Betamethasone (เบต้าเมทาโซน)

Betamethasone (เบต้าเมทาโซน)

Betamethasone (เบต้าเมทาโซน) เป็นยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ มีฤทธิ์รักษาภาวะต่าง ๆ จากการอักเสบ เช่น อาการแพ้ โรคสะเก็ดเงิน และผื่นผิวหนัง ยา Betamethasone มีข้อควรระวังในการใช้ยามากมาย ผู้ป่วยควรอ่านฉลากยาอย่างละเอียด และปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรให้ดีก่อนใช้ยาเสมอ

Betamethasone

เกี่ยวกับ Betamethasone

กลุ่มยา คอร์ติโคสเตียรอยด์
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ ต้านการอักเสบ
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยาทาภายนอก

คำเตือนในการใช้ยา Betamethasone

  • ผู้ที่แพ้ยาหรือส่วนประกอบใด ๆ ในยา Betamethasone รวมถึงแพ้อาหาร อาหารเสริม หรือยาชนิดอื่นที่ใกล้เคียงกัน ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา
  • หากกำลังตั้งครรภ์ หรือวางแผนจะตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ถึงประโยชน์และโทษจากยา Betamethasone ก่อนใช้
  • หากกำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
  • ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนใช้ยากับเด็ก เพราะยาอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเด็กและวัยรุ่นบางราย
  • หากต้องทายาในบริเวณที่ผิวหนังบอบบาง ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อน
  • ยา Betamethasone อาจเกิดปฏิกิริยาขึ้นเมื่อใช้ร่วมกับยาชนิดอื่น ๆ จึงควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงยา วิตามิน อาหารเสริม และผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่กำลังใช้อยู่

ผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา Betamethasone โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะอาการดังต่อไปนี้

ปริมาณการใช้ยา Betamethasone

ปริมาณการใช้ยา Betamethasone อาจแตกต่างกันไปตามรูปแบบและชนิดของยา ระดับความรุนแรงของผู้ป่วย และจุดประสงค์ในการรักษา โดยมีตัวอย่างปริมาณการใช้ยา ดังนี้

รักษาโรคสะเก็ดเงิน

ผู้ใหญ่

  • ยาทาชนิด Betamethasone Dipropionate ปริมาณ 0.05 เปอร์เซ็นต์ ใช้ทาบริเวณที่ติดเชื้อวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 4 สัปดาห์

รักษาโรคผิวหนังที่ตอบสนองต่อยาคอร์ติโคสเตียรอยด์

ผู้ใหญ่

  • ยาทาชนิด Betamethasone Dipropionate ในรูปแบบขี้ผึ้ง ครีม เจล หรือโลชั่น ปริมาณ 0.05 เปอร์เซ็นต์ ทาบริเวณที่ติดเชื้อวันละ 1-2 ครั้ง เป็นเวลาสูงสุด 2 สัปดาห์
  • ยาทาชนิด Betamethasone Valerate ในรูปแบบขี้ผึ้ง ครีม เจล หรือโลชั่น ปริมาณ 0.025 และ 0.1 เปอร์เซ็นต์ ทาบาง ๆ บริเวณที่ติดเชื้อวันละ 1-3 ครั้ง เป็นเวลาสูงสุด 4 สัปดาห์ หรือจนกว่าอาการจะเริ่มดีขึ้น
  • ยาทาชนิด Betamethasone Valerate ในรูปแบบยาน้ำ ปริมาณ 0.1 เปอร์เซ็นต์ ถูบริเวณที่ติดเชื้อเบา ๆ วันละ 2 ครั้ง

