5 วิธีแก้อาการแพ้ยาเบื้องต้นที่ทุกคนควรรู้

วิธีแก้อาการแพ้ยาเบื้องต้นเป็นวิธีที่สามารถช่วยบรรเทาหรือลดความรุนแรงของอาการแพ้ยาด้วยตัวเองควบคู่ไปกับการรักษาจากแพทย์ ซึ่งหากคุณรู้วิธีแก้อาการแพ้ยาอย่างเหมาะสม ก็จะช่วยให้อาการแพ้ยาหายเร็วขึ้น และสามารถช่วยลดผลข้างเคียงจากอาการแพ้ยาที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ด้วย

ผู้ที่มีอาการแพ้ยาอาจแสดงอาการแค่เพียงเล็กน้อยและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น ผิวหนังบวมแดง มีอาการคัน เกิดผื่นแพ้ยา หรืออาจแสดงอาการรุนแรงและเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต เช่น แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หรือหมดสติก็ได้เช่นกัน ทั้งนี้ อาการแพ้ยาไม่ว่าจะรุนแรงหรือไม่ ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรักษาอาการแพ้อย่างเหมาะสม และปรึกษาเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนยา

วิธีแก้อาการแพ้ยาเบื้องต้น

5 วิธีแก้อาการแพ้ยาเบื้องต้นอย่างปลอดภัย

หลังการใช้ยาใด ๆ หากมีสัญญาณของอาการแพ้ยาเกิดขึ้น เช่น ผิวหนังบวมแดง มีผื่นลมพิษ มีอาการบวมบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือลำคอ ไปจนถึงอาการแน่นหน้าอกหรือหายใจลำบาก ควรรีบดูแลรักษาหรือบรรเทาอาการด้วยวิธีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

1. หยุดใช้ยาดังกล่าว

 

หากมีอาการแพ้ยาเกิดขึ้นหลังจากการใช้ยาตัวใดก็ตาม ควรหยุดใช้ยาตัวนั้นทันทีและรีบไปพบแพทย์ โดยนำฉลากยาที่คิดว่าอาจทำให้เกิดอาการแพ้ไปด้วย เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการแพ้ยาได้อย่างชัดเจนมากขึ้น 

ทั้งนี้ หากกำลังใช้ยา อาหารเสริม หรือผลิตภัณฑ์สมุนไพรใด ๆ อยู่หลายชนิด ควรนำฉลากยาทั้งหมดไปให้แพทย์ดู และแจ้งแพทย์เกี่ยวกับรายละเอียดการใช้ยาทุกชนิดอย่างละเอียดด้วย

2. หลีกเลี่ยงการเกา

 

หากอาการทางผิวหนังเกิดขึ้นจากการแพ้ยา เช่น ผิวหนังบวมแดง มีผื่นลมพิษ และเกิดอาการคัน ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือการเกาผิวหนังอย่างเด็ดขาด เพราะอาจทำให้อาการแพ้รุนแรงมากขึ้น และหากเกาผิวหนังอย่างรุนแรง อาจทำให้เกิดแผลถลอกและเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อที่ผิวหนังตามมาได้

ทั้งนี้ แพทย์อาจให้ยาทาเฉพาะที่เพื่อบรรเทาอาการคันที่เกิดขึ้นบนผิวหนัง ควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และควรงดเว้นการเกาผิวหนังจนว่าอาการจะหายดีด้วย

3. หลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดอาการระคายเคืองทางผิวหนัง

 

ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจทำให้ผิวหนังที่เกิดอาการแพ้ยาระคายเคืองเพิ่มขึ้น เช่น ล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัสผิวหนัง ใช้สบู่อาบน้ำสูตรอ่อนโยน สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอาการได้ดีและไม่คับแน่นจนเกินไป เพื่อลดการหมักหมมของเหงื่อและแบคทีเรียที่อาจก่อให้เกิดอาการระคายเคืองผิวหนังตามมา 

รวมถึงไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์รักษาอาการแพ้ทางผิวหนังที่อยู่นอกเหนือคำสั่งของแพทย์ด้วย เช่น ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ไม่ได้รับการรองรับจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพราะอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น

4. ประคบเย็นบนผิวหนัง

 

การประคบเย็นเป็นวิธีบรรเทาอาการแพ้ยาเบื้องต้นอีกวิธีหนึ่ง โดยการประคบเย็นจะช่วยลดอาการบวมบริเวณผิวหนัง และสามารถช่วยบรรเทาอาการแสบคันบริเวณผิวหนังได้ชั่วขณะด้วย การประคบเย็นมีวิธีการคือให้ใช้ผ้าขนหนูที่สะอาดห่อน้ำแข็ง แล้วนำมาประคบบริเวณผิวหนังที่เกิดอาการคันหรืออาการบวมประมาณ 5–10 นาที หรือจนกว่าอาการจะบรรเทาลง

ทั้งนี้ หากผิวหนังมีแผลเปิด เช่น แผลถลอกจากการเกาผิวหนัง ควรหลีกเลี่ยงการประคบร้อน

5. รับประทานยาแก้แพ้

ยาที่สามารถบรรเทาอาการแพ้ยาได้มีอยู่หลายชนิด ทั้งชนิดที่สามารถหาซื้อได้เองตามร้านขายยาทั่วไป เช่น ยาต้านฮีสตรามีน (Antihistamines) และชนิดที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น เช่น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) หรือยาขยายหลอดลม (Bronchodilators) โดยควรใช้ยาทุกชนิดตามคำแนะนำบนฉลากหรือคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อสุขภาพ

ส่วนในกรณีของผู้ที่มีภาวะแพ้อย่างรุนแรง (Anaphylaxis) ซึ่งถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่อันตรายถึงแก่ชีวิต แพทย์จะรักษาด้วยการให้ยาอิพิเนฟริน (Epinephrine) หรือยาอะดรีนาลีน (Adrenaline) ชนิดฉีด เพื่อช่วยบรรเทาอาการด้วย

ดังนั้น หากตัวเองหรือคนใกล้ตัวเกิดอาการแพ้อย่างฉับพลันและรุนแรง โดยสามารถสังเกตได้จากอาการผิดปกติต่าง ๆ เช่น วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด กลืนลำบาก หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เกิดความรู้สึกสับสน และรู้สึกคล้ายจะเป็นลมหมดสติ ควรรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที