อุ้มบุญ ทางเลือกคนมีลูกยาก

การอุ้มบุญ คือ การให้หญิงคนอื่นตั้งครรภ์จากการปฏิสนธิภายนอกร่างกายแทนคู่สามีภรรยาที่ไม่สามารถมีลูกได้ การปฏิสนธิอาจใช้สเปิร์มและไข่จากคู่สามีภรรยาดังกล่าว หรือเป็นสเปิร์มหรือไข่จากคนใดคนหนึ่งผสมกับสเปิร์มหรือไข่ที่ได้รับบริจาคจากผู้อื่น แล้วจึงนำตัวอ่อนฝังเข้าไปในมดลูกของหญิงที่อุ้มบุญ 

ในปัจจุบันการอุ้มบุญในประเทศไทยสามารถทำได้ แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด โดยทารกที่คลอดออกมาถือเป็นบุตรของคู่สามีภรรยาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม การอุ้มบุญมีข้อควรระวังและข้อดีข้อเสียที่ควรศึกษาก่อนตัดสินใจ ผู้ที่มีลูกยากที่สนใจจึงควรพิจารณาอย่างถ้วนถี่ก่อนเลือกใช้วิธีการอุ้มบุญในการมีบุตร

อุ้มบุญ

การอุ้มบุญถูกกฎหมายหรือไม่ 

ปัจจุบันการอุ้มบุญในประเทศไทยสามารถทำได้อย่างถูกกฎหมาย แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขต่อไปนี้

  • สามีและภรรยาที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายที่ภรรยาไม่สามารถมีบุตรได้ และต้องการให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทนจะต้องมีสัญชาติไทย แต่หากเป็นการแต่งงานต่างสัญชาติต้องจดทะเบียนสมรสมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ปี
  • หญิงที่ตั้งครรภ์แทนต้องไม่ใช่บุพการีหรือผู้สืบเชื้อสายของคู่สามีภรรยา
  • หญิงที่ตั้งครรภ์แทนต้องเป็นญาติที่สืบเชื้อสายเดียวกับสามีหรือภรรยา แต่หากไม่มีก็สามารถให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทนได้
  • หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนต้องเคยมีบุตรมาก่อน และหากมีสามีอยู่แล้วก็ต้องให้สามียินยอม
  • การอุ้มบุญทำได้ 2 วิธี คือการใช้ตัวอ่อนที่เกิดจากอสุจิของสามีและไข่ของภรรยา หรือการใช้ตัวอ่อนจากอสุจิสามีหรือไข่ภรรยาไปผสมกับไข่หรืออสุจิของผู้อื่น โดยมีข้อห้ามไม่ให้ใช้ไข่ของหญิงที่อุ้มบุญ
  • ห้ามไม่ให้มีการรับจ้างตั้งครรภ์หรือทำเพื่อประโยชน์ทางการค้าใด ๆ
  • เด็กที่เกิดมาด้วยการอุ้มบุญจะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของสามีภรรยาคู่ดังกล่าว

โดยผู้ที่อยู่ในภาวะต่อไปนี้อาจให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทนได้

  • หญิงที่มีปัญหาเกี่ยวกับมดลูก
  • หญิงที่ผ่าตัดมดลูกออกไปแล้ว
  • ผู้ที่ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้หรือการตั้งครรภ์จะก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเอง เช่น ผู้ป่วยโรคหัวใจอย่างรุนแรง
  • ผู้ที่มีบุตรยากและได้ลองใช้วิธีอื่นมามากแล้วแต่ยังไม่ได้ผล

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการให้ผู้อื่นตั้งครรภ์แทน กำหนดให้ทำได้เฉพาะคู่สามีภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น การอุ้มบุญในประเทศไทยจึงถือว่ายังมีข้อจำกัดต่อผู้ที่ต้องการมีบุตรแต่มีสถานภาพการแต่งงานไม่เป็นไปตามข้อบังคับ หรือคู่รักชายรักชายที่ตามกฎหมายไทยยังไม่สามารถจดทะเบียนสมรสระหว่างเพศที่สามได้

ขั้นตอนการอุ้มบุญ

การอุ้มบุญมีขั้นตอนดังต่อไปนี้ 

1. รับคำปรึกษา 

คู่สามีภรรยาที่ไม่สามารถมีบุตรได้และต้องการใช้วิธีอุ้มบุญควรปรึกษากับผู้ให้คำแนะนำด้านการมีบุตร เพื่อทราบถึงข้อดีและข้อเสียของการอุ้มบุญ รวมถึงผลกระทบต่อความสัมพันธ์ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้แม่อุ้มบุญแทนตนเอง เพื่อช่วยให้พิจารณาและตัดสินใจได้อย่างรอบคอบยิ่งขึ้น

2. เลือกแม่อุ้มบุญ 

ขั้นตอนต่อมาคือการคัดหาผู้ที่จะมาตั้งครรภ์แทน ซึ่งตามกฎหมายกำหนดจะต้องเป็นญาติที่สืบเชื้อสายเดียวกัน ไม่รวมบุพการีหรือผู้สืบเชื้อสาย หากไม่มีญาติจึงจะสามารถให้ผู้อื่นตั้งครรภ์แทน นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังได้แนะนำว่าแม่อุ้มบุญที่เหมาะสมควรจะมีคุณสมบัติ ดังนี้

  • มีอายุระหว่าง 21–45 ปี
  • เคยตั้งครรภ์มาก่อนโดยไม่เกิดอาการแทรกซ้อนใด ๆ ระหว่างการตั้งครรภ์ และบุตรที่คลอดออกมามีสุขภาพแข็งแรงดี
  • มีครอบครัวที่คอยสนับสนุนและพึ่งพาได้
  • มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี

3. ตรวจสุขภาพ 

คู่สามีภรรยาและหญิงที่ตั้งครรภ์แทนควรได้รับการตรวจสุขภาพกายและสุขภาพจิตเบื้องต้น เหตุที่ต้องตรวจสุขภาพจิตนั้นเนื่องจากการอุ้มบุญเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและอาจทำให้มีปัญหาหญิงอุ้มบุญไม่ยอมคืนเด็ก ปัญหาความวิตกกังวลของคู่สามีภรรยาที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการอุ้มบุญ หรือปัญหาอื่น ๆ ได้

ด้านสุขภาพกาย สมาคมเวชศาสตร์เจริญพันธุ์แห่งสหรัฐอเมริกา (The American Society for Reproductive Medicine) ยังแนะนำให้มีการตรวจเพื่อเช็คสุขภาพร่างกายของหญิงอุ้มบุญถึงความพร้อมต่อการตั้งครรภ์ และตรวจการติดเชื้อจากโรคต่าง ๆ เช่น ซิฟิลิส หนองในแท้ หนองในเทียม โรคติดเชื้อเอชไอวี โรคติดเชื้อไซโตเมกะโลไวรัส ไวรัสตับอักเสบ บี และไวรัสตับอักเสบ ซี รวมถึงการทดสอบภูมิคุ้มกันโรคหัด โรคหัดเยอรมัน และโรคอีสุกอีใสด้วย

4. ทำสัญญาข้อตกลง

สามีภรรยาที่ต้องการให้ผู้อื่นตั้งครรภ์แทนควรจ้างทนายที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับกฎหมายหรือคดีอุ้มบุญให้เขียนข้อตกลงร่วมกันที่สามารถคุ้มกันทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการนี้ 

โดยอธิบายถึงรายละเอียดข้อสำคัญต่าง ๆ เช่น การชดเชยค่าเสียหาย สิทธิความเป็นบิดามารดา สิทธิในการดูแลเด็ก การกำหนดว่าเด็กจะคลอดที่ไหน การทำสัญญาส่งมอบระหว่างบุคคลที่สาม ขอบเขตการคุ้มครองในการประกันภัย และการควบคุมการตัดสินใจเกี่ยวกับการรักษาทางแพทย์ระหว่างที่ตั้งครรภ์ของหญิงอุ้มบุญ เป็นต้น

5. สร้างตัวอ่อน 

ตัวอ่อนที่ฝังในครรภ์ของหญิงอุ้มบุญเกิดจากวิธีการทำเด็กหลอดแก้ว โดยนำเอาอสุจิของฝ่ายชายและรังไข่ของฝ่ายหญิงมาผสมให้ปฏิสนธิกันภายนอกร่างกายแล้วใส่เข้าไปฝังตัวในมดลูกของหญิงอุ้มบุญจนเกิดการตั้งครรภ์ขึ้น

ในกระบวนการปฏิสนธิภายนอกนี้ หญิงที่รังไข่ถูกนำมาใช้และหญิงที่จะตั้งครรภ์แทนต่างได้รับยาเพื่อปรับรอบเดือนให้มาพร้อมกัน เพื่อให้มดลูกของหญิงที่ตั้งครรภ์แทนพร้อมสำหรับตัวอ่อนทันทีที่ไข่ของหญิงอีกคนตกและถูกนำไปปฏิสนธิกับอสุจิ

หญิงที่เป็นเจ้าของไข่จะได้รับยากระตุ้นการตกไข่ (Gonadotropins) เพื่อให้ไข่ตกหลายใบและเมื่อไข่เจริญเติบโตเต็มที่พร้อมปฏิสนธิ แพทย์ก็จะนำไข่และอสุจิที่ผลิตขึ้นในเวลาเดียวกันนี้มาปฏิสนธิกันในภาชนะในห้องปฏิบัติการแล้วฝังไปที่มดลูกของหญิงอุ้มบุญเพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ขึ้น

ส่วนวิธีการอุ้มบุญให้คู่รักชายรักชายที่ต้องการมีบุตร จะต้องใช้อสุจิของคนใดคนหนึ่ง นำมาปฏิสนธิกับไข่ที่อาจได้รับบริจาคมาด้วยวิธีการทำเด็กหลอดแก้วเช่นกัน แล้วให้หญิงอุ้มบุญตั้งครรภ์แทนจนกว่าจะคลอด อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทย การอุ้มบุญให้คู่รักชายรักชายที่ต้องการมีบุตรยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายออกมารองรับ

ระยะเวลาที่ใช้ในกระบวนการอุ้มบุญ

การหาหญิงอุ้มบุญที่สุขภาพแข็งแรงและเต็มใจที่จะรับตั้งครรภ์แทนนั้นอาจต้องใช้เวลาหลายเดือนหรือเป็นปี และเมื่อมีการตกลงที่จะตั้งครรภ์แทนแล้วก็อาจต้องใช้กระบวนการทำเด็กหลอดแก้วอย่างน้อยถึง 3–4 รอบกว่าการตั้งครรภ์จะประสบความสำเร็จ ซึ่งการทำเด็กหลอดแก้วในแต่ละครั้งจะใช้เวลา 4–6 สัปดาห์

ผลข้างเคียงจากการใช้วิธีอุ้มบุญ

ผลข้างเคียงอาจเกิดขึ้นในลักษณะของผลข้างเคียงจากยากระตุ้นการตกไข่โกนาโดโทรปินส์ที่ใช้ โดยภาวะที่พบได้บ่อยสุดคือการตั้งครรภ์แฝด มีโอกาสเกิดขึ้นได้ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้การตั้งครรภ์ที่เกิดขึ้นจะยิ่งมีความเสี่ยงต่อการแท้งและภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ และมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นให้ผลิตไข่ออกมามากเกิน ทำให้รังไข่บวมอย่างรวดเร็วและมีของเหลวสะสมในช่องท้อง รอบ ๆ หัวใจหรือปอด เป็นต้น

การใช้โกนาโดปินส์มีโอกาส 10–20 เปอร์เซ็นต์ที่จะส่งผลให้เกิดภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นอ่อน ๆ ที่อาจส่งผลให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสีย แต่ก็มักจะหายไปได้เอง และมีโอกาส 1–2 เปอร์เซ็นต์ที่จะร้ายแรงถึงขั้นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล เกิดการจับตัวเป็นลิ่มของเลือด ปัญหาเกี่ยวกับไต และถึงขั้นเสียชีวิต แต่มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก

นอกจากนี้ การได้รับการฉีดยาดังกล่าวอาจมีอาการฟกช้ำที่เต้านม เกิดผื่นแดงหรือบวมบริเวณที่ถูกฉีดยา ส่วนหญิงที่ตั้งครรภ์แทนก็อาจรู้สึกไม่สบายตัวและมีความเสี่ยงเนื่องจากการตั้งครรภ์เช่นเดียวกับหญิงตั้งครรภ์คนอื่น ๆ

ข้อเสียของการอุ้มบุญ

การให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทนหรือการอุ้มบุญมีค่าใช้จ่ายสูงและควรอยู่ภายใต้การดูแลของสูตินรีแพทย์อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังมีความยุ่งยากทางกฎหมายที่ต้องทำสัญญาและข้อตกลงที่ซับซ้อน

ยิ่งไปกว่านั้น คู่สามีภรรยาที่ใช้วิธีอุ้มบุญอาจเผชิญกับความวิตกกังวลถึงความปลอดภัยของทารกในครรภ์จนคลอด และต้องรับมือกับผู้คนรอบข้างที่ไม่เข้าใจเหตุผลที่เลือกใช้วิธีอุ้มบุญหรือไม่เห็นว่าเป็นวิธีที่ดี รวมทั้งความกังวลที่ว่า หญิงที่ตั้งครรภ์แทนอาจล้มเลิกการตั้งครรภ์แทนหรือไม่ยอมคืนทารกให้หลังจากคลอดออกมาแล้ว ซึ่งกรณีนี้ก็ต้องอาศัยกระบวนการทางกฎหมายในการทำสัญญาข้อตกลงอย่างรัดกุม