อีโบลา (Ebola)

ความหมาย อีโบลา (Ebola)

อีโบลา (Ebola) หรือโรคอีโบลา เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัสอีโบลา (Ebola virus) ซึ่งเป็นโรคที่มีความรุนแรงและอันตรายถึงชีวิต เมื่อได้รับเชื้อไวรัสนี้เข้าสู่ร่างกาย ไวรัสจะสร้างความเสียหายต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายและอวัยวะที่สำคัญต่าง ๆ ในที่สุดแล้วจะทำให้ระดับเซลล์ที่ควบคุมการแข็งตัวของเลือดต่ำลงจนนำไปสู่การเกิดภาวะเลือดออกที่รุนแรงและไม่สามารถควบคุมได้

โรคอีโบลาพบการระบาดครั้งแรกที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกในทวีปแอฟริกากลาง โดยเชื้อไวรัสสามารถแพร่จากสัตว์สู่คนได้โดยการสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ที่ติดเชื้อ และสามารถแพร่จากคนสู่คนได้โดยการสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อหรือผู้ที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อ ในปัจจุบันมีการคิดค้นวัคซีนที่ใช้สำหรับป้องกันเชื้อไวรัสอีโบลาแล้ว แต่อาจใช้ป้องกันเชื้อไวรัสได้เพียงสายพันธุ์เดียวเท่านั้น

อีโบลา (Ebola)

อาการของโรคอีโบลา

อาการช่วงแรกของการติดเชื้อไวรัสอีโบลาจะคล้ายกับอาการของไข้หวัดใหญ่ทั่วไป โดยจะเริ่มแสดงอาการตั้งแต่วันที่ 2 หลังจากที่ได้รับเชื้อ ไปจนถึงวันที่ 21 หลังจากที่ได้รับเชื้อ อาการที่พบได้บ่อยมีดังนี้

  • มีไข้สูง เจ็บคอ ปวดศีรษะ
  • ปวดข้อต่อและกล้ามเนื้อ
  • ร่างกายอ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนแรงอย่างรุนแรง
  • ปวดท้อง หรือเบื่ออาหาร  

หลังจากนั้นอาการจะมีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้เกิดเลือดออกในร่างกาย เกิดเลือดออกจากตา หู และจมูก รวมถึงในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการอาเจียนหรือไอออกมาเป็นเลือด ท้องเสียเป็นเลือด และมีผื่นขึ้นร่วมด้วย

สาเหตุของโรคอีโบลา

โรคอีโบลาไม่ได้เป็นโรคที่แพร่เชื้อได้ง่ายเหมือนกับโรคไข้หวัดทั่วไปหรือโรคหัด โดยสามารถแพร่สู่คนจากการสัมผัสพื้นผิวหรือสารคัดหลั่งของสัตว์ที่มีเชื้ออยู่ เช่น ลิง ลิงชิมแปนซี หรือค้างคาว และสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ด้วยการสัมผัสโดยตรงกับเลือดหรือสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ 

ตัวอย่างสาเหตุที่ทำให้ได้รับเชื้ออีโบลา มีดังนี้

  • การสัมผัสโดยตรงกับผู้ติดเชื้อหรือผู้ที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อ โดยเชื้อไวรัสจะสามารถมีชีวิตอยู่ภายนอกร่างกายได้อีกหลายวัน
  • การใช้เข็มหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ร่วมกับผู้ติดเชื้อ
  • การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อโดยไม่ได้ใส่ถุงยางอนามัย โดยเชื้อไวรัสจะสามารถมีชีวิตอยู่ในน้ำอสุจิได้อีกหลายเดือนหลังจากที่โรคหายแล้ว
  • การสัมผัสหรือรับประทานอาหารป่าแบบดิบหรือสุก

โดยทั่วไปแล้ว ความเสี่ยงในการได้รับเชื้อไวรัสอีโบลาจะอยู่ในระดับต่ำ แต่อาจมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นในผู้ที่มีปัจจัยดังต่อไปนี้

  • ผู้ที่เดินทางไปยังประเทศในทวีปแอฟริกาที่เคยมีการระบาดของโรค อาจทำให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ในปัจจุบันการระบาดของโรคได้หยุดลงแล้ว จึงอาจมีความเสี่ยงน้อยลงกว่าตอนที่เกิดการระบาดของโรค
  • ผู้ที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับสัตว์ โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับสัตว์ที่มาจากประเทศแอฟริกาหรือประเทศฟิลิปปินส์ เช่น ลิง อาจต้องมีการสัมผัสกับสัตว์ ทำให้มีความเสี่ยงในการได้รับเชื้อมากขึ้น
  • ผู้ที่ให้การดูแลทางการแพทย์ คนใกล้ชิด คนในครอบครัว หรือญาติของผู้ติดเชื้อ ซึ่งต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ทำให้อาจได้รับเชื้อได้ง่ายหากไม่ได้ใส่อุปกรณ์ป้องกันอย่างถูกต้อง เช่น หน้ากากและถุงมือ
  • ผู้ที่ทำพิธีศพให้แก่ผู้ติดเชื้อ เนื่องจากร่างของผู้เสียชีวิตยังสามารถแพร่เชื้อได้อยู่ รวมถึงผู้ที่ต้องใกล้ชิดกับศพหรือผู้ที่ช่วยเตรียมพิธีศพก็มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับเชื้อเช่นกัน

