ถามแพทย์

  • มีปััญหาเลิกกับสามีต้องดูแลลูกคนเดียว มีปัญหาเรื่องอารมณ์มากโมโหง่าย และรุนแรง ต้องทำอย่างไร

  •  Mickey Nichamon
    สมาชิก

    ท้าวความเลยคือเราเลิกกับพ่อของลูก โดยที่มีปัญหาสะสมมานาน และเกิดความผิดหวังอย่างแรงกับครอบครัวของเขา ตอนนี้มาเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวแล้วค่ะ

    ซึ่งเราเลี้ยงลูกเองและทำงานไปด้วยเกือบ24ชม.โดยมีแม่และน้องช่วยดูบ้าง เพราะแม่ต้องทำงานและแบกภาระส่วนใหญ่ในบ้าน

    มาเข้าที่ปัญหานะคะ คือเราสับสนกับความรู้สึกตัวเอง เหมือนบางครั้งเราก็อ่อนแอมากๆ บางครั้งก็เข้มแข็ง บางครั้งก็โมโหร้ายสุดๆ เราไม่มีเป้าหมายในชีวิตอีกแล้ว เหมือนไม่หวังอะไรเลย เกลียดตัวเอง ไม่รู้จะอยู่ทำไม เหมือนเราเราล้มเหลวในชีวิต ไม่มีอะไรสักอย่างเลย ยังต้องพึ่งแม่อยู่ตลอด แม่เงินเดือนเยอะแต่ภาระก็เยอะค่ะ

    บางครั้งเราไม่อยากทำอะไรเลยเพราะเหมือนชีวิตเรามันได้แค่นี้ ไม่ดีกว่านี้แล้ว แต่เราก็คิดว่าต้องมีลูกที่ต้องดูแล ก็พยายามทำงานทำงานหาเงิน มีบางอารมณ์เราก็เข้มแข็ง
    แต่ด้วยวัยที่ลูกซนมาก เราก็ต้องทำงานบวกกันแล้วเวลาพักผ่อนแทบไม่มี และแม่เราก็ชอบพูดทับถมเหมือนเราเป็นตัวถ่วง หรือพูดเหน็บแนมเรากับทางบ้านแฟน
    เรารู้ว่าเขาเหนื่อยค่ะ

    บวกกับเราทำงานด้วยเลี้ยงลูกด้วย เวลาลูกดื้อซนมาก
    ทำให้บางครั้งเราก็โมโหร้ายกับลูกมากๆเลย เราเริ่มมีอาการ ไม่อยากกินข้าว กินแล้วจะอ้วกออกเลยค่ะกระเพาะไม่รับ เริ่มไม่มีเป้าหมายให้ตัวเองเลย หาเงินได้เยอะ แต่ก็ใช้เยอะเห็นอะไรเกี่ยวกับเด็กคือจะซื้อๆๆตอนซื้อคือจะมีความสุข แต่ไม่ได้ซื้ออะไรให้ตัวเองนะคะ ซื้อให้ลูกแค่นั้น ซื้อจนหมดเงินไปเลย แล้วค่อยหาใหม่ แต่มันเหมือนสุขแค่ชั่วคราว เงินเก็บเรากลายเป็นไม่มีเลยค่ะ
    เรากลายเป็นคนที่เก็บเงินไม่ได้เลย ทั้งที่หาเงินได้ไม่น้อย และในใจเรารู้สึกเป็นตัวถ่วงคนอื่นตลอดเวลา ไม่อยากพบเจอใคร ไม่อยากไปไหน อยากอยู่กับลูกแค่สองคน
    เพราะคิดตลอดว่า ตัวเราไม่มีคุณค่า มีลูกคนเดียวที่เห็นเรามีคุณค่า คือ ในใจคิดตลอดว่า ถ้าไม่มีลูกที่เราต้องดูแล เราก็ไม่มีเหตุผลจะอยู่บนโลกใบนี้ มันเริ่มรู้สึกว่างเปล่าจริงๆค่ะ เราก็อธิบายไม่ถูกเหมือนกันค่ะ แต่รู้สึกได้ว่ามันแย่ลงเรื่อยๆ รบกวนช่วยหาแนวทางแก้ปัญหาหน่อยค่ะ เราอยากไปพบจิตแพทยแต่ก็ไม่รู้จะเรียบเนียงคำพูดหรือเริ่มต้นเล่าแบบไหนดี

     สวัสดีคะคุณ Mickey Nichamon

    สวัสดีค่ะ ความรู้สึกที่คุณมีตอนนี้เป็นภาวะที่เรียกว่า ภาวะโรคซึมเศร้า คุณควรจะไปพบและปรึกษาจิตแพทย์ทันที เพื่อพูดคุยและหาสาเหตุขอภาวะโรคซึมเศร้านี้ และเข้ารับการรักษาทันที ซึ่งการรักษาประกอบด้วยการรับประทานยาต้านการซึมเศร้า และการทำกลุ่มบำบัดค่ะ

    ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า ( depression หรือ Major depressive disorder ) โรคซึมเศร้าเป็นสภาวะทางจิตที่เกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลา 2 อาทิตย์ ผู้ป่วยมักจะมีปัญหาขาดความมั่นใจ ขาดความสนใจในกิจกรรมที่เคยสนใจมาก่อน รู้สึกเหนื่อยอ่อนเพลีย และบางครั้งมีภาวะเจ็บปวดที่หาสาเหตุไม่ได้ บางครั้งคุณอาจมีภาวะเชื่อในสิ่งที่ผิด และ ได้ยินหรือเห็นสิ่งที่คนอื่นไม่เห็น ภาวะซึมเศร้าอาจเกิดขึ้นในได้คนปกติ ภาวะซึมเศร้าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนมีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย ดังนั้นหมอขอยืนยันว่าคุณควรไปพบจิตแพทย์ทันที

    อย่างที่กล่าวมาข้างต้นโรคซึมเศร้าเป็น สภาวะจิตใจที่เปลี่ยนแปลงไป แต่อย่างอย่างไรก็ตาม สภาวะนั้นจะต้องเป็นต่อเนื่องอย่างน้อย 2 อาทิตย์ แพทย์ถึงจะพินิจฉัยว่าคุณมีปัญหาเรื่องภาวะซึมเศร้า เพราะนอกจากนี้ยังมีสภาวะที่ทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกเปลี่ยนในช่วงระยะเวลาอันสั้น หรือ เกิดเป็นช่วงเวลา เช่น seasonal affective disorder ซึ่งเป็นสภาวะซึมเศร้าที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล มักเกิดในกลุ่มประเทศเขตหนาว ที่มีระยะเวลากลางวันสั้นลงในฤดูหนาว กลางคืนยาวขึ้นซึ่งในคนไข้กลุ่มนี้สามารถที่ช่วยได้ด้วยการนั่งในห้องที่ใช้แสงไฟพิเศษ ประมาณ 15-20 นาทีต่อวัน

    นอกจากนี้คุณควรจะสังเกตว่าก่อนที่อาการซึมเศร้าจะเกิดขึ้นกับคุณ มีเหตุการณ์อะไรเปลี่ยนแปลงขึ้นในชีวิตของคุณ ทั้งเหตุการณ์ที่คุณคิดว่าอาจจะเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะซึมเศร้าขึ้นหรือไม่ก็ได้ ให้พยายามรวบรวมความคิดเหล่านั้นไว้ด้วย และอีกอย่างที่สำคัญที่จะลืมเสียมิได้คือ คุณมีการใช้สารหรือยาบางอย่างที่ทำให้คุณมีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วยหรือไม่

    จุดมุ่งหมายหลักในการรักษาคนไข้กลุ่มนี้ มีดังต่อไปนี้

    1. การป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยมีสภาวะซึมเศร้า

    2. การป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยสูญเสียความรู้สึกสนใจและพอใจที่อยากจะทำสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวัน

    3. การป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสียความอยากอาหารและมีปัญหาเรื่องน้ำหนักที่ผิดปกติไป

    4. การป้องกันไม่ให้มีการนอนหลับมากเกินไป

    5. การป้องกันเพื่อไม่ให้มีความรู้สึกหงุดหงิด

    6. การป้องกันไม่ให้เกิดสภาวะเหนื่อยอ่อนเพลียและรู้สึกล้าตลอดเวลา

    7. การป้องกันไม่ได้ผู้ป่วยคิดว่าตัวเองมีปมด้อย หรือรู้สึกผิด

    8. การป้องกันให้ผู้ป่วยสามารถมีกำลังใจในการคิดและพยายามคิดและตัดสินใจในทางที่ถูกต้อง

    9. การป้องกันไม่ให้เกิดความคิดที่จะฆ่าตัวตาย

     

    ดังที่หมอได้กล่าวมาข้างต้น ลักษณะอาการที่เกิดขึ้นกับคุณ ต้องได้รับการพบจิตแพทย์ทันที เพื่อประเมินสภาวะทางจิตใจ และให้สามารถได้รับการพินิจฉัยที่ถูกต้อง เพื่อนำไปสู่การรักษาที่มีประสิทธิภาพ เช่น การรักษาด้วยยาต้านภาวะซึมเศร้า และการเข้ากลุ่มบำบัดอย่างที่หมอกล่าวมาข้างต้น