แผลที่กระจกตา (Corneal Ulcer)

ความหมาย แผลที่กระจกตา (Corneal Ulcer)

Corneal Ulcer (แผลที่กระจกตา) เป็นแผลที่เกิดบริเวณกระจกตา มักมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา หรือการบาดเจ็บเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งหากอาการรุนแรงก็อาจทำให้สูญเสียการมองเห็นหรือตาบอดได้ โดยอาการนี้พบได้บ่อยในผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์

1761 Corneal ulcer rs

อาการของ Corneal Ulcer

โดยทั่วไป ผู้ป่วยมักมีอาการต่าง ๆ ดังนี้

  • ปวดตา โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในบริเวณที่มีแสงสว่างมาก  
  • คันตา ตามัว
  • ตาอักเสบ เปลือกตาบวม
  • อาจพบจุดสีเทาหรือสีขาวขนาดเล็กบริเวณดวงตา
  • แสบตา มีน้ำตาไหลออกมาตลอดเวลา
  • รู้สึกมีบางอย่างอยู่ในตา
  • มีหนองหรือของเหลวไหลออกจากตา

การมีแผลที่กระจกตาถือเป็นอาการที่ค่อนข้างรุนแรง ดังนั้น ผู้ป่วยควรรีบไปรับการรักษาจากแพทย์ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเป็นอันตรายยิ่งขึ้น  

สาเหตุของ Corneal Ulcer

Corneal Ulcer ส่วนใหญ่นั้นเกิดจากการติดเชื้อ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากเชื้อหลายชนิด ดังนี้

  • เชื้อแบคทีเรีย เมื่อกระจกตาเป็นรอยหรือได้รับความเสียหาย อาจทำให้เชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ดวงตา หรือแบคทีเรียบางชนิดอาจผลิตสารที่เป็นพิษเข้าไปในกระจกตาและทำให้เกิดแผลตามมาได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดได้บ่อยกับผู้ที่ใช้คอนแทคเลนส์ เพราะกระจกตาอาจเกิดรอยข่วนขณะใส่คอนแทคเลนส์
  • เชื้อไวรัส Corneal Ulcer อาจเกิดได้จากไวรัสหลายชนิด แต่ที่พบมักเป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคเริม โรคอีสุกอีใส หรือโรคงูสวัด  
  • เชื้อรา เกิดจากการไม่ระมัดระวังในการใส่คอนแทคเลนส์ กระจกตาถูกกระทบจากวัตถุของต้นไม้หรือพันธุ์พืชต่าง ๆ รวมทั้งอาจติดเชื้อรานี้เนื่องจากผู้ป่วยมีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอได้เช่นกัน
  • เชื้ออะมีบา มักเกิดกับผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ และผู้ที่ติดเชื้ออะมีบาอาจเสี่ยงเผชิญภาวะตาบอดได้ด้วย แต่ก็เกิดขึ้นได้ค่อนข้างยาก

นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุหรือปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิด Corneal Ulcer ได้ด้วย เช่น

  • อาการตาแห้ง
  • ความผิดปกติหรือภาวะบางอย่างที่อาจทำให้เปลือกตาหรือดวงตาปิดไม่สนิท อย่างโรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก (Bell's Palsy)
  • ขนตายาวจนอาจไปทิ่มหรือถูกับกระจกตา
  • การขาดวิตามินเอ
  • การบาดเจ็บหรือการอักเสบของดวงตา
  • การเกิดแผลหรืออุบัติเหตุบริเวณกระจกตา
  • การสัมผัสกับแสงแดด
  • ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ
  • การสวมใส่คอนแทคเลนส์ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ
  • การใช้ยาหยอดตาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์มากเกินไป

การวินิจฉัย Corneal Ulcer

ในเบื้องต้นแพทย์จะซักประวัติสุขภาพ อาการของผู้ป่วย และอาจตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม ดังนี้