การวินิจฉัยโรคอีโบลา

การวินิจฉัยโรคอีโบลา แพทย์จะถามประวัติของผู้ป่วย เช่น การตั้งครรภ์ การทำงานร่วมกับผู้ป่วย หรือการทำงานสัตว์ป่า แต่การวินิจฉัยโรคในเบื้องต้นอาจทำได้ยาก เนื่องจากอาการของโรคอีโบลามีความใกล้เคียงกับโรคอื่น ๆ เช่น โรคไข้เลือดออก โรคไข้มาลาเรีย โรคชิคุนกุนยา (Chikungunya) โรคไข้ไทฟอยด์ หรือโรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก (Marburg virus disease) 

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอีโบลา แพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยการตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อไวรัสต่อไป

การรักษาโรคอีโบลา

การรักษาโรคอีโบลาที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) จะเป็นการรักษาด้วยยา โดยตัวยาจะทำหน้าที่คล้ายกับแอนติบอดีในร่างกายในการดักจับเชื้อไวรัสอีโบลาและหยุดยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่เซลล์ของร่างกาย

นอกจากนี้ ยังมีการรักษาแบบประคับประคองหรือควบคุมอาการ เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตมากขึ้น เช่น ให้ออกซิเจน ให้สารน้ำทางหลอดเลือด ให้ยาแก้ปวดลดไข้ ให้ยากระตุ้นความดันโลหิต รักษาระดับความดันโลหิต ถ่ายเลือดหรือให้เลือด รวมถึงรักษาอาการติดเชื้ออื่น ๆ ที่เกิดขึ้นตามมา

ภาวะแทรกซ้อนของโรคอีโบลา

ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสอีโบลามีโอกาสที่จะเสียชีวิตมากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ และการติดเชื้อไวรัสอีโบลายังอาจทำให้เกิดโรคหรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้ด้วย เช่น ความดันโลหิตลดต่ำลงมาก การทำงานของอวัยวะที่สำคัญในร่างกายล้มเหลว โรคดีซ่าน มีเลือดออกอย่างรุนแรง อาการเพ้อ อาการชัก อาการขาดสติ รวมไปถึงเกิดภาวะโคม่า (Coma) 

การป้องกันโรคอีโบลา

ในปัจจุบันมีวัคซีนสำหรับป้องกันเชื้อไวรัสอีโบลาที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ชื่อว่าวัคซีน rVSV-ZEBOV ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสอีโบลาสายพันธุ์ Ebola-Zaire ที่มีความรุนแรงและทำให้เกิดการเสียชีวิตได้มากที่สุด โดยแนะนำให้ฉีดวัคซีนชนิดนี้ก่อนในผู้ใหญ่ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป

นอกจากนี้ การป้องกันโรคอีโบลาที่ดีอีกวิธีหนึ่งคือการลดความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อ เช่น

  • หลีกเลี่ยงการไปท่องเที่ยวในประเทศที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลา เช่น ประเทศในทวีปแอฟริกา รวมถึงควรหาข้อมูลการระบาดของโรคเพิ่มเติมจากศูนย์ควบคุมโรคด้วย
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์ที่สงสัยว่าอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อไวรัส และหลีกเลี่ยงการซื้อหรือการรับประทานสัตว์ป่า โดยเฉพาะลิง
  • หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดหรือสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ และควรระวังการสัมผัสกับสารคัดหลั่งต่าง ๆ ผู้ป่วย เช่น เลือด เหงื่อ น้ำลาย ปัสสาวะ อุจจาระ อสุจิ หรือสารคัดหลั่งในช่องคลอด
  • ผู้ที่ทำงานในสถานพยาบาลหรือทำงานเกี่ยวกับการให้บริการด้านสุขภาพ หากต้องใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสอีโบลา ควรใส่อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ เช่น ถุงมือ หน้ากากป้องกัน และแว่นตาป้องกันการติดเชื้อ (Goggles)

รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ และล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่ล้างมือหรือเจลแอลกอฮอล์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์อย่างน้อย 60 เปอร์เซ็นต์