เริ่มต้นรักตัวเอง ทำอย่างไรให้ใจเป็นสุข

เราอาจเคยได้ยินประโยคที่ว่า ควรรักตัวเองให้เป็นก่อนแล้วจึงรักผู้อื่น แต่หลายคนอาจเข้าใจว่าการรักตัวเองหมายถึงการหลงตัวเอง เห็นแก่ตัว หรือยึดถือเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ในความเป็นจริงแล้ว การรักตัวเองหมายถึงการยอมรับนับถือตัวเอง เห็นความสำคัญของตัวเอง และเอาใจใส่ดูแลความเป็นอยู่ของเราในทุก ๆ การเติบโตในชีวิต 

การใช้ชีวิตในปัจจุบันท่ามกลางสภาพสังคมที่สับสนวุ่นวายและเต็มไปด้วยการแข่งขัน ทำให้หลายคนเกิดความเครียด เหนื่อยล้า และไม่มีความสุข แนวคิดเรื่องการรักตัวเองจึงเป็นประเด็นที่หลายคนให้ความสนใจ เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้ชีวิตมีความสุขมากขึ้น และส่งผลดีต่อสุขภาพจิตและสุขภาพกายในระยะยาว

2828-รักตัวเอง

แต่การเริ่มต้นรักตัวเองอาจเป็นเรื่องยากสำหรับบางคน บทความนี้จึงจะช่วยให้คุณเข้าใจเรื่องการรักตัวเองมากขึ้น

รักตัวเองที่แท้จริงเป็นอย่างไร

คนที่รักตัวเองไม่จำเป็นต้องมีความสุขทุกช่วงเวลา เพราะเป็นเรื่องปกติที่เราจะรู้สึกเศร้า โกรธ ท้อแท้ หรือผิดหวัง แต่การรักตัวเองคือการชื่นชมตัวเองที่สามารถเติบโตขึ้นจากความคิดและการกระทำที่ผ่านมา

โดยยอมรับทั้งจุดแข็ง จุดอ่อน มองเห็นคุณค่าของตัวเอง เชื่อมั่นว่าความพยายามของตนเองมีความหมาย และรู้จักปกป้องตัวเองโดยเลือกคบคนที่รักและให้ความสนับสนุนเราในยามที่ประสบปัญหา

นักจิตวิทยาแบ่งองค์ประกอบของความรักและเมตตาต่อตัวเองออกเป็น 3 ข้อ ได้แก่

  • เมตตาต่อตนเองเมื่อเผชิญกับช่วงเวลาอันยากลำบาก หลายคนอาจใส่ใจผู้อื่นจนละเลยความรู้สึกของตัวเอง การเมตตาต่อตัวเองคือการให้อภัยตัวเองเมื่อทำสิ่งผิดพลาด เช่นเดียวกับที่เราให้อภัยคนที่เรารัก และหาวิธีรับมือความไม่สบายใจที่เกิดขึ้นได้ด้วยตัวเอง
  • เข้าใจว่าความผิดพลาดเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่มีใครที่สมบูรณ์แบบในทุกด้าน และหากเราจะมีช่วงเวลาที่ลำบาก ทุกข์ใจ หรือทำเรื่องผิดพลาด ให้ยอมรับความรู้สึกนั้น และเรียนรู้ที่จะปรับปรุงแก้ไขจากความผิดพลาดของตัวเอง
  • มองความทุกข์ที่เกิดขึ้นอย่างมีสติ คือสามารถแยกแยะและพิจารณาอารมณ์ที่เกิดขึ้นอย่างความไม่สบายใจหรือความคับข้องใจได้อย่างเปิดกว้าง ใจเย็น และไม่ด่วนตัดสินสิ่งต่าง ๆ ด้วยอคติหรือความคิดในแง่ลบ

ความรักและเมตตาต่อตัวเองมีความสำคัญอย่างมากต่อสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตที่ดี และอาจช่วยลดความรุนแรงของอาการทางจิตบางประเภท เช่น อาการจากโรควิตกกังวล (Anxiety Disorder) และโรคซึมเศร้า

และในทางกลับกัน ผู้ที่มีความเมตตาต่อตัวเองต่ำมีแนวโน้มที่จะมีอาการซึมเศร้าและปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น หรืออาจนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ตามมา เช่น การดื่มสุรา การทำร้ายตัวเอง หรือการฆ่าตัวตาย

