Cauda Equina Syndrome (กลุ่มอาการกดทับรากประสาทส่วน Cauda Equina)

ความหมาย Cauda Equina Syndrome (กลุ่มอาการกดทับรากประสาทส่วน Cauda Equina)

Cauda Equina Syndrome เป็นกลุ่มอาการกดทับรากประสาทส่วน Cauda Equina ที่อยู่ในช่องไขสันหลังบริเวณหลังส่วนล่าง ส่งผลให้ร่างกายส่วนล่างของผู้ป่วยไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ โดยอาจมีอาการขาอ่อนแรง สูญเสียความรู้สึกบริเวณขา ระบบขับถ่ายผิดปกติ หรือปวดหลังช่วงล่างอย่างรุนแรง ซึ่งจำเป็นจะต้องเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน 

กลุ่มอาการนี้พบได้มากในผู้ใหญ่ แต่สามารถเกิดขึ้นได้ในเด็กที่มีความผิดปกติบริเวณหลังแต่กำเนิดหรือได้รับบาดเจ็บบริเวณกระดูกสันหลัง ทั้งนี้ หากมีอาการเข้าข่าย Cauda Equina Syndrome แต่ไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เป็นอัมพาตถาวร 

Cauda Equina Syndrome (กลุ่มอาการกดทับรากประสาทส่วน Cauda Equina)

อาการของ Cauda Equina Syndrome

ผู้ป่วย Cauda Equina Syndrome จะมีอาการเกิดขึ้นได้หลายแบบ โดยอาจแสดงอาการอย่างช้า ๆ และอาจมีความคล้ายคลึงกับอาการของโรคอื่น หากมีอาการต่าง ๆ ดังนี้เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ควรไปพบแพทย์ทันที

  • กระเพาะปัสสาวะหรือลำไส้ทำงานผิดปกติ ส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถขับถ่ายปัสสาวะหรือไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้
  • ปวดหลังช่วงล่างอย่างรุนแรง
  • เกิดความผิดปกติอย่างรุนแรงหรือมีอาการแย่ลงเรื่อย ๆ ในบริเวณช่วงล่างของร่างกาย เช่น สูญเสียความรู้สึกบริเวณขา ต้นขาด้านใน รอบทวารหนัก เท้าและส้นเท้า เป็นต้น 
  • ขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้างมีอาการเจ็บ ชา หรืออ่อนแรง ซึ่งจะส่งผลให้หกล้มหรือลุกขึ้นยืนได้ลำบาก

สาเหตุของ Cauda Equina Syndrome

Cauda Equina Syndrome เกิดจากการกดทับเส้นประสาทในช่องไขสันหลังบริเวณหลังส่วนล่าง ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุต่อไปนี้

  • หมอนรองกระดูกสันหลังแตกหักอย่างรุนแรงหรือกระดูกทับเส้นประสาท
  • โพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ
  • มีก้อนเนื้อธรรมดาหรือก้อนเนื้อร้ายบริเวณกระดูกสันหลัง
  • กระดูกสันหลังติดเชื้อ อักเสบ เลือดออก หรือหัก
  • ได้รับอุบัติเหตุอย่างรุนแรงบริเวณส่วนเอว เช่น รถชน การตกจากที่สูง ถูกยิงหรือถูกแทง เป็นต้น
  • ความผิดปกติแต่กำเนิด อย่างโรคหลอดเลือดบริเวณไขสันหลังผิดปกติ 

ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิด Cauda Equina Syndrome ได้แก่ ผู้ที่มีปัญหากระดูกทับเส้นที่สามารถพบได้ในผู้สูงอายุ ผู้ใหญ่ และนักกีฬาในประเภทกีฬาที่มีการปะทะบ่อย รวมไปถึงยังมีปัจจัยอื่น ๆ เช่น ผู้ที่มีโรคอ้วนหรือน้ำหนักเกินจากเกณฑ์มาตรฐาน ผู้ที่ประกอบอาชีพที่จำเป็นต้องยกของหนัก บิดตัว หรือต้องออกแรงดัน และผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวเกิดปัญหากระดูกทับเส้น เป็นต้น 

การวินิจฉัย Cauda Equina Syndrome

ในขั้นแรก แพทย์จะวินิจฉัย Cauda Equina Syndrome ด้วยการสอบถามประวัติทางการแพทย์เพื่อตรวจดูสุขภาพร่างกายโดยรวม ช่วงเวลาที่เริ่มแสดงอาการและความรุนแรงของอาการที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวร่างกาย จากนั้นจะตรวจด้วยวิธีการต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่น

การตรวจร่างกาย

แพทย์จะประเมินความรู้สึก การทรงตัว ตรวจดูแนวกระดูก และการเคลื่อนไหวร่างกาย โดยจะให้ผู้ป่วยทดสอบด้วยวิธีต่าง ๆ อย่างการยืน นั่ง เดินโดยใช้ส้นเท้าหรือปลายเท้า ก้มตัวไปด้านหน้า เอนตัวไปด้านหลังและด้านข้าง ยกขาขึ้นขณะนอนราบ และแพทย์อาจตรวจความตึงตัวของกล้ามเนื้อและอาการชาในบริเวณกล้ามเนื้อหูรูด

วินิจฉัยด้วยภาพ

แพทย์อาจทำการเอกซเรย์ ตรวจร่างกายด้วยเครื่อง MRI หรือทำ CT Scan ในบริเวณหลังส่วนล่าง ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถเห็นภาพรากประสาท กระดูกสันหลัง และเนื้อเยื่อที่ล้อมรอบประดูกสันหลัง หรือผู้ป่วยอาจได้รับการตรวจเอกซเรย์ช่องกระดูกสันหลัง ไขสันหลัง และประสาทสันหลัง (Myelography Imaging Test) โดยการฉีดสีชนิดพิเศษเข้าไปยังช่องไขสันหลัง ซึ่งจะช่วยให้แพทย์เห็นภาพความผิดปกติบริเวณกระดูกสันหลังหรือเส้นประสาทที่อาจเกิดจากกระดูกทับเส้น เนื้องอก และปัญหาอื่น ๆ 

การรักษา Cauda Equina Syndrome

ผู้ที่มีอาการ Cauda Equina Syndrome ควรได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เพื่อนำสิ่งที่กดทับเส้นประสาทอยู่ออก เนื่องจากการกดทับของเส้นประสาทไขสันหลังอาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติถาวรของร่างกายส่วนล่าง กระเพาะปัสสาวะ และลำไส้ การทำงานของอวัยวะสืบพันธุ์ และปัญหาอื่น ๆ หากทราบถึงสาเหตุของอาการแล้ว แพทย์มักจะทำการผ่าตัดโดยเร็ว ในผู้ที่มีการติดเชื้อ แพทย์จะจ่ายยาปฏิชีวนะที่มักเป็นยาฉีดเข้าเส้นเลือด ผู้ที่มีก้อนเนื้อกดทับกระดูกสันหลังอาจจำเป็นจะต้องได้รับการฉายรังสีและเคมีบำบัดเพิ่มเติมหลังเข้ารับการผ่าตัด

ทั้งนี้ ผู้ป่วย Cauda Equina Syndrome อาจไม่สามารถควบคุมการถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระได้ตามต้องการ และอาจไม่รู้ตัวว่าตนเองต้องการขับถ่ายในเวลาใด จึงอาจต้องใช้วิธีอื่น ๆ ในการช่วยขับถ่าย เช่น ใช้สายสวนกระเพาะปัสสาวะวันละ 3–4 ครั้ง ดื่มน้ำในปริมาณมาก รักษาความสะอาดเพื่อป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ตรวจสอบการคั่งค้างของอุจจาระด้วยถุงมือยาง ใช้กลีเซอรีนเหน็บทวารหนัก (Glycerin Suppositories) หรือยาสวนทวารเพื่อช่วยในการขับถ่ายอุจจาระ และการใช้แผ่นรองหรือผ้าอ้อมเพื่อป้องกันการรั่วซึม เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดอาจไม่สามารถรักษาความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างถาวรในบริเวณเส้นประสาทได้อย่างสมบูรณ์ เนื่องจากผลการรักษาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของความเสียหาย และแม้ว่าผู้ป่วยจะรักษาด้วยการผ่าตัดสำเร็จ การทำงานของกระเพาะปัสสาวะและลำไส้ก็ต้องใช้เวลาฟื้นฟูขึ้นใหม่โดยอาจนานเป็นปี ซึ่งผู้ป่วยสามารถปรับตัวกับภาวะที่เป็นด้วยการปฏิบัติตัวในแบบต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่น การเข้ารับการช่วยเหลือกับบุคลากรทางการแพทย์ อย่างนักกิจกรรมบำบัด นักสังคมสงเคราะห์ ผู้ให้คำปรึกษาต่อเนื่อง หรือนักบำบัดทางเพศ รวมทั้งการนำครอบครัวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลรักษาเพื่อการสนับสนุนทางด้านร่างกายและจิตใจ

ภาวะแทรกซ้อนของ Cauda Equina Syndrome

อาการของ Cauda Equina Syndrome อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น เกิดแผลกดทับ ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (Erectile Dysfunction) ไม่สามารถควบคุมการปัสสาวะและอุจจาระ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ หรือภาวะซึมเศร้า เป็นต้น

การป้องกัน Cauda Equina Syndrome

เนื่องจาก Cauda Equina Syndrome เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ จึงเป็นกลุ่มอาการที่ป้องกันได้ยาก แต่ก็ควรรักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ และควรระวังการเกิดอุบัติเหตุโดยเฉพาะในบริเวณเอว คาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งเมื่ออยู่ในรถ เพราะจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดกลุ่มอาการดังกล่าวได้