อาการมะเร็งปากมดลูก และสัญญาณที่ไม่ควรมองข้าม

อาการมะเร็งปากมดลูกอาจเกิดได้กับผู้หญิงทั่วไป แต่พบได้บ่อยในหญิงวัยเจริญพันธุ์ โดยมะเร็งปากมดลูกเกิดขึ้นจากเซลล์ของปากมดลูกนั้นแบ่งตัวผิดปกติและเติบโตจนลุกลาม ซึ่งมะเร็งชนิดนี้พบได้บ่อยในหญิงไทยและมักไม่แสดงอาการในระยะเริ่มแรก ดังนั้น การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกจึงเป็นเรื่องสำคัญที่อาจช่วยให้พบโรคร้ายดังกล่าวก่อนจะลุกลามจนทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ที่ยากต่อการรักษาให้หายดีได้

อาการมะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูกเป็นอย่างไร

มะเร็งปากมดลูกมีสาเหตุหลักมาจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (Human Papilloma Virus: HPV) โดยมะเร็งชนิดนี้มักเกิดกับผู้หญิงอายุระหว่าง 30-45 ปี ที่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน สำหรับผู้หญิงที่มีคู่นอนหลายคน มีเพศสัมพันธุ์ตั้งแต่อายุยังน้อย มีบุตรตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือสูบบุหรี่ ก็อาจเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูกมากขึ้นได้ ทั้งนี้ มะเร็งปากมดลูกอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอย่างทันท่วงที

สัญญาณและอาการมะเร็งปากมดลูก

ผู้หญิงที่เป็นมะเร็งปากมดลูกมักไม่มีอาการใด ๆ แสดงออกมาในระยะแรกและระยะก่อนมะเร็ง แต่หากมะเร็งนั้นลุกลามไปยังเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียงอาจส่งผลให้เกิดอาการมะเร็งปากมดลูกได้ โดยมีอาการที่พบได้บ่อยดังต่อไปนี้

  • มีเลือดออกผิดปกติจากทางช่องคลอด เช่น เลือดออกหลังการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด เลือดออกหลังวัยหมดประจำเดือน ประจำเดือนมาแบบกะปริบกะปรอย ประจำเดือนมามากหรือมานานกว่าปกติ เลือดออกหลังการสวนช่องคลอดหรือหลังการตรวจภายใน เป็นต้น
  • ตกขาวที่ผิดปกติ เกิดขึ้นได้ในระหว่างการมีประจำเดือนหรือหลังวัยหมดประเดือน โดยตกขาวดังกล่าวอาจมีเลือดปนอยู่ด้วย
  • เจ็บในขณะที่มีเพศสัมพันธ์

อย่างไรก็ตาม สัญญาณและอาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นจากภาวะอื่น ๆ นอกเหนือจากมะเร็งปากมดลูกอย่างการติดเชื้อ ซึ่งทำให้ปวดท้องน้อยหรือมีเลือดออกได้ ผู้ที่มีอาการดังกล่าวจึงควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปากมดลูกจริงหรือไม่ เพราะหากเป็นมะเร็งแล้วปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เกิดการลุกลามไปยังระยะที่รุนแรงมากขึ้นและยังทำให้การรักษามีประสิทธิภาพลดลงอีกด้วย

แต่หากมะเร็งปากมดลูกนั้นลุกลามไปยังเนื้อเยื่อหรืออวัยวะโดยรอบก็อาจทำให้เกิดอาการอื่น ๆ ตามมาได้ เช่น

  • มีเลือดออกทางช่องคลอดปริมาณมากอย่างรุนแรง
  • ปวดหลังส่วนล่างหรือกระดูกเชิงกราน
  • ปวดสีข้างหรือหลังอย่างรุนแรงอันเนื่องมาจากมะเร็งลุกลามไปที่ไต
  • ท้องผูก
  • ปัสสาวะหรืออุจจาระบ่อยกว่าปกติ
  • มีภาวะกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่อยู่
  • ปัสสาวะเป็นเลือด
  • ขาข้างใดข้างหนึ่งหรือขาทั้งสองข้างบวม

วิธีป้องกันมะเร็งปากมดลูก

ผู้หญิงทุกคนสามารถลดความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

  • ฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่มักก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด และมะเร็งอวัยวะเพศหญิง โดยสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่อายุ 9-26 ปี ซึ่งปริมาณของวัคซีนที่จะได้รับนั้นจะขึ้นอยู่กับอายุของผู้รับวัคซีน ทั้งนี้ ควรฉีดวัคซีนตั้งแต่ก่อนมีเพศสัมพันธ์ เพราะจะทำให้วัคซีนจะมีประสิทธิภาพสูงสุด
  • ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยการตรวจแป๊ปสเมียร์ (Pap Smear) เพื่อตรวจหาการเปลี่ยนแปลงของเซลล์บริเวณปากมดลูกที่อาจกลายเป็นมะเร็งได้หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม โดยผู้หญิงควรเข้ารับการตรวจประเภทนี้เป็นประจำเมื่ออายุ 21 ปี และกลับมาตรวจซ้ำเป็นระยะ รวมถึงการตรวจหาเชื้อ HPV ซึ่งเป็นไวรัสที่อาจทำให้เซลล์บริเวณดังกล่าวเกิดการเปลี่ยนแปลงไปอีกด้วย
  • ไม่สูบบุหรี่หรือเลิกสูบ
  • ใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ รักเดียวใจเดียวไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย และมีเพศสัมพันธ์เมื่อถึงวัยที่เหมาะสม      

สุดท้ายนี้ หากผู้ป่วยมีความผิดปกติใด ๆ ที่สงสัยว่าอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงอาการมะเร็งปากมดลูก และอาการนั้นยังก่อให้เกิดความกังวลใจก็ไม่ควรปล่อยปละละเลย และควรไปปรึกษาแพทย์เสียแต่เนิ่น ๆ เพราะสัญญาณอาการดังกล่าวอาจเป็นภัยเงียบที่เป็นอันตรายต่อตัวคุณได้ นอกจากนี้ การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกนั้นก็เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ตรวจพบความผิดปกติได้เร็วยิ่งขึ้น ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและลดความเสี่ยงในการเกิดและลุกลามของมะเร็งได้