4 สเต็ปเช็กท่าเดินที่ถูกต้อง ยืดอายุข้อต่อและลดอาการปวดหลัง

เดินเป็นการเคลื่อนไหวตามธรรมชาติที่ทำในทุกวัน เราจึงไม่ค่อยโฟกัสเกี่ยวกับวิธีการเดินสักเท่าไร แต่รู้หรือไม่ว่ามีบางคนที่เดินผิดท่าและการเดินด้วยวิธีที่ผิดอาจส่งผลให้เกิดอาการปวดหลัง ปวดข้อ และประสิทธิภาพในการทรงตัวลดลงได้

ในระยะยาว การเดินผิดท่าอาจเพิ่มความเสี่ยงของปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และข้อต่อทั่วร่างกาย เพราะการเดินจำเป็นต้องใช้อวัยวะหลายส่วน ไม่ว่าจะเท้า ขา ข้อเท้า สะโพก ลำตัว หลัง ไหล่ รวมไปถึงมุมของศีรษะและการแกว่งแขน มาถึงตรงนี้หลายคนคงสงสัยว่าท่าเดินที่ถูกต้องควรเป็นแบบไหน บทความนี้มีคำตอบให้

4 สเต็ปเช็กท่าเดินที่ถูกต้อง ยืดอายุข้อต่อและลดอาการปวดหลัง

ทำไมท่าทางการเดินถึงสำคัญ?

โดยปกติแล้วการเคลื่อนไหวร่างกายไม่ว่าจะรูปแบบไหน อวัยวะส่วนนั้นจะทำงานมากขึ้น โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวซ้ำ ๆ หากเราเคลื่อนไหวด้วยท่าที่ไม่ถูกต้องก็อาจเร่งการเสื่อมของอวัยวะได้

การเดินใช้อวัยวะและส่วนประกอบร่างกายหลายส่วน เช่น กล้ามเนื้อ ข้อต่อ เส้นเอ็น และเส้นประสาท เมื่อเราเดินอวัยวะเหล่านี้จะขยับทำให้ถูกกดและเสียดสีกัน แม้ว่าส่วนประกอบเหล่านี้ถูกสร้างมาเพื่อรองรับการเคลื่อนไหวซึ่งรวมถึงแรงกดและแรงเสียดสีอยู่แล้ว แต่ถ้าหากเราเดินผิดท่าอาจเพิ่มแรงกดและแรงเสียดสีให้มากขึ้น ส่งผลให้อวัยวะได้รับผลกระทบจากแรงเหล่านี้มากกว่าปกติ เมื่อใช้งานบ่อย อวัยวะเหล่านั้นก็อาจเสื่อมก่อนเวลาที่ควรจะเป็นได้

การเดินเป็นการเคลื่อนไหวซ้ำ ๆ การเดินผิดท่าอาจยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของอาการปวดกล้ามเนื้อ เมื่อยล้า และเคล็ดขัดยอกบริเวณเท้า ขา สะโพก และหลัง ทั้งยังอาจส่งผลต่อการทรงตัวที่อาจนำไปสู่อุบัติเหตุและความลำบากในการใช้ชีวิตได้

ในขณะเดียวกัน ท่าเดินที่ถูกต้องจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงของอวัยวะ เพราะแรงกดและการเสียดสีในระดับที่เหมาะสมจะช่วยบริหารอวัยวะเหล่านั้นให้ทำงานได้ดีขึ้น ลดอาการเมื่อยล้า ปวดกล้ามเนื้อ ลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บ เสริมการทรงตัว การเคลื่อนไหว และบุคลิกภาพให้ดูดีขึ้นด้วย

เห็นได้ว่าท่าทางการเดินมีความสำคัญต่อทุกคนอยู่ไม่น้อย ยิ่งใครที่ออกกำลังกายด้วยการเดินและเดินเร็ว (Brisk Walking) หรือต้องเดินติดต่อกันหลายนาทีหรือชั่วโมง ถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรู้จักการเดินด้วยท่าที่ถูกต้อง นอกจากนี้คนที่มีน้ำหนักตัวมากก็อาจได้รับผลกระทบจากการเดินผิดท่าได้เช่นกัน โดยมีงานศึกษาชิ้นหนึ่งชี้ว่าคนที่มีน้ำหนักตัวมากหรือป่วยเป็นโรคอ้วนอาจเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ ข้อต่อ เส้นเอ็น และเส้นประสาทมากกว่าคนน้ำหนักตัวปกติ เพราะว่าน้ำหนักตัวจะเพิ่มแรงกดและแรงเสียดสีของอวัยวะจึงทำให้คนกลุ่มนี้เสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากการเดินผิดท่ามากขึ้น

