5 วิธีรับมือกับความเครียดในช่วงวันหยุดยาว (Holiday Stress)

เชื่อว่าหลายคนคงไม่เคยสังเกตถึงความเครียดในช่วงวันหยุดยาว (Holiday Stress) เพราะเมื่อพูดถึงวันหยุดนักขัตฤกษ์หรือเทศกาลต่าง ๆ เราก็มักจะนึกถึงความผ่อนคลายและความรื่นเริงในการเฉลิมฉลอง แต่กลับมีผลการศึกษาที่พบว่าความเครียด ความเศร้า หรือความรู้สึกโดดเดี่ยวนั้นมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วงเทศกาลหรือวันหยุดยาว 

Holiday Stress ไม่ใช่โรค เป็นเพียงสภาวะอารมณ์ทางลบที่เกิดขึ้นหลังหรือระหว่างวันหยุดยาว อาจมีสาเหตุมาจากความคาดหวังที่สูงเกินไปจากทั้งตนเองและคนรอบข้างในการทำสิ่งต่าง ๆ ความกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายช่วงวันหยุด ความอ่อนเพลียจากการเตรียมตัวฉลองเทศกาล การต้องแยกจากคนที่รักในช่วงหยุดยาว ความโดดเดี่ยวเมื่อไม่มีคนให้ฉลองวันหยุดด้วยกัน หรือแม้แต่ความขัดแย้งของคนในครอบครัว

5 วิธีรับมือกับความเครียดในช่วงวันหยุดยาว (Holiday Stress)

โดยอาการของ Holiday Stress อาจแสดงให้เห็นผ่านอาการปวดหัวหรือปวดตามร่างกาย นอนไม่หลับ รู้สึกฉุนเฉียว เครียด วิตกกังวล เศร้า กินอาหารน้อยลง ดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น ซึ่งวิธีที่อาจช่วยให้เรารับมือกับความเครียดในช่วงวันหยุดยาวได้นั้นมีอยู่หลายวิธี 

1. วางแผนไว้ล่วงหน้า

การวางแผนหรือวางเป้าหมายอย่างสมเหตุสมผลก่อนฉลองวันหยุดยาวจะช่วยให้จัดเตรียมกิจกรรมและของที่ต้องใช้ในช่วงเทศกาลได้อย่างทันท่วงที ซึ่งจะเป็นผลดีหากต้องการควบคุมค่าใช้จ่าย เพราะไม่ต้องซื้อของเกินพอดีและได้ของตามต้องการ อีกทั้งการวางแผนล่วงหน้าในด้านของการเดินทางยังอาจช่วยให้เราเสียเวลาบนท้องถนนน้อยลง ได้ใช้เวลากับครอบครัวหรือคนที่รักมากขึ้นอีกด้วย 

2. ใส่ใจสุขภาพอยู่เสมอ

การเฉลิมฉลองวันหยุดยาวอาจทำให้เราหลงลืมการดูแลสุขภาพไปชั่วขณะ แต่ไม่ว่าจะเป็นช่วงวันหยุดยาวหรือวันหยุดเทศกาล การกินอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่พอดี จำกัดปริมาณการกินของหวาน ออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ได้ออกแรง และนอนหลับพักผ่อนอย่างน้อยคืนละ 7 ชั่วโมงก็ยังเป็นเรื่องที่เราทุกคนควรให้ความสนใจอยู่เสมอ

3. หลีกเลี่ยงความขัดแย้งจากการพูดคุย

การพูดคุยถึงเรื่องราวต่าง ๆ อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งได้หากแต่ละคนมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เพื่อหลีกเลี่ยงการทะเลาะเบาะแว้งระหว่างสมาชิกในครอบครัวหรือผู้ที่ใกล้ชิดในช่วงเทศกาล ควรหลีกเลี่ยงการพูดคุยในประเด็นที่มีความเปราะบาง เช่น การเมืองหรือความเชื่อทางศาสนา รวมทั้งไม่ควรพยายามเปลี่ยนแปลงความคิดของผู้อื่นในระหว่างการพูดคุย

นอกจากนี้ ยังควรรับฟัง ทำความเข้าใจ และเคารพความคิดเห็นที่แตกต่างจากตนเองอย่างจริงใจ เลือกพูดคุยเกี่ยวกับความชอบที่คล้ายคลึงกัน หากเริ่มรู้สึกถึงความตึงเครียดในระหว่างการสนทนา ควรตั้งสติ ไม่ตอบโต้ สูดหายใจลึก ๆ และควบคุมอารมณ์ตนเอง เพื่อไม่ให้สถานการณ์บานปลายหรือรุนแรงขึ้นกว่าเดิม

4. ให้ความสำคัญกับการดูแลจิตใจตนเอง

การให้ความสำคัญกับความรู้สึกของตนเองเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยลดความรุนแรงของ Holiday Stress ได้เป็นอย่างดี เราจึงควรเลือกทำกิจกรรมที่รู้สึกมีความสุขและสบายใจ ไม่จำเป็นต้องรู้สึกผิดเมื่อต้องปฏิเสธ ควรจำกัดการใช้สื่อสังคมออนไลน์หรือใช้เพื่อติดต่อสื่อสารกับครอบครัวตามความจำเป็น ไม่สร้างความกดดันให้กับตนเอง ยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบของทั้งตนเองและผู้คนรอบข้าง 

5. ไม่ลืมที่จะพักผ่อน

หากรู้สึกเหนื่อยจากการเตรียมตัว การเดินทางไกล หรือการฉลองวันหยุดยาว ควรหาเวลาเพื่อสร้างความผ่อนคลายให้กับตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการงีบหลับระหว่างวัน เล่นโยคะหรือออกกำลังกายแบบที่ชอบ ฟังเพลงโปรด อ่านหนังสือเล่มโปรด เดินเล่นนอกบ้าน หรือดูภาพยนต์ที่ก่อให้เกิดความบันเทิง เพื่อให้ร่างกายและจิตใจได้รับการฟื้นฟูอย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตาม หากรู้สึกว่าไม่สามารถรับมือกับอาการของ Holiday Stress ได้ หรือความเครียดที่เกิดขึ้นกระทบต่อชีวิตประจำวันในระยะยาว ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาแนวทางการรับมือด้วยวิธีอื่นที่เหมาะสมแทน เช่น การใช้ยาต้านเศร้า การพูดคุยเพื่อระบาย การเรียนรู้ที่จะมองโลกในแง่บวกและการเฝ้าระวังปัจจัยที่อาจกระตุ้นให้เกิดความเครียด