7 วิธีคุยกับคนที่เป็นโรคซึมเศร้าอย่างเหมาะสม

วิธีคุยกับคนเป็นโรคซึมเศร้าอย่างเหมาะสมไม่ใช่เรื่องง่าย หลายคนไม่รู้ว่าควรใช้คำพูดแบบใดที่จะไม่ทำร้ายจิตใจของผู้ป่วย โรคซึมเศร้านั้นแตกต่างจากความเศร้าเสียใจทั่วไปที่ไม่สามารถหายได้เองเมื่อเวลาผ่านไป คนรอบข้างจึงมีบทบาทสำคัญในการรับฟังความรู้สึก ให้กำลังใจ และให้ความช่วยเหลืออย่างเหมาะสม เพื่อให้ผู้ป่วยก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้

โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางจิตเวชที่ต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกิดจากความไม่สมดุลกันของสารเคมีในสมอง หรือเป็นผลจากความเครียดสะสมในชีวิตประจำวัน เหตุการณ์ร้ายแรงที่กระทบกระเทือนจิตใจ โรคประจำตัว และการใช้ยาบางชนิด ดังนั้น นอกจากการรักษากับจิตแพทย์แล้ว การเรียนรู้วิธีที่เหมาะสมในการพูดคุยกับคนรอบข้างเราที่เป็นซึมเศร้าหรือมีสัญญาณว่าอาจเป็นซึมเศร้าก็เป็นสิ่งที่สำคัญและเป็นประโยชน์ไม่น้อย

7 วิธีคุยกับคนที่เป็นโรคซึมเศร้าอย่างเหมาะสม

วิธีคุยกับคนใกล้ตัวที่เป็นโรคซึมเศร้า

แนวทางการพูดคุยกับคนเป็นโรคซึมเศร้าอย่างเหมาะสม มีดังนี้

1. คอยรับฟังและอยู่เคียงข้าง

ผู้ป่วยบางคนอาจไม่แน่ใจว่าควรเริ่มเล่าให้ฟังอย่างไร เราควรทำหน้าที่เป็นผู้ฟังที่ดีด้วยการรอให้ผู้ป่วยพร้อมเล่าความรู้สึกของตัวเองโดยไม่กดดันหรือกระตุ้นให้ผู้ป่วยพูดความรู้สึกหากยังไม่พร้อม โดยอาจเริ่มจากแสดงความห่วงใยในอาการและพุดให้ผู้ป่วยรู้ว่ามีคนที่พร้อมจะอยู่เคียงข้าง เช่น “ช่วงนี้เธอมีเรื่องไม่สบายใจหรือรู้สึกไม่ดีหรือเปล่า ถ้าสะดวกใจก็เล่าให้ฉันฟังได้นะ” 

เมื่อผู้ป่วยเล่าให้ฟังแล้ว เราควรรับฟังอย่างตั้งใจ และไม่ควรพูดแทรกหรือรีบให้คำแนะนำจนกว่าผู้ป่วยจะพูดจบ เพราะจะทำให้ไม่ทราบความรู้สึกหรือปัญหาที่แท้จริงที่ผู้ป่วยเผชิญอยู่ และอาจให้คำแนะนำที่ทำร้ายความรู้สึกของผู้ป่วยมากขึ้น 

2. ไม่ตัดสินหรือด้อยค่าความรู้สึก

หลายคนอาจใช้คำพูดที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าเราไม่ใส่ใจที่จะรับฟังหรือใช้ความคิดของตัวเองไปตัดสินความรู้สึกของผู้ป่วยโดยไม่รู้ตัว เช่น “อย่าคิดมาก เดี๋ยวก็ดีขึ้นเอง เลิกเศร้าได้แล้ว” “ใคร ๆ ก็เคยลำบากทั้งนั้น เรื่องเล็กน้อยแค่นี้ทำไมทนไม่ได้” “เอาแต่เศร้าแบบนี้ ไม่เบื่อบ้างเหรอ” “มองโลกในแง่ดีเข้าไว้ มีคนที่แย่กว่าเธออีกเยอะ” หรือแม้แต่คำให้กำลังใจที่หลายคนพูดติดปากอย่าง “สู้ ๆ นะ”

คำพูดเหล่านี้จะทำให้ผู้ป่วยยิ่งรู้สึกว่าความรู้สึกของเขาไม่มีความสำคัญให้คนอื่นรับฟัง ซึ่งแม้แต่คนรอบข้างยังไม่สนใจและไม่ให้ความช่วยเหลือ ซึ่งตัวอย่างประโยคที่ควรพูด เช่น “ฉันจะอยู่ข้าง ๆ เธอ เธอไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวนะ” “เธอสำคัญกับฉันมากนะ” และ “ฉันอาจไม่เข้าใจความรู้สึกของเธอทั้งหมด แต่ฉันอยากจะช่วยเธอ มีอะไรอยากเล่าให้ฟังไหม”

