5 วิธีแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกายที่ปลอดภัยและทำได้ง่าย ๆ

วิธีแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกายมีอยู่หลายวิธี ซึ่งส่วนใหญ่สามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเอง และสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อให้ดีขึ้นได้ภายในเวลาไม่นาน เช่น การประคบ การรับประทานยา อย่างไรก็ตาม ควรเลือกศึกษาและเลือกใช้วิธีแก้อาการปวดเมื่อยที่เหมาะสมและปลอดภัยต่อร่างกาย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลข้างเคียงต่อสุขภาพตามมา

อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่มักเกิดจากการใช้กล้ามเนื้อมากเกินไป เช่น การทำงานที่ต้องออกแรงมาก หรือการใช้กล้ามเนื้อในท่าเดิมติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยเฉพาะการยกของหนัก การเล่นกีฬา หรือการออกกำลังกายโดยไม่ได้คลายกล้ามเนื้อก่อน ส่งผลให้เกิดความเจ็บปวด เมื่อยล้า ส่งผลต่อการเคลื่อนไหว และอาจส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันได้ด้วย

วิธีแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย

วิธีแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกายง่าย ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ

หากมีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ควรดูแลตนเองตามวิธีการดังต่อไปนี้ เพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วย เมื่อยล้า และอาจช่วยให้กลับมาเคลื่อนไหวร่างกายตามปกติได้อย่างรวดเร็ว

1. พักการใช้กล้ามเนื้อ

เมื่อเกิดอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ควรหยุดการทำกิจกรรมที่ใช้แรงมากหรือกิจกรรมที่ใช้กล้ามเนื้อบริเวณที่ปวดเมื่อยจนกว่าอาการจะดีขึ้น โดยเฉพาะการยกของหนัก การเล่นกีฬา การออกกำลังกายอย่างหักโหม เพื่อช่วยคลายความตึงเครียดของกล้ามเนื้อบริเวณที่เกิดอาการ และสามารถช่วยให้อาการปวดเมื่อยตามร่างกายบรรเทาลงได้

นอกจากนี้ อาจยกร่างกายบริเวณที่เกิดอาการปวดเมื่อยให้สูงกว่าระดับหัวใจหากทำได้ เช่น หากปวดเมื่อยบริเวณขาหรือน่อง ให้นอนเอาขาพาดบนหมอนให้สูงขึ้นเล็กน้อย เพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก

2. ประคบร้อนหรือเย็น

การประคบร้อนหรือเย็นสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการประคบร้อนจะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ช่วยคลายความตึงกล้ามเนื้อ และช่วยบรรเทาอาการปวด ส่วนการประคบเย็นจะช่วยลดอาการบวม อาการอักเสบ ช่วยบรรเทาอาการเคล็ด ขัด ยอก และช่วยบรรเทาอาการปวดได้ด้วย

การประคบร้อนหรือเย็นมีวิธีการคือใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นบิดให้หมาดในการประคบร้อน หรือใช้ผ้าขนหนูห่อน้ำแข็งในการประคบเย็น จากนั้นนำมาประคบบริเวณที่เกิดอาการปวดเมื่อยประมาณ 20–30 นาที สามารถประคบได้หลายครั้งใน 1 วันจนกว่าอาการจะดีขึ้น

3. นวดเบา ๆ บริเวณที่ปวดเมื่อย

การนวดเป็นวิธีแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกายที่ทำได้ง่าย ๆ อีกวิธีหนึ่ง โดยการนวดจะช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อที่ตึงเครียด และช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยได้ นอกจากนี้ การนวดด้วยน้ำมันหอมระเหยอาจสามารถช่วยคลายความปวดเมื่อยได้ดีมากขึ้น เพราะน้ำมันหอมระเหยหลายชนิด เช่น น้ำมันเปปเปอร์มินต์ มักมีคุณสมบัติในการรักษาอาการปวดเมื่อย

การนวดด้วยน้ำมันหอมระเหยสามารถทำได้โดยผสมน้ำมันหอมระเหยประมาณ 3–4 หยดเข้ากับน้ำมันตัวกลางอย่างน้ำมันมะพร้าวประมาณ 3–4 หยดเช่นกัน จากนั้นนำมาถูบริเวณกล้ามเนื้อที่เกิดอาการปวดเมื่อยเบา ๆ 

4. ยืดกล้ามเนื้อหรือออกกำลังกายเบา ๆ 

การยืดกล้ามเนื้อหรือออกกำลังกายเบา ๆ เช่น การแกว่งแขน การหมุนหัวไหล่ การเดิน หรือการทำโยคะ วันละประมาณ 20 นาที อาจเป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยคลายความปวดเมื่อยตามร่างกายได้ แต่ควรพิจารณาความรุนแรงของอาการก่อนว่าสามารถออกกำลังกายเบา ๆ ได้หรือไม่ และไม่ควรหักโหมจนเกินไป เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดเมื่อยมากขึ้นกว่าเดิม

5. ใช้ยาเพื่อช่วยบรรเทาอาการ

การรับประทานยาแก้ปวดทั่วไป เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) หรือยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถบรรเทาอาการปวดเมื่อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ควรใช้ยาตามคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามมา และผู้ที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาด้วย

นอกจากนี้ ยังสามารถใช้แผ่นแปะแก้ปวดหรือยานวดคลายกล้ามเนื้อเพื่อช่วยบรรเทาอาการได้เช่นกัน โดยมักมีส่วนผสมของตัวยาเมทิลซาลิไซเลต (Methyl Salicylate) ยาไดโคลฟีแนค (Diclofenac) หรือสารแคปไซซินที่เป็นสารสกัดจากพริก ซึ่งตัวยาเหล่านี้สามารถออกฤทธิ์ช่วยบรรเทาอาการป่วยเมื่อยตามร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

โดยแผ่นแปะแก้ปวดเหมาะสำหรับใช้ในบริเวณผิวหนังที่ราบเรียบ มีพื้นที่ผิวเยอะ และไม่มีการเคลื่อนไหวมาก เช่น แผ่นหลัง หรือคอ ส่วนยานวดคลายกล้ามเนื้อเหมาะสำหรับใช้ในบริเวณผิวหนังที่มีพื้นที่ผิวน้อยและมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา เช่น แขน ขา ข้อศอก หัวไหล่ หรือหัวเข่า จึงควรเลือกใช้อย่างเหมาะสม และศึกษาวิธีการใช้อย่างถี่ถ้วนก่อนเพื่อความปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม วิธีแก้ปวดเมื่อยตามร่างกายข้างต้นนี้อาจไม่ได้ผลหากคุณมีอาการปวดเมื่อยที่รุนแรง ต่อเนื่องยาวนาน หรือมีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ จึงควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะเมื่อมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น เช่น มีไข้ มีผื่น ผิวหนังบวมแดง อาเจียน หายใจลำบาก กล้ามเนื้ออ่อนแร หรือไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ตามปกติ