เม็ดเลือดขาวสูง

ความหมาย เม็ดเลือดขาวสูง

เม็ดเลือดขาวสูง (Leukocytosis) คือ ภาวะที่มีเม็ดเลือดขาวในโลหิตสูงกว่าปกติ โดยภาวะนี้อาจเกิดขึ้นจากปฏิกิริยาของร่างกายที่ตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอม หรือเป็นกลไกที่ต่อสู้กับการติดเชื้อ

เม็ดเลือดขาวสูง

โดยเม็ดเลือดขาวแบ่งออกเป็นทั้งหมด 5 ชนิดได้แก่

  • เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโตรฟิล (Neutrophil) เป็นชนิดของเม็ดเลือดขาวที่มีมากที่สุดในร่างกาย ทำหน้าที่ในการป้องกันการติดเชื้อ ไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา พิษจากสารต่าง ๆ หรือแม้แต่ต่อสู้กับเซลล์มะเร็ง
  • เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ (Lymphocyte) เป็นเม็ดเลือดขาวที่ผลิตจากไขกระดูก เม็ดเลือดขาวชนิดนี้แบ่งออกเป็น 2 ชนิดย่อย ๆ คือ บีเซลล์ (B-Cell) และทีเซลล์ (T-Cell) เมื่อเม็ดเลือดขาวถูกผลิตออกมาแล้ว 25% ที่เป็นบีเซลล์จะยังอยู่ในไขกระดูก ส่วนเม็ดเลือดขาว 75% จะเข้าสู่ระบบน้ำเหลืองและเลือด จากนั้นก็จะพัฒนาเป็นทีเซลล์ต่อไป โดยเม็ดเลือดขาวชนิดนี้จะทำหน้าที่ในการต่อสู้กับการติดเชื้อ และป้องกันการติดเชื้อในครั้งต่อไป
  • เม็ดเลือดขาวชนิดอีโอซิโนฟิล (Eosinophil) เป็นเม็ดเลือดขาวชนิดที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อต่อสู้และป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย ปรสิต และทำหน้าที่ควบคุมอาการอักเสบที่ทำให้เกิดอาการแพ้และโรคหอบหืด 
  • เม็ดเลือดขาวชนิดโมโนไซต์ (Monocyte) เป็นเม็ดเลือดขาวชนิดที่ทำหน้าที่กำจัดจุลินทรีย์ สิ่งแปลกปลอม และเซลล์ที่ตายแล้ว
  • เม็ดเลือดขาวชนิดบาโซฟิล (Basophil) เป็นเม็ดเลือดขาวชนิดที่ช่วยป้องกันและรักษาการติดเชื้อจากจากบาดแผล บรรจุสารที่มีคุณสมบัติบรรเทาอาการแพ้และช่วยควบคุมการแข็งตัวของเลือด
อาการเม็ดเลือดขาวสูงจากสาเหตุที่ไม่รุนแรงสามารถหายได้โดยไม่ต้องรักษา แต่ถ้าเกิดจากเงื่อนไขสุขภาพที่ค่อนข้างรุนแรงอาจต้องรักษาอย่างจริงจังในระยะยาว โดยภาวะเม็ดเลือดขาวสูงจะลดลงและกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้หากรักษาไปแล้วระยะหนึ่ง

อาการเม็ดเลือดขาวสูง

ภาวะเม็ดเลือดขาวสูงจะไม่แสดงสัญญาหรืออาการใด ๆ แต่หากมีอาการมักจะเป็นอาการที่เกิดขึ้นตามสาเหตุที่ทำให้เม็ดเลือดขาวสูง โดยอาการที่มักพบขณะที่มีเม็ดเลือดขาวสูง ดังนี้

