โรคอะคาเลเซีย (Achalasia)

ความหมาย โรคอะคาเลเซีย (Achalasia)

Achalasia หรือโรคอะคาเลเซีย เป็นความผิดปกติร้ายแรงของหลอดอาหาร เกิดจากหูรูดหลอดอาหารส่วนที่เชื่อมต่อระหว่างหลอดอาหารส่วนปลายกับกระเพาะอาหารไม่คลายตัวขณะที่อาหารเคลื่อนที่ผ่านหลอดอาหารลงสู่กระเพาะ เป็นเหตุให้เกิดการไหลย้อนกลับของอาหารหรือของเหลว ส่งผลให้ผู้ป่วยกลืนลำบาก แสบร้อนกลางอก แน่นอก หรือน้ำหนักลด โดยสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยา การทำบอลลูน หรือการผ่าตัด เพื่อให้หลอดอาหารบริเวณดังกล่าวกลับมาทำงานได้ใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด

1623 Achalasia resized

อาการโรคอะคาเลเซีย

ผู้ป่วยที่มีภาวะ Achalasia มักมีปัญหาในการกลืนอาหารหรือรู้สึกว่ามีอาหารติดคอ จนทำให้ผู้ป่วยไอและเสี่ยงเกิดการสำลักอาหารได้ นอกจากนั้น อาจมีอาการอื่น ๆ ที่พบได้เช่นกัน ดังนี้

  • สำรอกอาหารหรือของเหลว บางรายอาจรุนแรงจนทำให้ตื่นกลางดึกเพราะไอหรือสำลักสิ่งที่สำรอกออกมา
  • แสบร้อนกลางอก
  • เจ็บหรือรู้สึกถึงแรงกดที่หน้าอก
  • น้ำหนักลดลงอย่างผิดปกติ

อย่างไรก็ตาม ภาวะ Achalasia อาจทำให้เกิดอาการคล้ายปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้ เช่น โรคมะเร็งหลอดอาหาร โรคกระเพาะอาหารส่วนบน และโรคชากาสที่เกิดจากการติดเชื้อพยาธิบางชนิด เป็นต้น ส่วนอาการสำรอกอาหารก็อาจเป็นอาการของโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับกระเพาะอาหารอย่างภาวะกรดไหลย้อนได้เช่นกัน ดังนั้น ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจอย่างละเอียดหากมีอาการดังข้างต้น

สาเหตุของโรคอะคาเลเซีย

บริเวณจุดเชื่อมต่อระหว่างปลายหลอดอาหารกับกระเพาะจะมีกล้ามเนื้อหูรูดที่จะคลายตัวเพื่อให้อาหารผ่านลงสู่กระเพาะได้ แต่ในผู้ป่วยที่มีภาวะ Achalasia กล้ามเนื้อดังกล่าวจะไม่สามารถคลายตัวได้ตามปกติ และส่งผลให้การทำงานของกล้ามเนื้อหลอดอาหารลดลงไปด้วย ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากเส้นประสาทบริเวณหลอดอาหารเสียหาย

อย่างไรก็ตาม ในทางการแพทย์ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดที่ทำให้เส้นประสาทหลอดอาหารเสียหายจนเกิดภาวะนี้ แต่คาดว่ากลุ่มบุคคลต่อไปนี้อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะ Achalasia ได้มากกว่าคนทั่วไป

  • มีอายุระหว่าง 30-60 ปี
  • ได้รับการถ่ายทอดพันธุธรรมที่ผิดปกติมาแต่กำเนิด
  • เป็นโรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันที่ส่งผลให้เซลล์ประสาทบริเวณหลอดอาหารถูกทำลาย เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง เป็นต้น
  • ติดเชื้อไวรัสโรคเริม หรือเชื้อไวรัสชนิดอื่น ๆ

การวินิจฉัยโรคอะคาเลเซีย

อาการของภาวะ Achalasia อาจคล้ายคลึงกับปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้ ซึ่งหากผู้ป่วยมีปัญหาในการกลืนอาหารหรือของเหลว แพทย์อาจสันนิษฐานว่าผู้ป่วยมีภาวะ Achalasia และให้เข้ารับการตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันผลการวินิจฉัย ดังนี้

