โอเมพราโซล (Omeprazole)

โอเมพราโซล (Omeprazole)

โอเมพราโซล (Omeprazole) เป็นยาลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร ใช้รักษาอาการกรดไหลย้อนหรือโรคที่มีกรดในกระเพาะอาหารมากเกินไป รวมถึงโรคหลอดอาหารอักเสบจากกรดในกระเพาะ และยังใช้ควบคู่กับยาปฏิชีวนะ เพื่อรักษาแผลในกระเพาะอาหารที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ไพโลไร (H. pylori)

โอเมพราโซล

เกี่ยวกับยา Omeprazole

กลุ่มยา ยายับยั้งการหลั่งกรด (Proton Pump Inhibitors)
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ ยาหาซื้อได้เอง
สรรพคุณ รักษาโรคกรดไหลย้อน และแผลในกระเพาะอาหาร
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร Category C จากการศึกษาในสัตว์พบว่า ทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทดลองในมนุษย์และสัตว์ ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่ามีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์ ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ วางแผนตั้งครรภ์ และผู้ที่กำลังให้นมบุตร จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา เนื่องจากตัวยาอาจซึมผ่านน้ำนมมารดาและเป็นอันตรายต่อทารกได้
รูปแบบของยา ยารับประทาน ยาฉีด

คำเตือนในการใช้ยา Omeprazole

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ใช้ยาควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • จ้งให้แพทย์ทราบหากมีประวัติแพ้ยา ส่วนประกอบของยา Omeprazole หรือยาชนิดอื่น ๆ
  • ผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพหรือประวัติทางสุขภาพใด ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยา เช่น โรคตับ โรคหัวใจ โรคกระดูกพรุน หรือระดับแมกนีเซียมในเลือดต่ำ
  • ห้ามใช้ยา Omeprazole ในผู้ที่แพ้ยานี้หรือยากลุ่มเบนซิมิดาโซล (Benzimidazole) เช่น อัลเบนดาโซล (Albendazole) มีเบนดาโซล (Mebendazole) แลนโซพราโซล (Lansoprazole) แพนโทพราโซล (Pantoprazole) และราบีพราโซล (Rabeprazole) รวมถึงผู้ใช้ยาต้านเชื้อเอชไอวี (HIV) มีปัญหาในการหายใจหรือไต 
  • ยา Omeprazole อาจทำให้เสี่ยงต่อกระดูกเอว สะโพก และกระดูกสันหลังแตกหรือหักได้ โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ยาปริมาณมากหรือเป็นเวลานาน หรือผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป
  • ยานี้อาจทำให้ขาดวิตามินบี 12เมื่อใช้ติดต่อนานเกิน 3 ปี หากต้องใช้ยาเป็นเวลานานควรปรึกษาแพทย์
  • ห้ามซื้อมารับประทานเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ หากมีอาการเจ็บเวลากลืนอาหาร อาเจียนคล้ายเลือด อุจจาระเป็นเลือดหรือสีดำ เจ็บหน้าอกบ่อย แสบร้อนกลางอกมานานกว่า 3 เดือน แสบร้อนกลางอกและหายใจดังหวีด น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ ปวดท้อง หรือคลื่นไส้
  • หญิงตั้งครรภ์หรือกำลังวางแผนมีบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
  • หญิงให้นมบุตรไม่ควรรับประทานโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ เพราะยานี้สามารถผ่านสู่น้ำนมและเป็นอันตรายต่อลูกได้
  • ห้ามให้เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปีรับประทานยานี้โดยไม่ปรึกษาแพทย์

ปริมาณการใช้ยา Omeprazole

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยตัวอย่างการใช้ยา Omeprazole เพื่อรักษาโรคกรดไหลย้อนและปัญหาสุขภาพต่าง ๆ มีดังนี้

โรคกรดไหลย้อน
ตัวอย่างการใช้ยา Omeprazole เพื่อรักษาโรคกรดไหลย้อน

เด็กอายุ 1 ขึ้นไป ที่มีน้ำหนัก 10–20 กิโลกรัม รับประทานยาในปริมาณ 10 มิลลิกรัม หากจำเป็นอาจเพิ่มปริมาณยาได้ถึง 20 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ติดต่อกัน 4–8 สัปดาห์ 