3. ให้กำลังใจในการมีชีวิตอยู่

ผู้ป่วยมักโทษตัวเองว่าเป็นภาระให้คนอื่น อีกทั้งคนรอบข้างมักไม่เข้าใจโรคซึมเศร้าหรือมีอคติต่อโรคซึมเศร้า ทำให้ผู้ป่วยคิดว่าเป็นตัวเองเป็นคนอ่อนแอ เราควรบอกกับผู้ป่วยว่าโรคซึมเศร้าเป็นความเจ็บป่วยทางจิตใจที่สามารถรักษาให้หายได้เหมือนโรคทางกายอื่น ๆ และพูดในเชิงบวกให้ผู้ป่วยมีความหวังในการใช้ชีวิตต่อไป

เช่น “วันนี้ทำได้ดีมากเลย วันไหนที่อยากยอมแพ้ ให้บอกตัวเองว่าเธอจะผ่านมันไปได้เหมือนอย่างวันนี้นะ”

4. ชวนให้ไปพบจิตแพทย์

ควรโน้มน้าวให้ผู้ป่วยไปพบจิตแพทย์เพื่อรับการรักษา โดยพูดถึงข้อดีหลังการรักษา เช่น สามารถกลับมาทำกิจกรรมที่ชอบ นอนหลับได้ดีขึ้น ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้เหมือนเดิม โดยไม่ควรบังคับหากผู้ป่วยไม่ยินยอม หรือโกหกว่าให้ผู้ป่วยไปพบแพทย์เป็นเพื่อน เพราะจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่เชื่อใจและไม่ยอมเข้ารับการรักษาอีก

5. อาสาให้ความช่วยเหลือในชีวิตประจำวัน

การแสดงความตั้งใจที่จะช่วยเหลือผู้ป่วย แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยในชีวิตประจำวัน เช่น ช่วยทำความสะอาดบ้าน ซักผ้า ไปซื้อของให้ และชวนไปเดินเล่นหรือทำกิจกรรมที่ผู้ป่วยอยากทำ จะทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกโดดเดี่ยว ลดความคิดฟุ้งซ่านและหดหู่ และยังช่วยหลั่งเอ็นโดรฟิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนความสุขออกมา 

นอกจากนี้ การอาสาพาผู้ป่วยไปพบจิตแพทย์ตามนัด และฟังคำแนะนำในการดูแลผู้ป่วยจากแพทย์ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกถึงความเอาใจใส่ และทำให้เราดูแลผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้นด้วย

6. ไม่โต้ตอบกลับด้วยอารมณ์รุนแรง

อาการของผู้ป่วยซึมเศร้าในแต่ละวันนั้นแตกต่างกัน บางวันอาจเก็บตัว เงียบขรึม และไม่คุยกับใคร แต่บางวันอาจฉุนเฉียวกว่าปกติ และอาจตำหนิ ด่าทอ และโวยวายใส่คนรอบข้าง คนรอบข้างควรรอให้ผู้ป่วยอารมณ์เย็นลง และค่อย ๆ รับฟังอย่างใจเย็น เช่น “ถ้ารู้สึกดีขึ้นแล้วติดต่อมาได้เสมอนะ” รวมทั้งไม่ควรใช้อารมณ์รุนแรงโต้ตอบกลับ เพราะอาจทำให้สถานการณ์แย่ลง

7. สังเกตสัญญาณการฆ่าตัวตาย

ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีแนวโน้มทำร้ายตัวเองและฆ่าตัวตายสูง คนใกล้ชิดควรสังเกตอาการผิดปกติของผู้ป่วยซึมเศร้าเพื่อให้การช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด เช่น 

  • อารมณ์แปรปรวน เช่น ร้องไห้ เงียบขรึม และฉุนเฉียวผิดปกติ
  • เก็บตัว ไม่พบปะและพูดคุยกับคนอื่น 
  • พูดว่าอยากตาย รู้สึกหมดหวังในการมีชีวิตอยู่ต่อ 
  • รู้สึกเป็นภาระและไร้ค่า ไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม 
  • เริ่มพูดสั่งเสียกับคนในครอบครัว เขียนจดหมายลาตาย
  • ส่งมอบทรัพย์สินและของมีค่าให้คนอื่น ทำพินัยกรรมโดยยังไม่ถึงเวลาอันควร 
  • ทำร้ายตัวเอง หรือพยายามฆ่าตัวตาย

หากคนใกล้ชิดมีอาการเหล่านี้ ไม่ควรปล่อยให้อยู่คนเดียว ควรรับฟังและพยายามเกลี้ยกล่อมไม่ให้ผู้ป่วยทำร้ายตัวเอง เก็บของมีคมหรือของที่ผู้ป่วยอาจใช้ทำร้ายตัวเองให้พ้นจากจุดที่ผู้ป่วยอยู่ และโทรแจ้งตำรวจ รถพยาบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย โทร 02-713-6793 ได้ทุกวันตั้งแต่ 12.00 น. ถึง 22.00 น.

คนรอบข้างมีบทบาทสำคัญในการดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้า หากคนใกล้ชิดของผู้ป่วยมีความเข้าใจเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าอย่างถูกต้อง พาไปพบจิตแพทย์เพื่อรับการรักษา และใช้วิธีคุยกับคนเป็นโรคซึมเศร้าอย่างเหมาะสมอาจช่วยให้อาการของผู้ป่วยหายดีและใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างมีความสุข