การใช้ยา Betamethasone

  • ห้ามเริ่มหรือหยุดใช้ยา รวมถึงเปลี่ยนปริมาณการใช้ยาด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยา Betamethasone ร่วมกับผู้อื่น และห้ามใช้ยาของผู้อื่นด้วยเช่นกัน
  • ห้ามรับประทานยา Betamethasone ชนิดยาทาภายนอกเด็ดขาด และห้ามให้ยาสัมผัสโดนเนื้อเยื่อบริเวณปาก จมูก และดวงตา เพราะอาจทำให้เกิดอาการแสบร้อนได้
  • ห้ามปกปิดบริเวณที่ใช้ยาด้วยเครื่องสำอาง ผ้าพันแผล หรือผ้าอื่น ๆ รวมถึงห้ามใช้ยาทาใบหน้า รักแร้ และบริเวณอวัยวะเพศ หากไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
  • ล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังใช้ยาทาทุกครั้ง ยกเว้นเมื่อทายาบริเวณมือก็ไม่ต้องล้างยาออก
  • ทำความสะอาดบริเวณที่จะทายาให้แห้งทุกครั้งก่อนใช้ยา แล้วจึงทายาบาง ๆ พร้อมถูบริเวณนั้นเบา ๆ
  • ใช้ยาให้ครบตามปริมาณที่แพทย์กำหนด แม้อาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม
  • หากลืมใช้ยา ให้ใช้ยาทันทีที่นึกขึ้นได้ หากใกล้กับช่วงเวลาในการใช้ยาครั้งต่อไป ให้ข้ามยาครั้งที่ลืมไป และไม่ควรเพิ่มปริมาณยาเพื่อทดแทน
  • ควรเก็บยาที่อุณหภูมิ 15-30 องศาเซลเซียส

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Betamethasone

ยา Betamethasone อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ ซึ่งบางอาการอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ หากผู้ป่วยปรากฏอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

  • อาการแพ้ เช่น มีผื่นแดง บวม คัน เป็นลมพิษ ตุ่มพอง ผิวหนังลอก ซึ่งอาจปรากฏร่วมกับอาการมีไข้ แน่นหน้าอก แน่นคอ หายใจมีเสียงหวีด หายใจลำบาก พูดลำบาก เสียงแหบผิดปกติ บวมบริเวณปาก ริมฝีปาก ลิ้น ใบหน้า และลำคอ
  • เกิดการติดเชื้อทำให้มีอาการ เช่น มีไข้ หนาวสั่น เจ็บคอมาก ปวดบริเวณหูหรือไซนัส ไอ มีเสมหะเพิ่มขึ้นหรือเสมหะเปลี่ยนสีไป เจ็บปวดเวลาปัสสาวะ มีแผลในปาก หรือมีแผลที่ไม่ยอมหาย
  • ระดับน้ำตาลในเลือดสูงทำให้มีอาการ เช่น สับสน ง่วงนอน กระหายน้ำ หิวบ่อย ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ หน้าแดง หายใจถี่ หรือมีลมหายใจกลิ่นเหมือนผลไม้
  • ผิวหนังเปลี่ยนสภาพ เช่น เป็นสิว ผิวแตกลาย ขนยาว แผลที่ผิวหนังหายช้า ระคายเคือง หรือผิวหนังบางลง
  • ต่อมหมวกไตอ่อนแรงทำให้มีอาการ เช่น ปวดท้องรุนแรง อาเจียน เวียนศีรษะ เป็นลม กล้ามเนื้ออ่อนแรง เหนื่อยหอบ อารมณ์แปรปรวน ไม่อยากอาหาร น้ำหนักลด
  • โพแทสเซียมในเลือดต่ำทำให้มีอาการ เช่น เจ็บปวดหรือเกร็งกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ
  • มีปัญหาเกี่ยวกับตับอ่อน เช่น รู้สึกเจ็บปวดบริเวณท้องและหลังอย่างรุนแรง อาเจียน
  • กลุ่มอาการคุชชิงเช่น มีก้อนไขมันสะสมบริเวณหลังส่วนบนและหน้าท้อง หน้าบวมแดง ปวดหัวรุนแรง
  • ซึมเศร้า
  • หัวใจเต้นเร็วหรือช้าผิดปกติ
  • สีผิวเปลี่ยนแปลง มีอาการบวม ร้อน และชาบริเวณขาหรือแขน
  • การมองเห็นเปลี่ยนแปลงไป
  • หายใจไม่อิ่ม น้ำหนักตัวเพิ่ม หรือแขนขาบวม
  • อาเจียนเป็นเลือดหรือเป็นสีน้ำตาลคล้ำ
  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ
  • อุจจาระเป็นสีดำหรือเป็นเลือด
  • เลือดออกหรือช้ำโดยไม่มีสาเหตุ
  • ชัก

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายอาจไม่ปรากฏผลข้างเคียงใด ๆ หรืออาจมีเพียงอาการที่ไม่รุนแรงนัก เช่น ผิวแห้ง คัน หรือแสบร้อนบริเวณที่ใช้ยา เป็นต้น แต่หากพบอาการข้างเคียงอื่น ๆ หรืออาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไม่หายไป ไม่ทุเลาลง หรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาต่อไป