เชื้อราที่เท้า

ความหมาย เชื้อราที่เท้า

เชื้อราที่เท้า หรือที่รู้จักกันในชื่อฮ่องกงฟุตหรือน้ำกัดเท้า คือการติดเชื้อราบริเวณเท้าและง่ามนิ้วเท้าเนื่องจากบริเวณดังกล่าวอับชื้น มักพบได้ในผู้ชาย การติดเชื้อราที่เท้าไม่เป็นอันตรายและรักษาให้หายได้โดยไม่ต้องไปพบแพทย์ ยกเว้นผู้ป่วยโรคเบาหวานหรือผู้มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องที่เสี่ยงเกิดการติดเชื้อรุนแรงได้

เชื้อราที่เท้า

อาการเชื้อราที่เท้า

การติดเชื้อราที่เท้าอาจเกิดขึ้นกับเท้าเพียงข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้างก็ได้ และอาจลุกลามไปที่มือหากผู้ป่วยใช้มือเกาเท้าบริเวณที่ติดเชื้อ อาการของเชื้อราที่เท้าที่พบได้บ่อย มีดังนี้

  • มีอาการคัน เกิดผื่นแดง และเป็นขุยบริเวณง่ามนิ้วเท้า โดยมักรู้สึกคันอย่างรุนแรงหลังจากถอดรองเท้าหรือถุงเท้าออก
  • เกิดตุ่มน้ำเล็ก ๆ สีแดงที่บริเวณฝ่าเท้าหรือง่ามนิ้วเท้า
  • ฝ่าเท้าและบริเวณด้านข้างของเท้าแห้งและตกสะเก็ด
  • มีแผลหรือมีของเหลวกลิ่นเหม็นไหลออกมาจากแผล ผิวหนังบริเวณดังกล่าวมีสีแดง

ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์หากผื่นที่เท้าไม่หายไปหรือมีอาการของการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย เช่น อาการบวมแดงผิดปกติ มีหนอง มีไข้ เป็นต้น รวมถึงผู้ป่วยโรคเบาหวานหรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่องที่สงสัยว่าตนเองอาจติดเชื้อราที่เท้า

สาเหตุของเชื้อราที่เท้า

เชื้อราที่เท้ามีสาเหตุมาจากเชื้อราบนผิวหนังที่เพิ่มจำนวนขึ้นมากจนทำให้เกิดการติดเชื้อ เชื้อราเหล่านี้เจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมที่อับชื้นและแพร่กระจายผ่านการสัมผัสผิวหนังบริเวณที่ติดเชื้อโดยตรงหรือสัมผัสกับสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อ นอกจากนี้ ปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดเชื้อราที่เท้า ได้แก่

  • มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอหรือมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อรา เช่น โรคเบาหวาน เป็นต้น
  • การปล่อยให้เท้าเปียกชื้นและสกปรก
  • การสวมใส่รองเท้าและถุงเท้าที่อับชื้น
  • การสวมรองเท้าที่ไม่ระบายอากาศ ทำให้เท้าร้อนและมีเหงื่อออก
  • การเดินเท้าเปล่าในบริเวณที่มีความอับชื้นและเสี่ยงต่อการติดเชื้อรา เช่น ห้องอาบน้ำรวม ห้องล็อกเกอร์ โรงยิม เป็นต้น
  • การใช้ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า ถุงเท้า หรือรองเท้าร่วมกับผู้อื่น

การวินิจฉัยเชื้อราที่เท้า

ในเบื้องต้นผู้ป่วยสามารถสังเกตการติดเชื้อราที่เท้าได้จากอาการผิดปกติ เช่น คันเท้า หรือผิวหนังบริเวณดังกล่าวแดงโดยไม่มีสาเหตุ โดยเฉพาะบริเวณง่ามนิ้วเท้า แต่ในกรณีที่ไม่แน่ใจว่าเป็นการติดเชื้อรา ผู้ป่วยอาจไปพบแพทย์เพื่อตรวจยืนยันผลอย่างละเอียด โดยแพทย์จะเก็บตัวอย่างผิวหนังบริเวณที่มีความผิดปกติไปตรวจหาเชื้อราด้วยการส่องกล้องจุลทรรศน์หรืออาจใช้วิธีการเพาะเชื้อ

การรักษาเชื้อราที่เท้า

เชื้อราที่เท้ารักษาได้ด้วยการใช้ยาต้านเชื้อราซึ่งหาซื้อยาได้ตามร้านขายยาทั่วไปและไม่ต้องไปพบแพทย์ ยาชนิดนี้มีสรรพคุณช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราและกำจัดเชื้อราในบริเวณที่ติดเชื้อ มีวิธีใช้ ดังนี้

  • ล้างผิวหนังบริเวณที่มีอาการให้สะอาดก่อนทายา
  • ทายาบริเวณแผลโดยตรงและรอบ ๆ แผล
  • ล้างมือหลังการทายาทุกครั้ง
  • ควรใช้ยาอย่างต่อเนื่องตามคำแนะนำบนเอกสารกำกับยา แม้อาการคันหรือผื่นแดงจะหายดีแล้ว เพื่อให้แน่ใจว่าเชื้อราถูกกำจัดจนหมด

ทั้งนี้ หากผื่นที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อราทำให้รู้สึกเจ็บปวดหรือมีอาการคันอย่างมาก เภสัชกรอาจแนะนำให้ใช้ครีมสเตียรอยด์ชนิดอ่อนเพื่อช่วยบรรเทาอาการ แต่ผู้ป่วยควรใช้ครีมดังกล่าวควบคู่กับยาต้านเชื้อราในระยะสั้นเท่านั้นเพื่อป้องกันผลข้างเคียงจากการใช้ยา และควรแจ้งประวัติการแพ้ยาให้เภสัชกรทราบทุกครั้งก่อนใช้ยา

ในระหว่างการรักษา ผู้ป่วยควรดูแลรักษาความสะอาดของเท้าให้มากกว่าเดิม เพื่อช่วยให้หายเร็วขึ้นและป้องกันการกลับไปติดเชื้อราซ้ำ หากรักษาด้วยตนเองอย่างน้อย 1 สัปดาห์แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจอย่างละเอียด หากมีอาการรุนแรง แพทย์อาจสั่งจ่ายยาต้านเชื้อราที่มีฤทธิ์รุนแรงขึ้น เช่น ยาเทอร์บินาฟีนและยาไอทราโคนาโซล

ภาวะแทรกซ้อนของเชื้อราที่เท้า

การติดเชื้อราที่เท้าอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ โดยบางรายอาจมีอาการแพ้เชื้อรา ทำให้เกิดตุ่มน้ำบริเวณมือและเท้าที่สัมผัสกับเชื้อ หรือมีโอกาสกลับมาติดเชื้อราซ้ำหลังจากการรักษา

นอกจากนี้ หากผู้ป่วยไม่รักษาความสะอาด เชื้อราอาจแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย โดยบริเวณที่มักพบการติดเชื้อ ได้แก่

  • มือ การเกาหรือสัมผัสเท้าบริเวณที่ติดเชื้อราและไม่ล้างมือให้สะอาดอาจก่อให้เกิดการติดเชื้อราที่มือตามมา
  • เล็บเท้า เชื้อราอาจแพร่กระจายไปที่บริเวณเล็บเท้า ซึ่งจะทำให้การรักษาทำได้ยากขึ้น
  • ขาหนีบ บริเวณดังกล่าวอาจเกิดการติดเชื้อราจากมือหรือการใช้ผ้าเช็ดตัวที่มีเชื้อราติดอยู่

ในกรณีรุนแรง แผลที่เกิดจากเชื้อราอาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียจนทำให้มีภาวะเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ ส่งผลให้เท้าบวมแดงและแสบร้อน อีกทั้งการติดเชื้อแบคทีเรียอาจก่อให้เกิดหนองและมีของเหลวไหลออกมาจากบริเวณที่ติดเชื้อ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษา เชื้อแบคทีเรียอาจแพร่กระจายเข้าไปในระบบน้ำเหลืองและเกิดการติดเชื้ิอภายในทางเดินน้ำเหลืองหรือต่อมน้ำเหลืองตามมา

การป้องกันเชื้อราที่เท้า

เชื้อราที่เท้าป้องกันได้โดยการระมัดระวังไม่ให้เท้าเกิดการอับชื้น ซึ่งทำได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • ล้างเท้าด้วยน้ำอุ่นทุกวันและเช็ดให้แห้งเสมอ โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้า
  • สวมใส่ถุงเท้าและรองเท้าที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติเพื่อช่วยระบายอากาศ เช่น ผ้าฝ้ายหรือหนัง และเลี่ยงการสวมใส่รองเท้าที่ปิดมิดชิดหรือรัดแน่นเกินไป
  • ควรเดินเท้าเปล่าเมื่ออยู่ภายในบ้าน เพื่อให้เท้าได้สัมผัสอากาศและลดความอับชื้น
  • ใส่ถุงเท้าที่ซักสะอาดและเปลี่ยนคู่ใหม่ทุกวัน
  • ไม่ควรสวมใส่รองเท้าคู่เดิมติดกันหลายวันเพื่อป้องกันการอับชื้น
  • หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่าในห้องน้ำหรือห้องอาบน้ำสาธารณะ
  • ไม่ใช้ผ้าเช็ดตัว ถุงเท้า หรือรองเท้าร่วมกับผู้อื่น และควรซักทำความสะอาดผ้าเช็ดตัวอย่างสม่ำเสมอ
  • หลีกเลี่ยงไม่ให้เท้าเปียกชื้นโดยใช้แป้งฝุ่นทาป้องกันเหงื่อออก และหลีกเลี่ยงการทาครีมบำรุงผิวบริเวณซอกนิ้วเท้า
  • ทำความสะอาดห้องน้ำภายในบ้านอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อรา