เด็กอายุ 2 ปีขึ้นไป ที่มีน้ำหนักมากกว่า 20 กิโลกรัม รับประทานยาในปริมาณ 20 มิลลิกรัม หากจำเป็นอาจเพิ่มปริมาณยาได้ถึง 40 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ติดต่อกัน 4–8 สัปดาห์  

ผู้ใหญ่ รับประทานยาในปริมาณ 20 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ติดต่อกัน 4–8 สัปดาห์ หากมีอาการรุนแรงให้รับประทานยา 40 มิลลิกรัม วันละ 1–2 ครั้ง ติดต่อกัน 8 สัปดาห์ โดยปริมาณยาต่อเนื่องจะอยู่ที่ 10 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง หากจำเป็นอาจเพิ่มปริมาณยาถึง 20–40 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง   

แผลในกระเพาะอาหาร
ตัวอย่างการใช้ยา Omeprazole เพื่อรักษาแผลในกระเพาะอาหาร

ผู้ใหญ่ รับประทานยาในปริมาณ 20 หรือ 40 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ติดต่อกัน 4–8 สัปดาห์ โดยปริมาณยาต่อเนื่องจะอยู่ที่ 10–20 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง และอาจเพิ่มปริมาณยาถึง 40 มิลลิกรัมตามการตอบสนองต่อยา

แผลจากยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด (NSAID)
ตัวอย่างการใช้ยา Omeprazole เพื่อรักษาแผลจากยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 20 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ติดต่อกันถึง 8 สัปดาห์ โดยปริมาณยาต่อเนื่องจะอยู่ที่ 20 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง 

แผลในกระเพาะอาหารจากโรคติดเชื้อเอชโพโลไร (Helicobacter Pylori)
ตัวอย่างการใช้ยา Omeprazole เพื่อรักษาแผลในกระเพาะอาหารจากโรคติดเชื้อเอชโพโลไร

เด็กอายุมากกว่า 4 ปี ที่มีน้ำหนัก 15–30 กิโลกรัม รับประทานยาปริมาณ 10 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง น้ำหนัก 31 ถึงมากกว่า 40 กิโลกรัม รับประทานยาปริมาณ 20 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง โดยอาจรับประทานร่วมกับยาอะม็อกซี่ซิลลิน (Amoxicillin) และยาคลาริโทรมัยซิน (Clarithromycin) ติดต่อกัน 1 สัปดาห์

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 20 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้งหรือ 40 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ติดต่อกัน 1 สัปดาห์ โดยรับประทานร่วมกับยาคลาริโทรมัยซิน และยาอะม็อกซี่ซิลลินหรือยาเมโทรนิดาโซล (Metronidazole) 

กลุ่มอาการโซลลิงเจอร์-เอลลิสัน (Zollinger-Ellison Syndrome)
ตัวอย่างการใช้ยา Omeprazole เพื่อรักษากลุ่มอาการโซลลิงเจอร์-เอลลิสัน

ผู้ใหญ่ เริ่มรับประทานยาปริมาณ 60 มิลลิกรัม ปริมาณยาปกติจะอยู่ที่ 20–120 มิลลิกรัมต่อวัน หากปริมาณตั้งแต่ 80 มิลลิกรัมขึ้นไป ควรแบ่งรับประทาน 2 ครั้ง  

ยา Omeprazole ยังมีใช้ในรูปแบบยาฉีดเพื่อรักษาโรคกรดไหลย้อน แผลในกระเพาะอาหาร แผลในกระเพาะอาหารจากโรคติดเชื้อเอชโพโลไร และแผลจากยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด และรักษากลุ่มอาการโซลลิงเจอร์-เอลลิสัน โดยจะปรับปริมาณยาตามอาการและการตอบสนองของผู้ป่วย

