การป้องกัน ไข้เลือดออก
วิธีการป้องกันการเกิดโรคไข้เลือดออก ทำได้โดยกำจัดพาหะนำโรคอย่างยุงลายบ้านและยุงลายสวนที่ออกหากินในเวลากลางวันเป็นหลัก รวมถึงการดูแลรักษาสุขภาพและการใช้ชีวิต ดังนี้
กำจัดยุงลายที่เป็นพาหะนำโรค
ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบริเวณบ้านและชุมชน คว่ำ ปิดฝาภาชนะ หรือไม่ปล่อยให้ภาชนะมีน้ำขังเพื่อป้องกันยุงมาวางไข่ ใส่ทรายอะเบท (ABATE) ตามภาชนะใส่น้ำ อย่างแจกัน ถังเก็บน้ำ เพื่อกำจัดลูกน้ำยุงลาย เลี้ยงปลาให้กินลูกน้ำยุงลายเช่น ปลากัด ปลาหางนกยูง ฉีดพ่นยาฆ่าแมลงหรือสารเคมีกำจัดยุงเป็นระยะ โดยขณะฉีดพ่นควรแต่งกายอย่างมิดชิด สวมหมวก ถุงมือ และหน้ากากเพื่อป้องกันสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย หรือแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหากพบว่ามีการระบาดของยุงในชุมชน
ป้องกันการติดเชื้อ
แต่งกายมิดชิด สวมเสื้อและกางเกงขายาวเมื่อออกนอกบ้าน ฉีดสเปรย์หรือทายากันยุง หลีกเลี่ยงการอยู่ในแหล่งชุมชนที่มีคนจำนวนมากและพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อ ไม่อยู่ในบริเวณที่อับชื้นหรือตามมุมมืด ติดมุ้งลวดที่ประตูและหน้าต่าง ตรวจเช็คความเรียบร้อยของประตู หน้าต่าง ผนังบ้าน ไม่ให้มีรูหรือช่องให้ยุงเข้ามาภายในบ้านได้
สร้างภูมิคุ้มกันที่ดี
คนทุกเพศทุกวัยควรกินอาหารที่มีประโยชน์ตามหลักโภชนาการ ควบคู่กับการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมเป็นประจำ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย
รับการฉีดวัคซีน
นักวิจัยบางส่วนกำลังคิดค้นและผลิตวัคซีนต้านเชื้อเดงกี่ชนิดต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้มี Dengvaxia (CYD-TDV) ซึ่งเป็นวัคซีนที่กำลังถูกวิจัยและได้รับการรับรองให้ใช้ในบางประเทศรวมถึงประเทศไทย โดยวัคซีนนี้มีฤทธิ์ป้องการการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ กำหนดให้ใช้ในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 9‒45 ปี และให้ฉีดทั้งหมด 3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 6 เดือน ทั้งนี้ หลังฉีดวัคซีนอาจมีอาการข้างเคียงเล็กน้อย อย่างมีไข้ต่ำ ๆ มีห้อเลือด ปวดกล้ามเนื้อ
อย่างไรก็ตาม แม้จะผ่านการรับรองความปลอดภัยแล้ว แต่แพทย์ไม่แนะนำให้กลุ่มคนต่อไปนี้รับวัคซีน Dengvaxia
- ผู้ที่มีอาการแพ้ส่วนประกอบใด ๆ ในวัคซีน หรือแพ้ยาชนิดอื่นที่มีส่วนประกอบเหมือนกัน
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น
- ผู้ที่มีไข้ระดับปานกลางจนถึงมีไข้สูง หรือผู้ที่มีอาการป่วยกะทันหัน ซึ่งควรเลื่อนการฉีดวัคซีนไปจนกว่าจะหายเป็นปกติ
- ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร รวมทั้งหากกำลังวางแผนตั้งครรภ์ ควรเว้นระยะตั้งครรภ์หลังจากได้รับวัคซีนนี้อย่างน้อย 1 เดือน