  • ตรวจการเคลื่อนไหวของหลอดอาหาร เป็นวิธีตรวจจังหวะการหดและการคลายตัวของกล้ามเนื้อหลอดอาหารขณะที่ผู้ป่วยกลืนอาหารหรือของเหลว และดูว่าหูรูดของหลอดอาหารมีการคลายตัวและทำงานร่วมกับหลอดอาหารได้ดีหรือไม่
  • ตรวจเอกซเรย์แพทย์อาจตรวจจากภาพของระบบย่อยอาหารส่วนบน โดยอาจให้ผู้ป่วยกลืนสารทึบแสงหรือสารแบเรียมแล้วถ่ายภาพเอกซเรย์ เพื่อให้เห็นความผิดปกติหรือการอุดกั้นของหลอดอาหารได้ชัดเจนขึ้น
  • ส่องกล้องตรวจ แพทย์จะสอดท่อขนาดเล็กที่มีกล้องติดอยู่ส่วนปลายผ่านเข้าไปในลำคอและให้ลงไปยังหลอดอาหาร เพื่อดูว่าหลอดอาหารมีความผิดปกติหรือไม่

การรักษาโรคอะคาเลเซีย

การรักษาภาวะ Achalasia ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น อายุของผู้ป่วย ความรุนแรงของอาการ เป็นต้น โดยจะเน้นลดแรงกดที่กล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหาร เพื่อช่วยให้อาหารและของเหลวเคลื่อนตัวลงไปที่กระเพาะอาหารได้ ซึ่งการรักษาทำได้หลายวิธี ดังนี้

  • การฉีดโบท็อกซ์

    การฉีดโบท็อกซ์เป็นการฉีดสารโบทูลินัม ท็อกซินเข้าไปบริเวณกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหาร เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัวมากขึ้น โดยวิธีนี้มักใช้กับผู้ป่วยที่แพทย์วินิจฉัยแล้วว่าไม่เหมาะกับการขยายหูรูดหลอดอาหารหรือการผ่าตัด แต่ผลการรักษาจากโบท็อกซ์จะคงอยู่ได้ไม่นาน ทำให้ต้องไปฉีดซ้ำเรื่อย ๆ ในภายหลังไม่กี่สัปดาห์หรือไม่กี่เดือน

  • การขยายหูรูดหลอดอาหาร

    การขยายรูหลอดอาหารเป็นการทำบอลลูนบริเวณหูรูดหลอดอาหาร เพื่อให้หูรูดขยายตัวออกมากขึ้น แต่อาจต้องทำซ้ำหลายครั้งหากกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารไม่คลายตัวดังเดิม ซึ่งบางรายอาจต้องรักษาซ้ำภายใน 6 ปี

  • การใช้ยา

    การใช้ยา แพทย์อาจให้ใช้ยาอย่างไนโตรไกลเซรินหรือไนเฟดิพีน เพื่อช่วยคลายกล้ามเนื้อที่หลอดอาหาร ทว่าการใช้ยาเหล่านี้มีข้อจำกัดในการรักษาและอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ค่อนข้างรุนแรง จึงมักใช้ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับการผ่าตัดหรือขยายหูรูดหลอดอาหารได้ และรักษาด้วยการฉีดโบท็อกซ์แล้วไม่ได้ผล

  • การผ่าตัด

    การผ่าตัดมักใช้ในผู้ป่วยท่ี่รักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ไม่ได้ผล โดยวิธีการผ่าตัดขึ้นอยู่กับสุขภาพของผู้ป่วย ความรุนแรงของโรค และชนิดของโรคที่เป็น เช่น การผ่าตัดหลอดอาหารส่วนปลาย การส่องกล้องผ่าตัดหลอดอาหารส่วนปลาย การผ่าตัดเชื่อมกระเพาะอาหารและหลอดอาหาร เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนของโรคอะคาเลเซีย

หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ ดังต่อไปนี้

  • ปอดอักเสบจากการสำลัก การสำลักที่เป็นผลมาจากอาการกลืนลำบากอาจทำให้อาหารหรือของเหลวหลุดเข้าไปในปอด ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดการติดเชื้อและปอดอักเสบได้ในที่สุด
  • หลอดอาหารทะลุ เป็นภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในกรณีที่ผู้ป่วยมีผนังหลอดอาหารอ่อนแอ หรืออาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างการรักษาโรคนี้ ซึ่งอาจนำไปสู่การติดเชื้อที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้

นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งหลอดอาหารมากขึ้นด้วย ดังนั้น หากพบอาการของ Achalasia ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม แม้อาการจะไม่รุนแรงมากก็ตาม

การป้องกันโรคอะคาเลเซีย

Achalasia เกิดจากความเสียหายของเส้นประสาทบริเวณหลอดอาหาร จึงไม่สามารถป้องกันได้ แต่เบื้องต้นสามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ และหมั่นสังเกตอาการผิดปกติ ส่วนผู้ที่ป่วยเป็นภาวะนี้อยู่แล้ว ควรใส่ใจเข้ารับการรักษาจากแพทย์ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายรุนแรงได้