การรักษา ไข้เลือดออก
ในปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสเดงกี่ที่รักษาโรคนี้ได้โดยตรง ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องรักษาตามอาการที่พบ และประคับประคองอาการป่วยไม่ให้รุนแรงขึ้น จนกว่าร่างกายจะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายเป็นปกติ ทั้งนี้ ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลทุกราย ซึ่งกระบวนการรักษาจะขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรคเป็นหลัก ดังนี้
- ผู้ป่วยที่มีไข้ในระยะแรกเริ่ม แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยาพาราเซตามอล ซึ่งมีฤทธิ์แก้ปวดและลดไข้ แล้วให้กลับไปพักรักษาตัวที่บ้านได้หากไม่มีอาการแทรกซ้อนหรือความรุนแรงของโรคที่เพิ่มขึ้น โดยอาการป่วยจะหายไปภายใน 2-7 วัน
- ผู้ป่วยที่มีไข้สูง รวมถึงผู้ป่วยที่อาเจียน มีอาการเบื่ออาหาร หรืออ่อนเพลียมาก อาจเสี่ยงต่อภาวะช็อกได้เนื่องจากร่างกายขาดน้ำ จึงจำเป็นต้องให้สารน้ำทดแทนอย่างสารละลายน้ำตาลเกลือแร่
- ผู้ป่วยที่เป็นสตรี หากสงสัยว่ากำลังป่วยเป็นไข้เลือดออก ควรแจ้งแพทย์เกี่ยวกับการมีประจำเดือน เพราะหากพบว่าเป็นโรคไข้เลือดออก การมีประจำเดือนจะทำให้อาการแย่ลง และอาจต้องเลื่อนประจำเดือนออกไปก่อน
นอกจากนี้ ผู้ป่วยไม่ควรใช้ยาแอสไพริน เพราะมีผลต่อการทำงานของเกล็ดเลือด ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกและทำให้อาการป่วยรุนแรงขึ้นได้ อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีสีแดงหรือสีน้ำตาล เพราะมีผลต่อการวินิจฉัยและแยกแยะว่ามีเลือดออกภายในด้วยหรือไม่
ส่วนญาติและคนรอบข้างของผู้ป่วย ควรเฝ้าระวังอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดด้วย หากมีอาการป่วยรุนแรง ไม่สามารถรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำได้ อาเจียนออกมามากหรืออาเจียนเป็นเลือด ปวดท้องกะทันหัน มือเท้าเย็น ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที โดยแพทย์ต้องคอยตรวจวัดและควบคุมระดับความดันเลือดไม่ให้ลดต่ำลงมาก เพราะอาจมีภาวะเลือดออกเป็นปริมาณมากหรือมีการรั่วของพลาสมาที่อวัยวะภายใน ส่งผลให้การทำงานของอวัยวะและระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายล้มเหลว ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการช็อกและเสียชีวิตตามมาได้