  • ไข้สูง
  • มีเลือดออกหรือรอยฟกช้ำง่าย
  • รู้สึกอ่อนแรง เหนื่อย หรือไม่สบาย
  • รู้สึกหน้ามืด มีอาการคล้ายเป็นลม และมีเหงื่อออกมาก
  • ปวดหรือมีอาการเหน็บชาที่บริเวณแขน ขา หรือหน้าท้อง
  • หายใจลำบาก มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น และการคิด
  • น้ำหนักลดโดยไม่มีสาเหตุ หรือมีความอยากอาหารลดลง
ทั้งนี้หากอาการข้างต้นเริ่มรุนแรงขึ้นควรรีบไปพบแพทย์ เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงอาการเจ็บป่วยที่รุนแรงขึ้น และต้องรีบได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน

สาเหตุของเม็ดเลือดขาวสูง

โดยส่วนใหญ่หากสุขภาพร่างกายแข็งแรงและไม่มีความผิดปกติใด ๆ เม็ดเลือดขาวจะอยู่ในระดับที่ปกติ หรือสูงกว่าเกณฑ์เพียงเล็กน้อย แต่ถ้าหากมีปริมาณเม็ดเลือดขาวสูงขึ้นเกิดขึ้นเนื่องมาจาก

  • ร่างกายผลิตเม็ดเลือดขาวมากขึ้นเพื่อต่อสู้กับอาการติดเชื้อ
  • ปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายจากการใช้ยาที่ทำให้ร่างกายผลิตเม็ดเลือดขาวมากขึ้น
  • โรคที่เกี่ยวกับไขกระดูก ที่ส่งผลให้ร่างกายผลิตเม็ดเลือดขาวมากขึ้นผิดปกติ
  • โรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันที่ส่งผลให้เม็ดเลือดขาวถูกผลิตออกมาเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ภาวะเม็ดเลือดขาวสูงยังเกี่ยวข้องกับโรคภัยไข้เจ็บบางชนิดโดยตรง ได้แก่
  • มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดลิมฟอยด์ (Acute Lymphocytic Leukemia: ALL)
  • มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดไมอิลอยด์ (Acute Myelogenous Leukemia: AML)
  • อาการแพ้ โดยเฉพาะอาการแพ้อย่างรุนแรง
  • โรคหอบหืด ภูมิแพ้
  • มะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดลิมฟอยด์
  • มะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดไมอิลอยด์
  • การใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ยาควินิดีน (Quinidine) ยาเฮพาริน (Heparin) ยาเอพิเนฟริน (Epinephrine) และยาโคลซาปีน (Clozapine)
  • การติดเชื้อแบคทีเรีย หรือการติดเชื้อไวรัส
  • โรคเม็ดเลือดขาวชนิดไมอีโลไฟโบรซิส (Myelofibrosis)
  • ภาวะเม็ดเลือดแดงข้น (Polycythemia Vera)
  • โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ 
  • การสูบบุหรี่
  • ความเครียด เช่น ความเครียดทางอารมณ์อย่างรุนแรง หรือภาวะตึงเครียดของร่างกาย
  • วัณโรค
การวินิจฉัยเม็ดเลือดขาวสูง

โดยทั่วไปแล้วภาวะเม็ดเลือดขาวสูงจะไม่สามารถสังเกตได้จากอาการหรือระบุได้จากการตรวจเลือดเท่านั้น แต่ทั้งนี้ความผิดปกติของร่างกายบางอย่างอาจเป็นสัญญาณของโรคที่ส่งผลให้ระดับเม็ดเลือดขาวสูงขึ้นได้ จึงควรไปพบแพทย์หากมีอาการไข้สูง มีเลือดออกง่าย หรือมีรอยฟกช้ำโดยไม่ทราบสาเหตุ รู้สึกเหนื่อย หรืออ่อนแรงผิดปกติ หน้ามืด มีอาการคล้ายเป็นลม มีเหงื่อท่วม ปวดและรู้สึกเหน็บชาบริเวณแขนขา และหน้าท้อง หายใจลำบาก หรือมีปัญหาเกี่ยวกับมองเห็น ความสามารถในการคิดลดลง รวมทั้งน้ำหนักลดโดยไม่มีสาเหตุ ความอยากอาหารลดลง เพราะอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของโรคที่รุนแรงได้