  • การตรวจตา เบื้องต้นแพทย์จะย้อมสีกระจกตา เพื่อตรวจความเสียหายที่เกิดขึ้น หลังจากนั้นแพทย์จะใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า Slit Lamp ตรวจดูบริเวณดังกล่าว
  • การเก็บตัวอย่างแผลบริเวณกระจกตา หาก Corneal Ulcer เกิดจากการติดเชื้อ แพทย์อาจเก็บตัวอย่างของแผลบริเวณกระจกตาไปตรวจในห้องปฏิบัติการ เพื่อดูว่าเป็นการติดเชื้อประเภทใด

การรักษา Corneal Ulcer

แพทย์จะรักษา Corneal Ulcer ตามอาการและสาเหตุของการเกิดเป็นหลัก ดังนี้

  • การรักษาด้วยยา เป็นการรักษาเบื้องต้นตามอาการที่เกิดขึ้น โดยยาที่ใช้แบ่งออกได้เป็นหลายชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาต้านไวรัส ยาต้านเชื้อรา เป็นต้น ส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบของยาหยอดตา แต่ผู้ป่วยบางรายก็อาจได้รับยาชนิดรับประทานหรือยาฉีด ซึ่งหากเกิดการติดเชื้อจนมีอาการอักเสบและบวม แพทย์ก็อาจต้องใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดหยอดตาด้วย โดยผู้ป่วยอาจต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด 

    อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการรักษาด้วยยา แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงสิ่งต่าง ๆ ที่อาจกระทบต่อดวงตา เช่น การใส่คอนแทคเลนส์ การแต่งหน้า การรับประทานยาบางชนิด การสัมผัสดวงตาโดยไม่จำเป็น เป็นต้น

  • การผ่าตัด แพทย์อาจผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือเกิดแผลเป็นบริเวณกระจกตา โดยเป็นการผ่านำเนื้อเยื่อกระจกตาเก่าออกไป และเปลี่ยนเอาเนื้อเยื่อกระจกตาใหม่ของผู้บริจาคมาทดแทน ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้อาจทำให้เกิดความเสี่ยงหลังการรักษาตามมาได้เช่นกัน

ภาวะแทรกซ้อนของ Corneal Ulcer

สำหรับผู้ป่วยบางรายอาจเกิดอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงถึงขึ้นสูญเสียการมองเห็นได้ อีกทั้งอาจเกิดภาวะหรืออาการอื่น ๆ ด้วย เช่น การติดเชื้อภายในลูกตา เป็นต้อหิน เกิดแผลในกระจกตา กระจกตาทะลุ ภาวะม่านตาอักเสบ และภาวะผิวกระจกตาหลุดลอกซ้ำ ๆ เป็นต้น

การป้องกัน Corneal Ulcer

สำหรับ Corneal Ulcer ที่อาจเกิดจากการสวมคอนแทคเลนส์ ควรป้องกันด้วยการรักษาความสะอาดขณะใส่คอนแทคเลนส์ ก่อนเข้านอนก็ควรถอดเก็บไว้ให้ดี ทำความสะอาดคอนแทคเลนส์เป็นประจำ หากมีอาการระคายเคืองเกิดขึ้น ควรรีบถอดออกและไม่ควรใส่จนกว่าอาการจะดีขึ้น

ส่วนบุคคลทั่วไป อาจป้องกัน Corneal Ulcer ได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • สวมอุปกรณ์ป้องกันดวงตาเสมอเมื่อต้องใช้เครื่องมือช่าง
  • ล้างมือก่อนสัมผัสดวงตา และควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสดวงตาโดยไม่จำเป็น
  • หากเกิดการติดเชื้อหรือได้รับบาดเจ็บที่ดวงตา ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที
  • ผู้ที่มีอาการตาแห้งหรือตาปิดไม่สนิทเป็นเวลานาน ควรรีบไปพบแพทย์ทันที