rs

เกี่ยวกับยา Duloxetine

กลุ่มยา ยาต้านเศร้ากลุ่มเอสเอ็นอาร์ไอ
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาภาวะซึมเศร้า และอาการปวดบางชนิด
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ Category C จากการศึกษาในสัตว์พบว่า ทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์
แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทดลองในมนุษย์และสัตว์ ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่า มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์

คำเตือนในการใช้ยา Duloxetine

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาหากมีประวัติแพ้ยา Duloxetine หรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ รวมถึงการแพ้ยาชนิดอื่น ๆ
  • หากเคยมีประวัติป่วยด้วยโรคทางจิตเวช โรคไบโพลาร์ ภาวะซึมเศร้า ปัญหาเกี่ยวกับเลือด ความดันโลหิตสูง โรคไต โรคตับ โรคต้อหินมุมปิด โรคลมชักหรืออาการชัก รวมถึงความคิดฆ่าตัวตาย ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา
  • ห้ามใช้ยา Duloxetine ภายในเวลา 5 วันก่อนหรือ 14 วันหลังจากการใช้ยาต้านเศร้ากลุ่มเอ็มเอโอไออย่างลีเนโซลิดและเซเลกิลีน เนื่องจากอาจเกิดปฏิกิริยาที่ทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยได้
  • ผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุมักไวต่อผลข้างเคียงจากการใช้ยา โดยอาจมีอาการเลือดออก เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย สูญเสียสมดุลในร่างกายและสมดุลของเกลือแร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากใช้ร่วมกับยาขับปัสสาวะ จึงควรปรึกษาแพทย์อย่างละเอียดก่อนใช้ยาเสมอ
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ การใช้สารเสพติด การขับรถ การใช้เครื่องจักร หรือการทำกิจกรรมที่ต้องอาศัยความตื่นตัวในระหว่างที่ใช้ยา จนกว่าจะแน่ใจว่ายานี้ไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย เนื่องจากยา Duloxetine อาจส่งผลให้มีอาการวิงเวียนหรือง่วงซึมได้
  • สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน การใช้ยานี้อาจส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด จึงควรตรวจเลือดอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งเปลี่ยนแปลงการออกกำลังกายและการรับประทานอาหารให้เหมาะสมด้วย
  • หากผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาและผลิตภัณฑ์ที่บริโภคอยู่
  • เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา เพราะยาชนิดนี้อาจทำให้รู้สึกเบื่ออาหารและมีน้ำหนักตัวลดลง
  • สำหรับสตรีมีครรภ์ ควรใช้ยาชนิดนี้เมื่อจำเป็นเท่านั้น เนื่องจากยาอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ โดยทารกที่คลอดออกมาอาจมีปัญหาเรื่องการรับประทานอาหาร การหายใจ ทั้งยังอาจมีอาการชัก กล้ามเนื้อแข็ง หรือร้องไห้อย่างต่อเนื่อง
  • ผู้ที่กำลังวางแผนมีบุตร ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับประโยชน์และความเสี่ยงในการใช้ยา และควรปรึกษาแพทย์ในทันทีหากตั้งครรภ์หรือสงสัยว่าตนเองตั้งครรภ์ในระหว่างที่ใช้ยา
  • หากอยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้ยาด้วย เนื่องจากยาชนิดนี้สามารถส่งผ่านทางน้ำนมและทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อบุตรได้

ปริมาณการใช้ยา Duloxetine

ภาวะซึมเศร้า

ตัวอย่างการใช้ยา Duloxetine เพื่อรักษาภาวะซึมเศร้า

ผู้ใหญ่ รับประทานยาเริ่มต้นครั้งละ 20-30 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง หรือครั้งละ 60 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง และเพิ่มปริมาณยา 30 มิลลิกรัม/วัน หลังจากผ่านไป 1 สัปดาห์ ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 120 มิลลิกรัม/วัน

โรควิตกกังวล

ตัวอย่างการใช้ยา Duloxetine เพื่อรักษาโรควิตกกังวล

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 30 หรือ 60 มิลลิกรัม/วัน วันละ 1 ครั้ง ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 120 มิลลิกรัม/วัน

โรคเส้นประสาทที่เกิดจากเบาหวาน

ตัวอย่างการใช้ยา Duloxetine เพื่อรักษาโรคเส้นประสาทที่เกิดจากเบาหวาน

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 60 มิลลิกรัม/วัน วันละ 1 ครั้ง ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 120 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานวันละ 2 ครั้ง

โรคไฟโบรมัยอัลเจีย

ตัวอย่างการใช้ยา Duloxetine เพื่อรักษาโรคไฟโบรมัยอัลเจีย

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 30 มิลลิกรัม/วัน วันละ 1 ครั้ง สามารถเพิ่มปริมาณยาเป็น 60 มิลลิกรัม/วัน ได้ หลังผ่านไป 1 สัปดาห์

การใช้ยา Duloxetine

  • ใช้ยาตามฉลากและปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
  • รับประทานยาโดยกลืนยาทั้งเม็ด ห้ามหัก บด หรือเคี้ยวยา
  • ห้ามแบ่งยารับประทานร่วมกับผู้อื่น
  • ห้ามใช้ยาในปริมาณมากหรือน้อยกว่าที่แพทย์แนะนำหรือตามที่ฉลากระบุไว้ และห้ามใช้ยานานเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนด
  • รับประทานยา Duloxetine ได้ทั้งพร้อมมื้ออาหารหรือในขณะท้องว่าง
  • หากผู้ป่วยลืมรับประทานยา ให้รับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากใกล้กับเวลาที่ต้องใช้ยาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปใช้ยารอบต่อไป โดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณยา
  • ผู้ป่วยมักมีอาการดีขึ้นหลังจากใช้ยาประมาณ 1-4 สัปดาห์ แต่ห้ามหยุดใช้ยาโดยไม่ได้รับคำสั่งจากแพทย์
  • ระหว่างใช้ยา Duloxetine หากผู้ป่วยต้องใช้ยาต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือ NSAIDs เพื่อลดอาการปวด ข้ออักเสบ ไข้ หรืออาการบวม ควรรีบปรึกษาแพทย์ เนื่องจากผู้ป่วยอาจมีอาการฟกช้ำหรือมีเลือดออกได้ง่าย
  • เก็บรักษายาในอุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความร้อน แสงแดด และความชื้น ห้ามเก็บในห้องน้ำ และควรเก็บยาให้พ้นจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Duloxetine

การใช้ยา Duloxetine อาจมีผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไป เช่น คลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องอืด ท้องผูก ปากแห้ง เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ง่วงนอน และมีเหงื่อออก เป็นต้น ทั้งยังอาจมีอาการวิงเวียนศีรษะ และมีปัญหาในการลุกขึ้นจากท่านั่งหรือท่านอน ซึ่งมักเกิดขึ้นหลังจากเพิ่มปริมาณยา แต่หากผู้ป่วยมีอาการแพ้อย่างรุนแรง อาจมีอาการต่าง ๆ เช่น มีผื่นหรือตุ่มพองขึ้นบนผิวหนัง มีอาการบวมบริเวณใบหน้า ลิ้น และคอ เวียนศีรษะอย่างรุนแรง หายใจลำบาก และเกิดแผลในปาก เป็นต้น ซึ่งผู้ที่มีอาการแพ้ดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์ทันที นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีความดันโลหิตสูงด้วย จึงควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจอย่างสม่ำเสมอในระหว่างการรักษา

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีระดับเซโรโทนินมากเกินไป อาจส่งผลให้เกิดกลุ่มอาการเซโรโทนิน หากผู้ป่วยใช้ยาชนิดอื่นที่ออกฤทธิ์เพิ่มระดับเซโรโทนินร่วมด้วยก็อาจมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดกลุ่มอาการนี้มากขึ้น ซึ่งผู้ป่วยอาจมีอาการ เช่น หัวใจเต้นเร็ว เห็นภาพหลอน สูญเสียการทำงานประสานกันของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียอย่างรุนแรง กล้ามเนื้อกระตุก มีไข้หนาวสั่นที่อธิบายสาเหตุไม่ได้ รู้สึกกระวนกระวาย และอยู่ไม่เป็นสุข เป็นต้น หากผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวก็ควรไปพบแพทย์ทันที

นอกจากนี้ หากผู้ป่วยมีผลข้างเคียงอื่น ๆ ที่รุนแรงดังต่อไปนี้ ควรหยุดใช้ยาและรีบไปพบแพทย์ทันทีเช่นกัน

  • เกิดรอยช้ำง่าย หรือมีเลือดออกผิดปกติ
  • มีความต้องการทางเพศลดลงและมีสมรรถภาพทางเพศที่ลดลง
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง ตัวสั่น กล้ามเนื้อกระตุก หรือเป็นตะคริว
  • มีอาการชัก
  • ปัสสาวะลำบากและมีสีเข้ม
  • อุจจาระมีสีดำหรือมีเลือดปน
  • อาเจียนเป็นสีดำ หรืออาเจียนเป็นเลือด
  • การมองเห็นเปลี่ยนแปลงไป เช่น เห็นแสงรุ้งรอบดวงไฟ สายตาพร่ามัว เป็นต้น
  • รูม่านตาขยาย เจ็บตา ตาบวมหรือแดงรอบดวงตา
  • มีอาการของภาวะอารมณ์ดีตื่นตัวผิดปกติ เช่น คิดเร็ว หุนหันพลันแล่น พูดมาก และนอนไม่หลับ เป็นต้น
  • มีอาการผิดปกติที่เกี่ยวกับตับ เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ ตัวเหลืองหรือตาเหลือง เป็นต้น
  • ระดับโซเดียมในร่างกายลดต่ำ อาจมีอาการต่าง ๆ เช่น ปวดศีรษะ พูดไม่ชัด รู้สึกสับสน อ่อนเพลีย อาเจียน สูญเสียการทำงานประสานกันของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย และทรงตัวลำบาก เป็นต้น