เมื่อผู้ป่วยไปพบแพทย์แล้ว แพทย์จะซักประวัติเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วย หรืออาการที่เป็นในปัจจุบัน จากนั้นจะเจาะเลือดที่แขน หรือบริเวณหลังมือเพื่อนำตัวอย่างเลือดไปตรวจในห้องปฏิบัติการด้วยวิธีการตรวจนับเม็ดเลือดขาว (White Blood Cell Count: WBC Count) ทั้งนี้เกณฑ์โดยคร่าวของคนปกติทั่วไปจะมีระดับเม็ดเลือดขาวดังนี้

  • แรกเกิด-1 เดือน 5,000-34,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร
  • อายุ 2-5 เดือน 5,000-15,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร
  • อายุ 6 เดือน-1 ปี 6,000-11,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร
  • อายุ 1-12 ปี 6,000-12,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร
  • อายุ 3-5 ปี 4,000-12,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร
  • อายุ 6-11 ปี 3,400-10,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร
  • อายุมากกว่า 12 ปี 3,500-10,500 เซลล์ต่อไมโครลิตร
ทั้งนี้หากพบว่าระดับเม็ดเลือดขาวสูงผิดปกติ แพทย์ก็จะดูถึงประเภทของเม็ดเลือดขาวที่สูงขึ้น โดยปริมาณเม็ดเลือดขาวแต่ละชนิดที่สูงขึ้นสามารถบอกสัญญาณของการติดเชื้อที่แตกต่างกันได้ดังนี้
  • เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโตรฟิลสูง เป็นสัญญาณของการติดเชื้อแบคทีเรีย
  • เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ แสดงให้เห็นถึงสัญญาณของการติดเชื้อไวรัส หรือการก่อตัวของเชื้อมะเร็ง
  • เม็ดเลือดขาวชนิดอีโอซิโนฟิล หากมีปริมาณสูงอาจเป็นสัญญาณของภูมิแพ้หรือติดเชื้อปรสิตในร่างกาย เช่น พยาธิ อะมีบา เป็นต้น
  • เม็ดเลือดขาวชนิดโมโนไซต์ พบได้ในโรคติดเชื้ออีบีวี (Epstein-Barr Virus Infection: EBV Intfection) ซึ่งเป็นการติดเชื้อไวรัสที่ไม่มีอาการรุนแรงมากนัก และสามารรถรักษาให้หายได้
  • เม็ดเลือดขาวชนิดบาโซฟิล ปริมาณเม็ดเลือดขาวชนิดนี้หากมากขึ้นอาจบ่งบอกถึงอาการแพ้ได้
จากนั้นเมื่อได้ข้อสันนิษฐานเบื้องต้นแล้ว แพทย์จะสั่งตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติมอย่างละเอียด เช่น การตรวจไขกระดูก เพื่อระบุถึงสาเหตุที่ทำให้เม็ดเลือดขาวสูงขึ้น เมื่อยืนยันผลได้แล้ว แพทย์จะวางแผนรักษาต่อไป

การรักษาอาการเม็ดเลือดขาวสูง

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะเม็ดเลือดขาวสูง แต่ไม่ได้เกิดจากสาเหตุที่อันตราย การรักษาเพื่อลดระดับเม็ดเลือดขาวอาจไม่จำเป็น แต่หากเม็ดเลือดขาวสูงมาก ๆ แพทย์จะรักษาโดยมุ่งเน้นไปที่การรักษาสาเหตุที่ทำให้เม็ดเลือดขาวเพิ่มปริมาณสูงขึ้น ในเบื้องต้นจะมีการรักษาดังต่อไปนี้

การใช้ยา ผู้ป่วยที่มีอาการติดเชื้อหรืออาการอักเสบที่ทำให้เม็ดเลือดขาวสูงขึ้นมากผิดปกติ อาจะต้องใช้ยาเพื่อรักษาอาการดังกล่าว โดยหากเกิดจากการติดเชื้อ แพทย์จะสั่งใช้ยาปฏิชีวนะ และเมื่อการติดเชื้อหรือการอักเสบลดลง เม็ดเลือดขาวและกระบวนการสร้างเม็ดเลือดขาวจะค่อย ๆ ลดลงกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

ทั้งนี้ในระหว่างรักษาโดยการใช้ยาเพื่อรักษาสาเหตุของอาการนี้ แพทย์อาจใช้วิธีการรักษาอื่น ๆ เช่นการปรับปัสสาวะให้มีค่าความเป็นด่าง ร่วมกับการใช้ยาอัลโลพูรินอล (Allopurinol) เพื่อลดระดับกรดยูริกในร่างกาย และอาจมีการใช้ยาชนิดอื่น ๆ ประคับประคองอาการหรือบรรเทาอาการเจ็บป่วย นอกจากนี้ การให้น้ำเกลือ (https://www.pobpad.com/ให้น้ำเกลือ-ให้อย่างไร) จะช่วยให้เลือดเจือจางลง และทำให้ระดับเม็ดเลือดขาวค่อย ๆ ลดลงได้

ทว่าหากผู้ป่วยมีภาวะเม็ดเลือดขาวสูงมากจนเข้าขั้นวิกฤติ แพทย์จะพิจารณาใช้การลดระดับเม็ดเลือดขาวด้วยวิธีการเปลี่ยนถ่ายพลาสมา (Leukopheresis) ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยลดระดับเม็ดเลือดขาวได้อย่างรวดเร็วที่สุด โดยใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีระดับเม็ดเลือดขาวสูงจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพผู้ป่วย แพทย์จะพิจารณาให้ผู้ป่วยเข้ารับการเปลี่ยนถ่ายพลาสมา ทั้งนี้พลาสมาที่ใช้ในการเปลี่ยนถ่ายจะได้มาจากการบริจาคโดยผ่านการตรวจสอบการเข้ากันได้ระหว่างผู้รับและผู้ให้

ภาวะแทรกซ้อนอาการเม็ดเลือดขาวสูง

ภาวะเม็ดเลือดขาวสูงหากอยู่ในระดับไม่สูงมากนักก็ไม่ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้ เนื่องจากภาวะเม็ดเลือดขาวสูงเป็นเพียงอาการย่อย ๆ อาการหนึ่งเท่านั้น ภาวะแทรกซ้อนมักเกิดจากสาเหตุที่ทำให้เม็ดเลือดขาวสูงมากมากกว่า

ทว่าหากเม็ดเลือดขาวสูงกว่า 100,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร ก็อาจะทำให้ผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะเม็ดเลือดขาวสูงมาก (Hyperleukocytosis) ซึ่งจะส่งผลให้เลือดหนืดจนไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงได้ทั่วร่างกายอย่างเพียงพอ ก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น ง่วงเหงาหาวนอน อ่อนเพลีย และอาจเป็นอันตรายถึงขั้นสมองขาดเลือด หรือหัวใจขาดเลือดได้เช่นกัน

การป้องกันภาวะเม็ดเลือดขาวสูง

ภาวะเม็ดเลือดขาวสูงไม่สามารถป้องกันได้ทุกสาเหตุ โดยเฉพาะภาวะเม็ดเลือดขาวสูงที่เกิดจากโรคมะเร็ง ทว่าลดความเสี่ยงได้ โดยหลีกเลี่ยงภาวะเสี่ยงในการติดเชื้อ และการอักเสบต่าง ๆ นอกจากนี้ หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นภายในร่างกายควรรีบไปพบแพทย์เพื่อความปลอดภัย