ฝึกท่าเดินที่ถูกต้องเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น

ท่าเดินที่ถูกต้องจะมีจุดสังเกต 4 จุดด้วยกัน ได้แก่

1. เท้าและส้นเท้า

เท้าและส้นเท้าเป็นส่วนที่รับน้ำหนักจากการเดินมากที่สุด เท้าและส้นเท้าจึงเปรียบเสมือนกับฐานที่ช่วยให้ร่างกายเรามั่นคง เมื่อเราก้าวเท้าออกไป ส้นเท้าควรเป็นสิ่งแรกที่สัมผัสกับพื้น จากนั้นค่อยวางเท้าที่เหลือ โดยไล่จากส้นเท้า ฝ่าเท้า จมูกเท้า และนิ้วเท้าจนวางได้เต็มเท้า เมื่อจะก้าวเท้าต่อไป ควรใช้ปลายเท้ายึดกับพื้นและเริ่มยกจากส้นเท้าเข้าหาปลายเท้าเพื่อก้าวเท้า ส่วนลักษณะการก้าวที่ควรหลีกเลี่ยง คือ การก้าวโดยวางเท้าไปทั้งเท้าพร้อมกัน การก้าวด้วยปลายเท้า การเดินลากเท้า การลงน้ำหนักมากเกินไป และการกระแทกเท้า

2. สะโพก ลำตัว หลัง และหัวไหล่

หลายคนอาจไม่ได้สนใจว่าลำตัวส่วนบนและจะอยู่ในท่าทางไหน เพราะคิดว่าการเดินดูเหมือนเป็นการใช้อวัยวะช่วงล่างเป็นหลัก ซึ่งหากอยู่ในท่าทางผิดอาจทำให้หลังได้รับแรงกดมากกว่าปกติจนทำให้ปวดหลังและเสียบุคลิกภาพได้ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการเดินหลังค่อม แอ่นสะโพก งอสะโพก ห่อไหล่ และยกไหล่ เพราะบางคนอาจชินและเผลอทิ้งตัวจนทำให้อวัยวะเหล่านี้อยู่ผิดตำแหน่งได้ ในระหว่างเดินควรตั้งสะโพกให้ตรง ยืดหลัง ลำตัว และไหล่ให้ตรง พร้อมกับจัดระเบียบอวัยวะเหล่านี้ให้เป็นธรรมชาติ ผ่อนคลาย และไม่เกร็ง เพื่อลดแรงกดที่อาจทำให้ปวดหลังได้

3. ศีรษะและคอ

มาถึงจุดบนสุดของร่างกาย ตำแหน่งและองศาของศีรษะและคอเป็นส่วนที่สำคัญไม่น้อยในการเดินอย่างถูกต้อง รวมทั้งในแง่ของบุคลิกภาพด้วย องศาของคอส่งผลต่อการใช้กล้ามเนื้อ กระดูก และข้อต่อ เพราะการเดินก้มหน้าหรือเงยหน้ามากเกินไปอาจทำให้ปวดคอได้ โดยลักษณะของศีรษะและคอระหว่างเดินที่ถูกต้อง คือ ตั้งศีรษะให้ตรง คางขนานกับพื้น ไม่ชี้ไปด้านหน้าหรือชี้เข้าหาหน้าอก ระหว่างเดินควรกวาดสายตามองพื้นด้านหน้าในระยะ 3-6 เมตร และหลีกเลี่ยงการเดินก้มหน้ามองพื้นเพราะนอกจากจะทำให้ปวดคอแล้ว ยังอาจทำให้เดินชนกับสิ่งของและเกิดอุบัติเหตุได้

4. แขน

แม้ว่าเวลาเราเดิน แขนเราจะแกว่งตามธรรมชาติ แต่มีข้อสังเกตบางอย่างที่พบว่าบางคนอาจแกว่งแขนผิด โดยใช้การแกว่งข้อศอกแทนการใช้แรงเหวี่ยงตามธรรมชาติที่มาจากหัวไหล่ นอกจากนี้ การแกว่งแขนที่เหมาะสมควรแกว่งให้อยู่ข้างลำตัว ไม่แกว่งเข้าหาตัวและไม่แกว่งแขนสูงเกินไป

นอกจากนี้อาจเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการเดินด้วยการเลือกรองเท้าที่เหมาะสมกับการเดินเพื่อช่วยดูดซับแรงกระแทกและลดแรงกดจากการลงน้ำหนัก โดยเฉพาะคนที่น้ำหนักตัวมากหรือคนที่ต้องเดินติดต่อกันเป็นเวลานาน เพียงเท่านี้ก็สามารถเดินได้อย่างถูกต้องและยืดอายุการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ได้แล้ว

การเดินผิดท่าอาจมาจากความเคยชินส่วนตัว การบาดเจ็บ และปัญหาสุขภาพที่ส่งผลต่อการเดินโดยไม่รู้ตัว ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้โดยที่ไม่รู้และไม่ได้รับการรักษา อาจเพิ่มความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้ ดังนั้น หากเพื่อนหรือคนใกล้ตัวทักว่ามีลักษณะการเดินที่แปลกไป ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างเหมาะสม

การปรับเปลี่ยนท่าทางการเดินอาจจะต้องใช้เวลาเล็กน้อยในการฝึกให้ชิน แต่ไม่ควรกังวลมากเกินไป และค่อย ๆ ปรับไปทีละเล็กละน้อย หากไม่สามารถปรับท่าเดินได้หรือปรับท่าเดินแล้วเจ็บ ปวด รู้สึกจี๊ด หรือขาบวม ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษาอย่างถูกต้อง