8 วิธีรักษาสิวอุดตันที่ใครก็สามารถทำได้

สิวอุดตัน เป็นสิวชนิดหนึ่งที่อาจนำไปสู่ปัญหาสิวและปัญหาผิวอื่น ๆ ที่มีความรุนแรงตามมาได้ ไม่ว่าจะเป็นสิวซีสต์ สิวหัวช้าง หรือการเกิดรอยแผลเป็น การเรียนรู้วิธีรักษาสิวอุดตันเอาไว้ก่อนจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อที่ว่าเมื่อเกิดสิวอุดตันขึ้นมา ทุกคนจะได้รับมือได้อย่างถูกต้องกัน

สิวอุดตันป็นปัญหาผิวที่เกิดขึ้นเมื่อไขมันและเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วเกิดการอุดตันภายในรูขุมขน แต่จะไม่มีการอักเสบ ซึ่งหลัก ๆ แล้วสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดคือ สิวอุดตันหัวขาวหรือสิวหัวปิด และสิวอุดตันหัวดำหรือสิวหัวเปิด

8 วิธีรักษาสิวอุดตันที่ใครก็สามารถทำได้

โดยสิวหัวขาวจะเป็นสิวอุดตันที่ไม่มีหัว การอุดตันจะอยู่ใต้ผิวหนัง มีลักษณะเป็นตุ่มเล็ก ๆ และมีสีเดียวกับผิวหนัง ส่วนสิวหัวดำ จะเห็นหัวสิวสีดำได้ชัดเจน เนื่องจากรูขุมขนของสิวชนิดนี้จะเปิดออก ส่งผลให้เซลล์ผิวที่ตายแล้วและไขมันที่อุดตันสัมผัสกับอากาศและกลายเป็นสีดำคล้ำตามมา

รู้จักกับปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดสิวอุดตัน

ก่อนจะทำความรู้จักวิธีรักษาสิวอุดตัน ควรทราบถึงปัจจัยกระตุ้นที่มักพบได้ของสิวอุดตันกันก่อน โดยที่มาของสิวอุดตันก็คือ การที่ผิวหนังผลิตไขมันส่วนเกินออกมามากเกินไปจนอาจส่งผลให้เกิดการจับตัวกับเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วและก่อให้เกิดการอุตันตามมา

โดยปัจจัยที่อาจกระตุ้นให้เกิดกลไกดังกล่าวก็เช่น

  • การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย
  • พันธุกรรม
  • ผิวที่มีความชื้นมากเกินไป เช่น อาจมาจากการใช้ครีมเพิ่มความชุ่มชื้น (Moisturizers) บางชนิด หรือการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีความชื้นมาก
  • เครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์บำรุงผมบางชนิด
  • การสูบบุหรี่
  • การรับประทานอาหารบางชนิด เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนมวัว อาหารที่มีน้ำตาลสูง หรืออาหารที่มีไขมันสูง

วิธีรักษาสิวอุดตันมีอะไรบ้าง

ในเบื้องต้น ผู้ที่มีปัญหาสิวอุดตัน ควรทำตามวิธีดังต่อไปนี้

1. ล้างหน้าให้สะอาด

ล้างหน้าให้สะอาดวันละ 2 ครั้ง เช้าและก่อนนอน โดยเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สูตรอ่อนโยน และหลีกเลี่ยงการขัดถูใบหน้าด้วยความรุนแรง

2. หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เสี่ยงต่อการอุดตัน

สำหรับผู้ที่แต่งหน้า ให้เลือกใช้ผลิตภัณฑ์สูตรที่ไม่ก่อให้เกิดการอุดตัน (Non–comedogenic) หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำมัน และควรล้างเครื่องสำอางให้สะอาดก่อนเข้านอนทุกครั้ง

