ถามแพทย์

  • ไอมีเสมหะ มาหลายเดือนแล้ว มักไอกลางคืนหรือตอนเช้า ไม่ได้ไอทั้งวัน เป็นภูมิแพ้ไหม เคยฉายแสงที่เต้านม จะมีผลไหม

  •  Jantima Roobtum
    สมาชิก
    สอบถามหน่อยคะคุณหมอ คือหนู ไอมีเสมหะ มาหลายเดือนแล้วคะ แต่จะไอวันเว้นคะ จะไอไม่ก็กลางคืนหรือตอนเช้าคะ จะไอแค่2-3ชม.ก็จะหายไปเองและไม่ไอทั้งวันคะ อยากทราบว่าอาการนี้เป็นภูมิแพ้หรือป่าวคะ จะทำใงถึงจะหายคะ หนูเคยฉายแสงที่เต้านมจะเกี่ยวกับการฉายแสงด้วยไหมคะ

    สวัสดีค่ะ คุณ Jantima Roobtum,

                       อาการไอมีเสมหะ ที่เป็นมาหลายเดือนแล้ว อาจเกิดจาก 

                       1. โรคหอบหืด อาการมักจะกำเริบขึ้นเมื่อโดนกระตุ้นจากสิ่งที่แพ้ อุณหภูมิที่เย็น (ดังนั้น อาการจะเป็นตอนกลางคืนหรือช่วงเช้ามากกว่ากลางวัน) การออกกำลังกาย หรือความเครียด บางรายอาจมีเฉพาะอาการไอได้  แต่ส่วนใหญ่มักมีอาการอื่นๆ ร่วมอีก เช่น หายใจลำบาก หายใจขัด แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงดังวี๊ดๆ หอบเหนื่อย เป็นต้น

                    2. ภูมิแพ้ชนิดแพ้อากาศ แต่นอกจากไอแล้ว มักมีอาการคันจมูก คันคอ จาม น้ำมูกไหลโดยอาการจะเกิดเมื่อสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ 

                   3. กรดไหลย้อน อาจทำให้เกิดอาการไอได้จากน้ำย่อยที่ไหลย้อนขึ้นมาระคายเคืองบริเวณลำคอและอาจไหลลงสู่หลอดลม จึงกระตุ้นให้เกิดการไป แต่มักมีอการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น แสบร้อนกลางอก จุกแน่นลิ้นปี่ เรอบ่อย รู้สึกเปรี้ยวหรือขมที่ลำคอ มีน้ำลายในคอหรือมีเสมหะ มีคลื่นไส้หลังทานอาหาร อิ่มเร็ว เป็นต้น                   

                    4. วัณโรคปอด แต่จะมีไข้ น้ำหนักลด เบื่ออาหารร่วมด้วย

                    5. มะเร็งปอด หรือมะเร็งอื่นๆ ที่กระจายไปยังปอด แต่อาการไอจะเป็นมากทั้งกลางวันและกลางคืนและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงมีอาการอื่นๆ เช่น ไอปนเลือด เหนื่อยหอบ น้ำหนักลด เป็นต้น

                    ส่วนการที่เคยฉายรังสีที่เต้านม อาจทำให้เกิดพังผืดในปอดได้ แต่จะเป็นแค่เฉพาะที่ และโดยปกติจะไม่ได้ส่งผลทำให้เกิดอาการอะไร ดังนั้น ก็ไม่น่าทำให้เกิดอาการไอค่ะ 

                    หากอาการไอยังไม่หายไป หรือเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรักษาค่ะ ในเบื้องต้น ควรดื่มน้ำเปล่ามากๆ หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำเย็นโดยเฉพาะเวลากลางคืน ไม่อาบน้ำเย็นช่วงกลางคืน รักษาร่างกายให้อบอุ่น ใส่เสื้อผ้าที่มิดชิดในเวลากลางคืน ไม่โดนลมหรือโดนฝน หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีฝุ่นละอองมาก  ไม่สูบบุหรี่และไม่อยู่ใกล้ผู้ที่สูบบุหรี่ เป็นต้น