การใช้ยา Omeprazole

หากใช้ยาโอเมพราโซลควบคู่กับยาปฏิชีวนะ ผู้ป่วยควรรับประทานยาตามแพทย์สั่ง อ่านคำแนะนำการใช้ยาทั้ง 2 ชนิดให้ละเอียด อย่าเปลี่ยนปริมาณหรือตารางการรับประทานยาเอง แม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม ก็ควรรับประทานให้ครบกำหนดตามแพทย์สั่ง เพื่อให้แน่ใจว่าหายติดเชื้อดีแล้ว 

ยาเม็ดควรรับประทานโดยกลืนลงไปทั้งเม็ด อย่ากัดหรือเคี้ยวก่อนกลืน ส่วนยาแคปซูลควรรับประทานก่อนมื้ออาหาร 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง หรือรับประทานตามแพทย์สั่ง ในกรณีที่ใช้แล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงควรแจ้งให้แพทย์ทราบ

หากผู้ป่วยลืมรับประทานยา ให้รับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากใกล้ถึงช่วงเวลาของยารอบถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานยาตามเวลาปกติ ห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า และควรรีบไปพบแพทย์ทันทีหากใช้ยาเกินปริมาณที่กำหนดและเกิดอาการที่รุนแรง

ปฏิกิริยาระหว่างยา Omeprazole กับยาอื่น

เนื่องจากยา Omeprazole อาจทำปฏิกิริยากับยาที่แพทย์สั่งจ่าย ยาหาซื้อได้เอง วิตามิน หรือสมุนไพรบางชนิดจนเกิดอาการไม่พึงประสงค์หรือทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลง เช่น

  • ยาปฏิชีวนะ เช่น ยาอะม็อกซี่ซิลลิน ยาคลาริโทรมัยซิน และยาไรแฟมพิน (Rifampin)
  • ยารักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์และโรคสะเก็ดเงิน เช่น ยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate)
  • ยาป้องกันลิ่มเลือด เช่น ยาโคลพิโดเกรล (Clopidogrel) หรือยาวาร์ฟาริน (Warfarin)
  • ยาโรคหัวใจ เช่น ยาไดจอกซิน (Digoxin)
  • ยาต้านเชื้อรา เช่น ยาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) หรือยาไอทราโคนาโซล (Itraconazole)
  • ยาขับปัสสาวะ
  • ยาต้านไวรัสเอชไอวีบางชนิด
  • สมุนไพรเซนต์จอห์นเวิร์ต (St. John's Wort)  

ตัวอย่างยาและสมุนไพรดังข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่อาจทำปฏิกิริยากับยา Omeprazole เท่านั้น หากผู้ป่วยกำลังใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ใด ๆ อยู่ ควรแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบก่อนเสมอ เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย

ผลข้างเคียงของยา Omeprazole

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Omeprazole ที่พบได้ เช่น ปวดศรีษะ คลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย หากอาการเหล่านี้ไม่หายไปหรือมีอาการแย่ลงควรไปปรึกษาแพทย์

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติหรืออาการรุนแรงต่อไปนี้ ควรหยุดใช้ยาแล้วรีบไปพบแพทย์ทันที

  • มีสัญญาณของการแพ้ยา เช่น หายใจลำบาก ริมฝีปาก ลิ้น ลำคอ และใบหน้ามีอาการบวม เกิดลมพิษ
  • อาการชัก 
  • ปวดท้องรุนแรง ท้องเสีย ถ่ายท้องเป็นน้ำหรือเป็นเลือด
  • ปัสสาวะน้อยหรือบ่อยกว่าปกติ ปัสสาวะมีเลือดปน
  • อาการบวม หรือน้ำหนักเพิ่มอย่างรวดเร็ว
  • มีสัญญาณของภาวะแมกนีเซียมต่ำ เช่น เวียนศีรษะ สับสน อัตราการเต้นหัวใจเร็วและไม่สม่ำเสมอ มีอาการสั่น การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อกระตุก รู้สึกกระวนกระวาย เป็นตะคริว กล้ามเนื้อมือและเท้าเกร็ง ไอหรือสำลัก