ความหมาย เซบเดิม
เซบเดิม (Seborrheic Dermatitis) หรือเซบเดิร์ม เป็นโรคการอักเสบเรื้อรังของผิวหนังที่พบได้บ่อย โดยมากปรากฏในลักษณะผื่นแดง คัน และเป็นสะเก็ดรังแคบนหนังศีรษะ ส่วนตามบริเวณร่างกายเองก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน บริเวณที่เกิดมักเป็นส่วนที่มีความมัน เช่น ใบหน้า หลัง หน้าอก เป็นต้น ทั้งนี้โรคเซบเดิมอาจทำให้สับสนกับโรคสะเก็ดเงิน อีสุกอีใส หรืออาการภูมิแพ้ได้
อาการของโรคเซบเดิม
รังแคหรือสะเก็ดหนาบนหนังศีรษะถือเป็นเซบเดิมชนิดหนึ่ง โดยในทารกอายุน้อยกว่า 3 เดือนมักจะมีเกล็ดสีเหลืองหรือน้ำตาลบนศีรษะ และมักจะหายไปก่อนอายุครบ 1 ปี แต่อาจกลับไปเป็นได้อีกครั้งในช่วงวัยรุ่น ทั้งนี้โรคเซบเดิมในเด็กอาจถูกเข้าใจผิดว่าเป็นผื่นผ้าอ้อม
นอกจากบริเวณศีรษะที่พบได้บ่อยแล้ว โรคเซบเดิมยังสามารถเป็นตามผิวหนังบริเวณที่มีความมัน เช่น ใบหน้า โดยเฉพาะบนเปลือกตา รอบ ๆ จมูก รวมถึงบริเวณลำตัว ได้แก่ ข้อพับแขนขา กลางหน้าอก รอบสะดือ สะโพก และขาหนีบ โดยอาจสังเกตได้จากอาการต่อไปนี้
- ผิวหนังตกสะเก็ดเป็นรังแคบนหนังศีรษะ หรือบริเวณที่มีเส้นผม คิ้ว หรือ หนวดเครา
- ผิวมันเป็นแผ่น ปกคลุมด้วยสะเก็ดสีขาวหรือเหลือง หรือมีสะเก็ดแข็งบนหนังศีรษะ ใบหู ใบหน้า หน้าอก รักแร้ ถุงอัณฑะ หรือตามร่างกายส่วนอื่น ๆ
- มีอาการคัน แดง ผิวหนังลอกเป็นขุยสีขาวหรือสีเหลือง และผิวดูมัน
- เปลือกตาอักเสบ มีอาการแดงหรือมีสะเก็ดแข็งติด
- อาจมีอาการปวดหรือคันร่วมด้วย
กรณีที่อาการของโรครบกวนการนอนหลับพักผ่อนหรือการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้รู้สึกกังวลและอับอาย พยายามรักษาด้วยตนเองแล้วไม่ดีขึ้น หรือมีความเป็นไปได้ว่าจะมีการติดเชื้อเกิดขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษา
สาเหตุของโรคเซบเดิม
ทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุถึงสาเหตุของโรคนี้ได้อย่างแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าอาจเกิดขึ้นจากหลายปัจจัยประกอบกัน ได้แก่
- พันธุกรรม
- ความเครียด
- เชื้อราที่อาศัยอยู่บนผิวหนัง
- สภาพอากาศที่เย็นและแห้ง
- ภาวะแทรกซ้อนจากโรคบางชนิด รวมทั้งการใช้ยารักษาโรค
อย่างไรก็ตาม สาเหตุของการเกิดเซบเดิมไม่ได้มาจากการไม่รักษาความสะอาดหรืออาการภูมิแพ้แต่อย่างใด โดยมีโอกาสเกิดกับทารกแรกเกิดและผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 30-60 ปีได้มากกว่าวัยอื่น ๆ และยังพบในเพศชายได้บ่อยกว่าเพศหญิง รวมถึงผู้ที่มีผิวมัน นอกจากนี้การเจ็บป่วยจากโรคหรือภาวะใด ๆ ต่อไปนี้ก็เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดเซบเดิม
- โรคเกี่ยวกับระบบประสาทและโรคทางจิต เช่น โรคพาร์กินสัน และภาวะซึมเศร้า
- ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายที่อ่อนแอลง เช่น ผู้ที่รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี โรคตับอ่อนอักเสบ พิษสุราเรื้อรัง และมะเร็งบางชนิด
- โรคเกี่ยวกับระบบต่อมไร้ท่อที่เป็นสาเหตุของโรคอ้วน เช่น เบาหวาน
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ภาวะหัวใจล้มเหลว
- โรคการกินผิดปกติ
- โรคลมชัก
- โรคผิวหนังอักเสบโรซาเซีย
- โรคสะเก็ดเงิน
- สิว
- ยารักษาโรคบางชนิด
- การเกา ครูดข่วน หรือการได้รับบาดเจ็บของผิวหน้า
- ติดสุรา
การวินิจฉัยโรคเซบเดิม
แพทย์จะตรวจดูลักษณะของผิวหนังบริเวณที่ได้รับผลกระทบ จากนั้นอาจขูดเอาตัวอย่างเซลล์ผิวบริเวณดังกล่าวส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้เกิดจากโรคชนิดอื่นที่อาจมีอาการคล้ายกันได้ เช่น
- โรคสะเก็ดเงิน มักทำให้เกิดรังแคและผิวหนังแดง ปกคลุมด้วยสะเก็ดเล็ก ๆ แต่โรคนี้จะทำให้เกิดสะเก็ดมากกว่า โดยมีสีขาวออกเงิน
- โรคผื่นผิวหนังอักเสบ โรคที่จะทำให้เกิดอาการคันและอักเสบของผิวหนัง มักเกิดบริเวณข้อพับแขน ข้อพับขา หรือที่ด้านหน้าลำคอ
- โรคโรซาเซีย โรคผิวหนังอักเสบที่โดยมากจะเกิดขึ้นบนใบหน้า และปรากฏเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ
การรักษาโรคเซบเดิม
เซบเดิมเป็นโรคที่บางครั้งอาจหายไปได้เอง แต่บางครั้งเมื่อเป็นก็คงอยู่ได้ยาวนานเป็นเวลาหลายปี ผู้ที่เป็นเซบเดิมอาจเริ่มจากการลองรักษาด้วยตนเอง เช่น การดูแลผิวพรรณหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางประการหรือหาซื้อยาตามร้านขายยา ซึ่งก็อาจต้องทดลองใช้หลากหลายผลิตภัณฑ์จึงจะเห็นผลดีขึ้น ทั้งนี้ประสิทธิภาพของครีม แชมพู โลชั่น หรือยาแต่ละชนิดยังขึ้นอยู่กับประเภทของผิว ความรุนแรงของอาการ และผิวหนังบริเวณที่เกิดความผิดปกติ และแม้จะรักษาจนหายดีแล้วก็มีโอกาสกลับไปเป็นอีกครั้งได้เช่นกัน
การรักษาด้วยตนเอง
เซบเดิมที่เกิดขึ้นบนหนังศีรษะนั้นสามารถรักษาด้วยตนเอง โดยใช้แชมพูขจัดรังแคที่มีขายตามร้านขายยาทั่วไปที่ประกอบด้วยตัวยาต่อไปนี้
- กรดซาลิซิลิก (Salicylic acid) ใช้เป็นประจำทุกวัน
- คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ใช้สัปดาห์ละ 2 ครั้งสลับกับแชมพูที่ใช้ทุกวันเป็นประจำ
- เซเลเนียม ซัลไฟด์ (Selenium Sulfide) ใช้เป็นประจำทุกวัน
- ซิงก์ ไพริไธออน (Zinc Pyrithione) ใช้เป็นประจำทุกวัน
- โคล ทาร์ (Coal tar)
ทั้งนี้หากเคยใช้แชมพูตัวยาใด ๆ ข้างต้นได้ผลแต่พบว่าประสิทธิภาพค่อย ๆ ลดลง ให้เปลี่ยนใช้สลับกันกับอีกชนิด และควรหมักไว้ตามเวลาที่ฉลากแนะนำเพื่อให้ยาออกฤทธิ์ นอกจากนี้ยังอาจใช้แชมพูถูเบา ๆ ที่ใบหน้า หูและหน้าอก ก่อนล้างออกด้วยน้ำเปล่า หากเป็นเซบเดิมบริเวณเหล่านี้