3. หลีกเลี่ยงการบีบหรือแกะสิว

ผู้ที่มีปัญหาสิวควรหลีกเลี่ยงการแกะหรือบีบสิวด้วยตัวเอง เนื่องจากการแกะหรือบีบสิวอาจส่งผลให้สิวอักเสบและมีความรุนแรงมากขึ้น รวมถึงอาจส่งผลให้เกิดรอยแผลเป็นจากสิวตามมาได้อีกด้วย

4. หลีกเลี่ยงการอยู่สถานที่ที่มีอากาศร้อนจัด

เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดอาจส่งผลให้สิวบางชนิดเห่อได้ อีกทั้งการมีเหงื่อออกมาก ๆ ยังอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดสิวตามมาได้อีกด้วย

5. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่

หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หรือการสูดดมควันบุหรี่ เนื่องจากบุหรี่ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกี่ยวข้องกับกลไกการเกิดสิวได้

6. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารบางชนิด

หลีกเลี่ยงหรือจำกัดปริมาณการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูง อาหารที่มีไขมันสูง และอาหารที่ทำมาจากนมวัว เนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่า อาหารกลุ่มนี้อาจกระตุ้นให้เกิดสิวได้

7. ใช้ผลิตภัณฑ์รักษาสิว

สำหรับผู้ที่เป็นสิวอุดตันไม่รุนแรง ในเบื้องต้นอาจจะลองใช้ผลิตภัณฑ์รักษาสิวที่หาซื้อได้เองตามร้านขายยา โดยก่อนซื้อควรถามเภสัชกรเพื่อให้เภสัชกรแนะนำยาที่เหมาะสม หรืออาจเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมดังต่อไปนี้

  • Benzoyl Peroxide (เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์) ที่ช่วยกำจัดแบคทีเรียที่เป็นต้นเหตุของสิว รวมไปถึงปัจจัยเกิดสิวอื่น ๆ อย่างไขมันส่วนเกิน และเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว
  • Adapalene (อะดาพาลีน) ที่ช่วยป้องกันการเกิดสิวและรักษารูขุมขนที่มีการอุดตัน ทั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงการทายาที่มีส่วนผสมนี้ลงบนผิวหนังที่มีแผล หรืออาการทางผิวหนังจากภาวะผิวไหม้แดด หรือผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง 
  • Salicylic Acid (ซาลิไซลิก แอซิด) ซึ่งเป็นส่วนผสมที่ช่วยป้องกันการเกิดสิวใหม่ และช่วยรักษารูขุมขนที่มีการอุดตัน
  • Azelaic Acid (กรดอะซีลาอิก) ส่วนผสมชนิดนี้เป็นส่วนผสมที่อาจช่วยป้องกันการอุดตันของรูขุมขน และอาจช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้เล็กน้อย
  • Alpha Hydroxy Acids ส่วนผสมนี้อาจจะมาในรูปแบบ กรดไกลโคลิก (Glycolic Acid) หรือกรดแลคติก (Lactic Acid) โดยส่วนผสมในกลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ช่วยกำจัดเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว และบรรเทาอาการอักเสบของผิวหนัง

ทั้งนี้ ในการใช้ยารักษาสิวด้วยตัวเอง ผู้ใช้ยาควรปฏิบัติตามคำแนะนำในฉลากยาอย่างเคร่งครัด และเริ่มจากใช้ยาแบบที่ความเข้มข้นต่ำก่อน เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์

8. ไปพบแพทย์

นอกจากการทำตามวิธีที่ได้กล่าวไปแล้ว ผู้ที่มีปัญหาสิวอุดตันควรหาเวลาไปพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์ได้ตรวจดูความรุนแรงและแนะนำแนวทางการรักษาที่เหมาะสม โดยวิธีการรักษาที่แพทย์มักใช้ เช่น การทายา การรับประทานยา ไปจนถึงการใช้ยาปฏิชีวนะบางชนิด ซึ่งแพทย์จะพิจารณาเป็นรายบุคคลไป ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสิว