อาการ COVID-19 อาจดูคล้ายกับโรคทั่วไปอย่างไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ทำให้หลายคนอาจสับสนบวกกับวิตกกังวลอย่างมากว่าตนเองอาจติดเชื้อไวรัสชนิดนี้เข้าแล้ว แต่จริง ๆ อาการของโรคนี้ยังมีรายละเอียดที่ต่างจากโรคติดเชื้ออื่น ๆ อีก มาลองเช็คกันว่าคุณมีอาการเข้าข่ายการติดเชื้อ COVID-19 จริงหรือไม่
โรคโควิด-19 (COVID-19) เป็นโรคติดเชื้อจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่เริ่มต้นการระบาดช่วงประมาณเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2562 ในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน โดยทั่วไปเราสามารถรับเชื้อไวรัสโคโรนาได้หลายทาง ทั้งการสูดเชื้อไวรัสในอากาศที่แพร่กระจายในพื้นที่ปิดหรือแออัด และผ่านการไอหรือจามของผู้ติดเชื้อ หรือการสัมผัสกับพื้นผิวสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสมาก่อนแล้วนำมือนั้นมาสัมผัสกับดวงตา จมูก หรือปาก
อาการ COVID-19 ที่ควรสังเกต
ผู้ป่วย COVID-19 ส่วนใหญ่มักมีไข้ ไอ และหายใจลำบาก โดยอาการจะแสดงออกมาหลังได้รับเชื้อไวรัสประมาณ 2–14 วัน แตกต่างกันไปตามแต่ละคน แต่บางรายอาจจะไม่มีอาการใดแสดงออกมาก็ได้ ซึ่งนอกเหนือจากอาการหลักแล้ว ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น
- คัดจมูก
- น้ำมูกไหล
- เจ็บคอ
- ปวดกล้ามเนื้อ
- เหนื่อยล้า
- ปวดศีรษะ
- เจ็บหน้าอก
- คลื่นไส้ อาเจียน
- สูญเสียการได้กลิ่นหรือการรับรส
- รู้สึกสับสน
- ท้องเสีย
- เยื่อบุตาอักเสบ
- มีผื่นขึ้นตามผิวหนัง
โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ป่วยที่มีอาการ COVID-19 ไม่รุนแรงและไม่มีภาวะเสี่ยงส่วนใหญ่มักหายได้เองโดยไม่ต้องรักษาด้วยวิธีเฉพาะ เพียงบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นร่วมกับการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ยกเว้นกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคปอด โรคมะเร็ง หรือโรคเบาหวาน ซึ่งอาจเกิดปัญหาสุขภาพรุนแรงอย่างหัวใจวายหรือเสียชีวิต เนื่องจากมีระบบภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอหรือเสื่อมสภาพลงตามวัย จึงควรได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด
ในกรณีที่คาดว่าตนเองอาจเข้าข่ายติดเชื้อ COVID-19 และมีสัญญาณเตือนของอาการที่รุนแรง เช่น หายใจลำบากหรือหายใจไม่อิ่ม เจ็บหน้าอกอย่างต่อเนื่อง รู้สึกสับสน ใบหน้าหรือริมฝีปากซีดหรือคล้ำ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบโดยด่วน โดยเฉพาะในผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวที่รุนแรง
วิธีป้องกันตนเองจากอาการ COVID-19
แม้จะยังไม่มียารักษาเฉพาะ แต่กระบวนการคิดค้น ต่อยอด พัฒนาให้ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง การป้องกัน COVID-19 จึงต้องเริ่มต้นจากการปรับพฤติกรรมตนเองเพื่อลดการได้รับเชื้อที่อาจเข้าสู่ร่างกายและการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น โดยควรปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้
- หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่นานอย่างน้อย 20 วินาที หากไม่สะดวกจะใช้น้ำและสบู่อาจใช้เป็นเจลแอลกอฮอล์อย่างน้อย 60 เปอร์เซ็นต์ ทดแทนได้ โดยเฉพาะเมื่อออกไปยังสถานที่สาธารณะหรือหลังจากการไอหรือจาม
- หากยังไม่ได้ล้างมือให้สะอาด ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า ดวงตา จมูก และปาก
- ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือคลุกคลีกับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการระบบทางเดินหายใจหรืออยู่ในที่ชุมชนที่มีคนจำนวนมาก หากเลี่ยงไม่ได้แนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันตนเอง
- ควรเว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1 เมตร เพื่อป้องกันการหายใจเอาเชื้อโรคในอากาศที่อาจมาจากการไอหรือจามของคนรอบข้างเข้าสู่ร่างกาย หรือเชื้อโรคที่ปะปนในอากาศในพื้นที่ที่ไม่มีอากาศถ่ายเท พื้นที่ปิด หรือพื้นที่แออัด
- ผู้ที่มีอาการในระบบทางเดินหายใจควรสวมหน้ากากอนามัยหากจำเป็นต้องออกนอกบ้าน เมื่อไอหรือจามควรปิดปากและจมูกด้วยกระดาษทิชชู่ และเว้นระยะให้ห่างกับผู้อื่น ในกรณีที่ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันใด ๆ ควรไอหรือจามใส่ข้อพับแขนตนเอง แล้วล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง
- ทำความสะอาดเครื่องใช้ในบ้านและอุปกรณ์ที่มักสัมผัสเป็นประจำ เพื่อลดจำนวนเชื้อไวรัสที่อาจปะปนอยู่บนพื้นผิวสิ่งของและการแพร่กระจายของเชื้อโรค
- ติดตามข่าวสารและสถานที่ที่พบผู้ติดเชื้ออยู่เสมอ และควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังบริเวณดังกล่าว โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว
- เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามหน่วยบริการหรือช่องทางต่าง ๆ ที่ภาครัฐสนับสนุน หรือฉีดวัคซีนทางเลือกที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมผ่านหน่วยงานภาคเอกชน
หากได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อ COVID-19 ก็ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ผู้ดูแลอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ร่างกายฟื้นฟูโดยเร็วและลดการแพร่กระจายเชื้อโรคไปสู่คนในครอบครัวหรือผู้อื่น
อย่างไรก็ตาม การหวั่นวิตกมากจนเกินไปอาจไม่เป็นผลดีนัก สิ่งสำคัญที่ควรทำเพื่อให้ห่างไกลจากอาการ COVID-19 คือ การมีสติและหมั่นป้องกันตนเองอย่างถูกวิธี โดยสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ อย่างกระทรวงสาธารณสุขหรือองค์การอนามัยโลก
ข้อมูล ณ วันที่ 24 สิงหาคม 2564