สำหรับทารกที่มีไขหรือสะเก็ดบนหนังศีรษะ พ่อแม่อาจสระผมให้ทุกวันด้วยแชมพูที่อ่อนโยนสำหรับเด็กและน้ำอุ่น หากไม่ได้ผลควรปรึกษากุมารแพทย์เกี่ยวกับแชมพูที่ใช้รักษา ไม่ควรหามาทดลองใช้เอง เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อศีรษะของทารกได้ ส่วนแผ่นสะเก็ดรังแคนั้นสามารถทำให้นุ่มลงด้วยการใช้น้ำมันมะกอกถูแล้วหวีด้วยแปรงเพื่อให้สะเก็ดรังแคหลุดลอกออกมา
เซบเดิมที่เกิดขึ้นบริเวณอื่นที่นอกเหนือจากหนังศีรษะ เช่น ใบหน้าหรือผิวหนัง สามารถบรรเทาด้วยการหาซื้อผลิตภัณฑ์ต้านเชื้อราหรือโลชั่นคอร์ติโคสเตียรอยด์มาลองใช้ รวมทั้งการดูแลตัวเองควบคู่กันไป ดังนี้
- รักษาความสะอาดบริเวณที่เป็นอยู่เสมอโดยการล้างด้วยสบู่และน้ำเปล่า
- ล้างทำความสะอาดร่างกายและหนังศีรษะเป็นประจำ
- ใช้ครีมบำรุงและผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว หลีกเลี่ยงการใช้สบู่ที่มีฤทธิ์รุนแรง
- หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้เป็นมากขึ้น
- ทาครีมคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดอ่อน หากไม่ได้ผลให้ลองใช้ครีมต้านเชื้อราคีโตโคนาโซล
- โกนหนวดเคราให้หมด เนื่องจากหนวดและเคราจะยิ่งทำให้ผิวหนังบริเวณที่เป็นเซบเดิมแย่ลงได้
- สวมใส่เสื้อผ้าเนื้อเรียบลื่น เพื่อป้องกันการระคายเคือง
- ออกไปรับแสงแดดภายนอก แสงแดดจะช่วยหยุดการเจริญเติบโตของเชื้อราที่เป็นสาเหตุของการอักเสบ แต่ควรทาครีมกันแดดเพื่อป้องกันรังสียูวีด้วย
- เลี่ยงการขีดข่วนหรือเกาที่จะทำให้เกิดการระคายเคืองและติดเชื้อตามมาได้ หากคันให้ใช้ครีมไฮโดรคอร์ติโซนหรือคาลาไมน์ช่วยระงับอาการชั่วคราว
- ทำความสะอาดบริเวณเปลือกตาเบา ๆ หากเปลือกตามีลักษณะแดงหรือมีสะเก็ด โดยล้างด้วยแชมพูเด็กแล้วเช็ดสะเก็ดออกด้วยแผ่นสำลี
การรักษาโดยแพทย์
เมื่อรักษาด้วยตนเองแล้วยังไม่ได้ผล ควรปรึกษาแพทย์และรับการรักษา ซึ่งหากวินิจฉัยว่าเป็นเซบเดิม แพทย์อาจสั่งจ่ายยาหรือแนะนำวิธีรักษาดังต่อไปนี้
- ครีม แชมพู หรือขี้ผึ้งลดการอักเสบ ได้แก่ตัวยาไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) ฟลูโอซิโนโลน (Fluocinolone) หรือเดโซไนด์ (Desonide) ซึ่งเป็นยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ใช้ทาบนหนังศีรษะหรือบริเวณใด ๆ ที่เป็นเซบเดิม ใช้ง่ายและได้ผล แต่หากใช้ต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงตามมา เช่น ผิวบางลงหรือผิวปรากฏเป็นลายหรือเส้น
- แชมพูต้านเชื้อราสลับตัวยาที่เข้มข้นกว่า แพทย์อาจแนะนำให้ใช้แชมพูคีโตนาโซล (Ketoconazole) สลับกับยาคลอเบตาโซล (Clobetasol) สำหรับการรักษาเซบเดิมที่หนังศีรษะ สัปดาห์ละ 2 ครั้ง
- ครีมหรือเจลต้านแบคทีเรีย อาจเป็นยาเมโทรนิดาโซลในรูปแบบของเจลหรือครีมอาจใช้ทาวันละ 1-2 ครั้งจนกว่าอาการจะดีขึ้น
- ยารับประทานต้านเชื้อรา ยาชนิดรับประทานสำหรับกำจัดเชื้อรา ได้แก่ ยาเทอร์บินาฟีน (Terbinafine) ทั้งนี้มักไม่ค่อยนำมาใช้ เนื่องจากจะสามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงตามมา เช่น อาการแพ้ยา และปัญหาต่อตับ เป็นต้น
- ยาที่ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน ได้แก่ ครีมหรือโลชั่นที่มีส่วนประกอบของยาทาโครลิมัส (Tacrolimus) ซึ่งเป็นกลุ่มยาต้านแคลซินูริน และยาพิเมโครลิมัส (Pimecrolimus) สามารถนำมาใช้รักษาเซบเดิมและมีผลข้างเคียงน้อยกว่ายาประเภทคอร์ติโครอยด์ แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ใช่วิธีแรก ๆ ที่แพทย์จะเลือกใช้ เพราะยาเหล่านี้สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง และยังมีราคาแพงกว่ายาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดไม่รุนแรง
- การบำบัดด้วยแสงและยารักษา เป็นการรักษาด้วยยาซอราเลน (Psoralen) ควบคู่กับการฉายแสงบำบัด โดยจะได้รับยาซอราเลนชนิดรับประทานหรือทาลงบนผิวหนังที่เป็น แล้วใช้แสงอัลตราไวโอเลตฉาย แต่การรักษาวิธีนี้อาจใช้ไม่ได้ผลกับผู้ที่มีผมหนา
ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเซบเดิม
ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากโรคเซบเดิมนั้นมีน้อยมาก ส่วนใหญ่มักเกิดจากการวินิจฉัยคลาดเคลื่อนหรือการรักษาอย่างไม่ถูกวิธี โรคเซบเดิมที่เกิดบริเวณใบหน้าหรือหนังศีรษะอาจคล้ายคลึงกับโรคติดเชื้อราผิวหนังบางชนิด ซึ่งหากรักษาโดยใช้ยาลดการอักเสบหรือสเตียรอยด์ชนิดใช้ภายนอกซึ่งเป็นการรักษาที่ไม่ถูกวิธีก็อาจทำให้มีอาการเพิ่มขึ้น นอกจากนี้การใช้ยานี้ในปริมาณมาก โดยเฉพาะบริเวณใบหน้าและรักแร้ยังสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังในลักษณะที่ไม่พึงประสงค์ และทำให้ผิวบางลงได้
การป้องกันโรคเซบเดิม
โรคเซบเดิมไม่อาจป้องกันการเกิดของโรคได้ แต่มีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำได้ด้วยการทำตามข้อปฏิบัติต่อไปนี้ หลังจากอาการของโรคหายดีแล้ว
- เซบเดิมบนหนังศีรษะ การป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกสามารถใช้แชมพูต้านเชื้อรา เช่น แชมพูคีโตนาโซล (Ketoconazole) ทุก 1-2 สัปดาห์ หมักทิ้งไว้บนศีรษะ 5 นาทีก่อนจะล้างออก
- เซบเดิมตามร่างกาย ควรหมั่นทำความสะอาดร่างกายด้วยสบู่และน้ำเปล่าเป็นประจำทุกวันเพื่อไม่ให้เกิดคราบมันบนผิวหนังที่เป็นปัจจัยหนึ่งของการเกิดเซบเดิม และช่วยลดจำนวนของเชื้อราบนผิวหนัง โดยการดูแลรักษาความสะอาดควบคู่กับการใช้แชมพูต้านเชื้อราเช็ดตามร่างกายและหนังศีรษะแล้วล้างออกทุก ๆ 1-2 สัปดาห์ อาจช่วยให้โรคเซบเดิมไม่กลับมารบกวนอีก แต่บางรายก็จำเป็นต้องใช้ครีมต้านเชื้อราทุก 1-2 สัปดาห์บริเวณผิวหนังที่เกิดเซบเดิมขึ้นครั้งก่อน ทั้งนี้สามารถพูดคุยสอบถามแพทย์ถึงวิธีการป้องกันที่เหมาะสมกับตนเอง