การวินิจฉัยโรคซึมเศร้า โรคซึมเศร้า (Depression)
ในเบื้องต้นผู้ป่วยสามารถตรวจสอบอาการเข้าข่ายภาวะซึมเศร้าตามข้างต้น หากมีอาการใด ๆ ของโรค และไม่ดีขึ้นเป็นเวลานานกว่า 2 สัปดาห์ มีสภาวะทางอารมณ์ที่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน กิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงความสัมพันธ์กับเพื่อนและครอบครัว มีความคิดอยากทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย ควรเข้ารับการตรวจรักษาจากแพทย์อย่างเร่งด่วน
การได้รับการรักษาจากแพทย์ถือเป็นกระบวนการสำคัญในการรักษาโรคซึมเศร้า เพราะยิ่งตรวจพบได้เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งทำให้การรักษามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยการตรวจวินิจฉัยโรคซึมเศร้า แพทย์จะดำเนินการตามกระบวนการดังต่อไปนี้
การตรวจร่างกาย (Physical Examination)
ในเบื้องต้น แพทย์จะใช้การตรวจร่างกายและถามคำถามเกี่ยวกับสุขภาพของผู้ป่วย เพราะบางครั้งภาวะซึมเศร้าที่เกิดขึ้นอาจเกี่ยวเนื่องกับปัญหาสุขภาพทางกายชนิดอื่นได้
การตรวจทางห้องปฏิบัติการ (Lab Tests)
ผลตรวจจากห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจปัสสาวะหรือการตรวจเลือด นับเป็นขั้นตอนสำคัญในการวินิจฉัย เพื่อให้แน่ใจว่าอาการซึมเศร้าที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคบางชนิด
โดยอาจตรวจหาภาวะโลหิตจาง โรคไทรอยด์ ฮอร์โมนต่าง ๆ รวมถึงระดับของแคลเซียมและวิตามินดีด้วย เพราะการตรวจพบโรคที่เป็นต้นเหตุของอาการแทรกซ้อนย่อมทำให้ได้รับการรักษาโรคนั้น ๆ พร้อมทั้งช่วยให้ภาวะซึมเศร้าทุเลาลงไปได้ในคราวเดียวกัน
ในกรณีที่สงสัยว่าผู้ป่วยอาจมีการทำงานของตับและไตผิดปกติหรือเป็นโรคอื่นด้วย แพทย์อาจตรวจผลเลือดเพื่อทดสอบสารอิเล็กโทรไลต์ในร่างกาย การทำงานของตับและไต และตรวจหาสารตกค้างจากยา เนื่องจากตับและไตมีหน้าที่ในการกำจัดยารักษาโรคซึมเศร้า ความบกพร่องหรือความเสื่อมของตับและไตจึงอาจทำให้ยาสะสมในร่างกายได้
การตรวจชนิดอื่น ๆ เช่น การทำ CT scan หรือ MRT ของสมอง เพื่อแยกการเจ็บป่วยที่ร้ายแรงอย่างเนื้องอกสมองออกไป หรือทำ Electrocardiogram (ECG) เพื่อวินิจฉัยโรคหัวใจ ทำ Electroencephalogram (EEG) เพื่อบันทึกการทำงานคลื่นไฟฟ้าของสมอง เป็นต้น
แบบประเมินภาวะซึมเศร้า (Depression Screening Tests)
แพทย์จะถามคำถามเพื่อตรวจดูถึงภาวะซึมเศร้าของผู้ป่วย โดยสอบถามถึงอาการในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา รวมทั้งอาจใช้แบบสอบถามประเมินภาวะซึมเศร้า เพื่อให้แพทย์เข้าใจภาวะทางอารมณ์ของผู้ป่วยและวินิจฉัยได้แม่นยำยิ่งขึ้น ตัวอย่างแบบทดสอบ เช่น ชุดแบบสอบถามที่แบ่งเป็น 2 ส่วน แพทย์จะถาม 2 คำถาม คือ
- ใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมารวมวันนี้ท่านรู้สึกหดหู่ เศร้า หรือท้อแท้สิ้นหวังหรือไม่
- ใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมารวมวันนี้ท่านรู้สึก เบื่อ ทำอะไรก็ไม่เพลิดเพลินหรือไม่
ในต่างประเทศชุดแบบสอบถามนี้ถือว่ามีความน่าเชื่อถือสูงในการระบุความเป็นไปได้ของภาวะซึมเศร้า ซึ่งแพทย์จะตัดสินใจจากคำตอบของผู้ป่วยว่าควรจะทำอย่างไรต่อไป หรืออาจถามคำถามอื่น ๆ เพื่อช่วยในการวินิจฉัยเพิ่มเติม หากคำตอบของผู้เข้ารับการวินิจฉัยไม่แสดงถึงภาวะซึมเศร้า แพทย์ก็อาจตรวจดูอาการอีกครั้งเพื่อหาสาเหตุ อย่างไรก็ตาม สำหรับในประเทศไทยอาจมีผลแตกต่างกันบ้าง เนื่องจากสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน
นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้การประเมินภาวะซึมเศร้าชนิดอื่น ๆ เพื่อวัดระดับความรุนแรงของอาการโรคซึมเศร้าประกอบด้วย เช่น แบบสอบถาม PHQ-9 แบบสอบถาม BDI เป็นต้น
ขณะทำแบบทดสอบประเมินภาวะซึมเศร้า ผู้ป่วยอาจรู้สึกอึดอัดหรือลำบากใจในการตอบบางคำถาม ซึ่งเป็นการสอบถามถึงอารมณ์ การรับรู้ การจดจำ และความรู้สึกทางกายของผู้ป่วยที่เกี่ยวเนื่องกับภาวะซึมเศร้า ความอย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรตอบคำถามตามความจริงให้มากที่สุด เพราะคำถามเหล่านี้จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยได้อย่างถูกต้อง นำไปสู่การสั่งจ่ายยาและวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อไป และเป็นผลดีกับตัวผู้ป่วยเอง
การวินิจฉัยตามคู่มือ DSM-5
DSM-5 เป็นคู่มือสำหรับวินิจฉัยอาการผิดปกติทางจิตต่าง ๆ รวมถึงโรคซึมเศร้า เผยแพร่โดยสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychiatric Association) ซึ่งสถานพยาบาลทางจิตต่าง ๆ จะใช้คู่นี้วินิจฉัยอาการทางจิต