เทคนิคง่าย ๆ เพื่อการรักตัวเอง

หากไม่แน่ใจว่าการรักตัวเองควรทำอย่างไร วิธีการดังต่อไปนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ช่วยให้คุณเริ่มต้นที่จะรักและเอาใจใส่ตัวเองได้ดี

  • ยอมรับความรู้สึกไม่ดีที่เกิดขึ้น หลายครั้งที่เรามักบอกตัวเองว่าเรารู้สึกสบายดีเพื่อซ่อนความรู้สึกไม่สบายใจเอาไว้ ซึ่งเป็นเพียงวิธีหลีกเลี่ยงความรู้สึกดังกล่าวไว้ชั่วคราว และอาจทำให้เรารู้สึกไม่ดีได้ในภายหลัง วิธีรับมือที่เหมาะสมคือการยอมรับว่าความรู้สึกไม่ดีเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ จะช่วยให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น โดยความรู้สึกไม่ดีนั้นเป็นนัยบ่งบอกความต้องการที่แท้จริงของเรา เช่น ในบางครั้งความโกรธอาจเกิดจากความเหนื่อยล้าหรือการทำงานหนักเกินไป จึงควรแบ่งเวลาพักผ่อนและคลายความเครียดอย่างเหมาะสม
  • ยอมรับในความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเอง ไม่พยายามฝืนตัวเองเพื่อเป็นคนอื่นเพียงเพราะต้องการได้รับความรักหรือความสนใจ และหากตัวเองทำสิ่งผิดพลาด ไม่ควรโทษตนเองจนกลายเป็นการบั่นทอนกำลังใจ แต่ควรยอมรับและเรียนรู้จากความผิดนั้น เพื่อปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้อง
  • ชื่นชมตัวเองบ่อย ๆ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ประสบความสำเร็จเฉพาะเรื่องใหญ่ที่เป็นเป้าหมายในชีวิต การชมตัวเองบ่อย ๆ แม้ในเรื่องเล็กน้อย จะช่วยสร้างความภูมิใจในตัวเอง และช่วยเสริมสร้างกำลังใจในการใช้ชีวิตในแต่ละวัน
  • ตอบปฏิเสธหรือขอเวลาในการตัดสินใจ โดยไม่จำเป็นต้องตอบรับทุกเรื่อง โดยเฉพาะสิ่งที่คิดว่าทำไม่ได้ เพราะการตอบตกลงไปก่อนอาจสร้างความลำบากใจได้ในภายหลัง
  • เชื่อมั่นในการตัดสินใจของตนเอง และไม่ควรยึดติดกับความคิดเห็นของผู้อื่นมากเกินไป เพราะเราไม่สามารถทำให้ทุกคนพึงพอใจหรือทำตามความคาดหวังของทุกคนได้
  • ไม่ควรเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น แต่ละคนมีจุดเด่นและจุดด้อยที่แตกต่างกัน การคิดว่าเราไม่เก่งหรือไม่มีข้อดีเหมือนคนอื่น จะยิ่งทำให้เรารู้สึกว่าคุณค่าในตัวเองลดลง
  • ดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิตของตัวเองให้แข็งแรง โดยออกกำลังกายเป็นประจำ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ จัดการกับความเครียด และลดการใช้สื่อโซเชียล มีเดีย (Digital Detox) โดยอาจแบ่งเวลาไปทำกิจกรรมอื่น เช่น อ่านหนังสือ หรือออกไปเที่ยวพักผ่อน ซึ่งจะช่วยลดความเบื่อหน่ายหรือความไม่สบายใจได้
  • หากรู้สึกไม่สบายใจ ท้อแท้ ไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ด้วยตัวเอง หรือมีปัญหาและข้อสงสัยเกี่ยวกับการรักตัวเอง ควรปรึกษาคนในครอบครัว เพื่อนสนิท หรือจิตแพทย์ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหา

ทุกคนต่างก็เคยประสบปัญหาและความยากลำบากในชีวิตในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน และสมควรที่จะได้รับความรักเช่นเดียวกัน เริ่มต้นได้ด้วยการใช้เวลาเรียนรู้ที่จะรักและเมตตาต่อตัวเองอย่างค่อยเป็นค่อยไป มองเห็นความสามารถของตัวเอง และเชื่อมั่นว่าตัวเองมีคุณค่าไม่ต่างกับผู้อื่น

อย่างไรก็ตาม หากพบว่าตนเองมีปัญหาหรือความรู้สึกที่ผิดปกติ เช่น เกลียดตัวเอง มีความคิดทำร้ายตัวเองหรือผู้อื่น ควรรีบปรึกษาจิตแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาต่อไป