5 วิธีรักษาแผลกดทับระยะแรกง่าย ๆ ด้วยตัวเอง

การรู้จักวิธีรักษาแผลกดทับระยะแรกอาจช่วยบรรเทาอาการแผลกดทับ และช่วยป้องกันไม่ให้แผลกดทับรุนแรงขึ้นได้ นอกจากนี้ การรักษาแผลกดทับในระยะแรกตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น การติดเชื้อบริเวณผิวหนัง หรือภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด 

แผลกดทับเป็นการบาดเจ็บบริเวณผิวหนังที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยติดเตียงหรือผู้ที่เคลื่อนไหวไม่สะดวก โดยสาเหตุอาจเกิดจากการถูกกดทับบริเวณผิวหนังเป็นเวลานาน ซึ่งอาจส่งผลให้เลือดไหลเวียนไปบริเวณที่ถูกกดทับน้อยลง จนทำให้ผิวหนังมีแผลเกิดขึ้น โดยแผลกดทับมักเกิดขึ้นบ่อยบริเวณปุ่มกระดูกต่าง ๆ เช่น ส้นเท้า ข้อศอก สะโพก กระดูกก้นกบ

วิธีรักษาแผลกดทับระยะแรก

วิธีรักษาแผลกดทับระยะแรกด้วยตัวเองอย่างถูกวิธี

แผลกดทับมักมีอาการแตกต่างกันไปตามระยะต่าง ๆ โดยในระยะแรก บรืเวณแผลกดทับอาจแดง ทำให้รู้สึกเจ็บหรือปวด เมื่อกดแล้วผิวหนังจะไม่เปลี่ยนเป็นสีขาว หลังจากนั้นอาจรู้สึกอุ่นหรือเย็นเมื่อสัมผัสบริเวณแผลกดทับ และมีตุ่มน้ำหรือแผลเปิดเกิดขึ้น 

โดยแผลกดทับที่มีอาการดังกล่าว หรือแผลกดทับในระยะแรกอาจรักษาให้ดีขึ้นได้ด้วยตัวเอง ซึ่งวิธีรักษาแผลกดทับระยะแรกมีหลายวิธี เช่น

1. เปลี่ยนท่าทาง 

การเปลี่ยนท่าทางสามารถช่วยลดแรงกดทับบริเวณแผลได้ หากเป็นผู้ป่วยที่นอนติดเตียงหรือใช้เวลาส่วนใหญ่นอนอยู่บนเตียง ควรพลิกตัวหรือเปลี่ยนท่าทางทุก ๆ 2 ชั่วโมง หากเป็นผู้ป่วยที่นั่งบนวีลแชร์เป็นเวลานาน ควรขยับตัวทุก ๆ 15 นาที วิธีรักษาแผลกดทับระยะแรกนี้อาจช่วยลดแรงกดทับบริเวณผิวหนังที่อาจทำให้แผลแย่ลงได้

2. ใช้หมอนหรือที่นอนรองร่างกาย

วิธีรักษาแผลกดทับระยะแรกอีกหนึ่งวิธี คือการใช้หมอนรองบริเวณแผลกดทับ หรือใช้ที่นอนสำหรับผู้ป่วยแผลกดทับ เช่น ที่นอนโฟม ที่นอนลม หรือที่นอนเจล นอกจากนี้ อาจลองใช้เบาะรองนั่ง หากเป็นผู้ป่วยที่นั่งเป็นเวลานาน โดยการใช้อุปกรณ์เหล่านี้อาจช่วยกระจายน้ำหนักตัวเพื่อช่วยลดการกดทับของแผล และช่วยป้องกันแผลกดทับที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย  

3. ทำความสะอาดแผลกดทับ

การทำความสะอาดแผลเป็นวิธีรักษาแผลกดทับที่อาจช่วยลดโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อได้ โดยสามารถทำความสะอาดแผลกดทับที่ยังไม่เป็นแผลเปิดได้ด้วยการใช้สบู่สูตรอ่อนโยนและล้างด้วยน้ำสะอาด จากนั้นเช็ดแผลให้แห้ง

ทั้งนี้ หากบริเวณแผลกดทับมีตุ่มน้ำหรือมีแผลเปิดเกิดขึ้น ควรใช้น้ำเกลือล้างแผลให้สะอาดแทน และควรหลีกเลี่ยงการใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์หรือโพวิเดน ไอโอดีน เพราะอาจทำให้แผลได้รับความเสียหายเพิ่มเติมได้

หลังจากทำความสะอาดแผลแล้ว ควรปิดแผลด้วยผ้าก๊อซหรือแผ่นปิดแผลสำหรับแผลกดทับ โดยการปิดแผลจะช่วยให้รักษาความชุ่มชื้น และอาจส่งผลให้แผลกดทับฟื้นฟูเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การปิดแผลยังอาจช่วยป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่แผลได้อีกด้วย

4. กินอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน

ผู้ที่มีแผลกดทับส่วนใหญ่มักได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ซึ่งอาจส่งผลต่อกระบวนการฟื้นฟูบาดแผลของร่างกายได้ เพราะร่างกายจะใช้สารอาหารต่าง ๆ เพื่อช่วยในการรักษาแผลกดทับให้ดีขึ้น โดยเฉพาะโปรตีน ซึ่งสามารถได้รับจากอาหารต่าง ๆ เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ นม ดังนั้น การได้รับสารอาหารที่เพียงพอต่อร่างกายอาจเป็นตัวช่วยในการรักษาแผลกดทับระยะแรกให้ดีขึ้นได้ 

นอกจากจะใช้วิธีรักษาแผลกดทับระยะแรกด้วยการกินอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน การดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกัน เพราะอาจช่วยให้ผิวหนังและร่างกายแข็งแรง พร้อมทำงานได้อย่างเต็มที่

5. กินยาแก้ปวด

แผลกดทับมักทำให้เกิดอาการเจ็บหรือปวดบริเวณแผล ดังนั้น การกินยาแก้ปวด เช่น ยาไอบูโพรเฟน ยาพาราเซตามอล ยานาพรอกเซน อาจเป็นวิธีรักษาแผลกดทับระยะแรกที่ช่วยบรรเทาอาการปวดจากแผลกดทับที่เกิดขึ้น

นอกจากจะใช้วิธีรักษาแผลกดทับระยะแรกแล้ว ควรตรวจดูแผลกดทับเป็นประจำ หากพบว่าแผลกดทับมีสีเปลี่ยนไป มีขนาดใหญ่ขึ้น หรือเป็นแผลลึกจนกระทั่งมองเห็นกล้ามเนื้อ ชั้นไขมัน หรือกระดูก ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณของอาการแผลกดทับรุนแรงที่ควรได้รับการรักษาจากแพทย์

ทั้งนี้ หากพบอาการผิดปกติ เช่น มีไข้ แผลมีกลิ่นเหม็น แผลเป็นหนอง ผิวหนังรอบแผลแดงและบวม เมื่อกดผิวหนังรอบแผลแล้วรู้สึกเจ็บ ควรรีบไปพบแพทย์เช่นกัน เพราะอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อได้