อะโวคาโด ผลไม้เพื่อสุขภาพกับข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์

อะโวคาโด เป็นไม้ผลที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศเม็กซิโกและประเทศแถบอเมริกากลาง ก่อนจะแพร่หลายไปยังภูมิภาคอื่นทั่วโลก โดยผู้คนนิยมนำผลมารับประทานเป็นอาหาร อีกทั้งส่วนอื่น ๆ ของต้นถูกนำไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์และความงาม

อะโวคาโด

อะโวคาโดอุดมด้วยวิตามินและแร่ธาตุสำคัญที่จำเป็นต่อร่างกาย ได้แก่ โพแทสเซียมช่วยควบคุมความดันเลือด ลูทีนช่วยบำรุงสายตา โฟเลตมีส่วนสำคัญในการซ่อมแซมเซลล์และจำเป็นต่อร่างกายในขณะตั้งครรภ์ วิตามินบีช่วยต่อสู้กับโรคและการติดเชื้อ รวมถึงสารเคมีอื่น ๆ ที่อาจช่วยต่อต้านกับโรคมะเร็ง นอกจากนี้ ยังมีปริมาณน้ำตาลค่อนข้างต่ำและมีไฟเบอร์สูง ช่วยให้อิ่มท้องได้นาน จึงมักเป็นที่นิยมในหมู่คนรักสุขภาพ

ผลอะโวคาโดเชื่อว่าช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด เพิ่มความต้องการทางเพศ กระตุ้นระบบไหลเวียนเลือด กระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นผม เร่งการสมานแผลให้เร็วขึ้น บางส่วนถูกสกัดเป็นน้ำมันรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม ใช้ทาลงบนผิวหนังโดยตรงสำหรับบรรเทาอาการผิวหนังด้านและโรคสะเก็ดเงิน ขณะเดียวกันก็มีความเชื่อว่าเมล็ด ใบ และเปลือกใช้รักษาโรคบิดและโรคอุจจาระร่วงได้

สำหรับข้อมูลทางด้านการแพทย์จากฐานข้อมูลที่ครอบคลุมเกี่ยวกับการแพทย์ทางธรรมชาติ (Natural Medicines Comprehensive Database) มีการแบ่งระดับความน่าเชื่อถือของการใช้การรักษาทางเลือกจากธรรมชาติเป็น 7 ระดับ ซึ่งได้ระบุประสิทธิภาพในการรับประทานหรือใช้อะโวคาโดรักษาโรคต่าง ๆ ไว้ดังนี้

การรักษาที่อาจได้ผล

ภาวะคอเลสเตอรอลสูง อะโวคาโดอุดมไปด้วยไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวที่คาดว่าช่วยลดระดับไขมันในเลือด จึงอาจเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่มีภาวะคอเลสเตอรอลสูงจากการรวมผลงานวิจัย จำนวน 10 ชิ้น ที่ศึกษาเกี่ยวกับอะโวคาโดและการเปลี่ยนแปลงของระดับไขมันรวม ไขมันชนิดดี ไขมันชนิดไม่ดี และไตรกรีเซอร์ไลน์ในเลือด โดยมีกลุ่มทดลองทั้งหมด 229 คน ผลปรากฏว่า การรับประทานอะโวคาโดช่วยลดระดับไขมันรวม ไขมันชนิดไม่ดี และไตรกรีเซอร์ไลน์ในเลือดอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่ช่วยเพิ่มระดับไขมันชนิดดี การศึกษานี้แนะนำว่าการเพิ่มไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวจากการรับประทานอะโวคาโดเข้าไปในมื้ออาหารอาจช่วยลดระดับไขมันในเลือด

โรคข้อเสื่อม เชื่อกันว่ามีพืชผักสมุนไพรหลายชนิดที่อาจให้ฤทธิ์ทางยาช่วยรักษาโรคข้อเสื่อม ซึ่งอะโวคาโดเป็นผลไม้อีกชนิดที่ได้รรับการกล่าวอ้างถึงคุณสมบัติยับยั้งการหลั่งสารเคมีเกี่ยวกับการอักเสบ ทำให้ช่วยบรรเทาอาการของโรคข้อเสื่อม จากการทบทวนผลการวิจัยทางคลินิกขนาดเล็ก จำนวน 4 ชิ้น เกี่ยวกับประสิทธิภาพของสารสกัดอะโวคาโดในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม 651 คน เป็นระยะเวลา 3-12 เดือน ชี้ว่าการรับประทานสารสกัดจากอะโวคาโดผสมกับถั่วเหลืองในระยะสั้นอาจช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ จากโรคข้อเสื่อมให้ดีขึ้นและยังไม่พบผลข้างเคียงรุนแรงเมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก ทั้งนี้ การศึกษานี้เป็นผลงานวิจัยจากสารสกัดของอะโวคาโดผสมกับถั่วเหลือง ซึ่งไม่ใช่เป็นการรับประทาน อะโวคาโดโดยตรง และยังไม่ทราบผลในการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมระยะยาว จึงควรศึกษาเพิ่มเติมจากการรับประทานอะโวคาโดเพียงอย่างเดียวและติดตามผลในระยะยาวมากขึ้น

การรักษาที่ยังมีหลักฐานไม่เพียงพอต่อการบ่งบอกประสิทธิภาพ

โรคสะเก็ดเงิน การรักษาโรคสะเก็ดเงิน ด้วยยาทาในปัจจุบันหลายชนิดก่อให้เกิดผลข้างเคียงค่อนข้างมาก จึงพยายามมองหาตัวเลือกใหม่ของการรักษา เพื่อลดผลไม่พึงประสงค์จากการใช้ทาผิวหนัง จากการศึกษาประสิทธิภาพของยาทาผิวหนังจากวิตามินดี 3 (Calcipotriol) ซึ่งเป็นยาชนิดหนึ่งที่ใช้รักษาโรคสะเก็ดเงิน โดยเปรียบเทียบกับยาทาจากวิตามิน บี 12 ผสมน้ำมันอะโวคาโดในผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนา จำนวน 13 คน เป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ พบว่า ผลการรักษาของยาทั้ง 2 ชนิดไม่ต่างกันมาก แต่ยาทาผิวหนังจากวิตามินดี 3 เป็นผลดีต่อการรักษาโรคในช่วง 4 สัปดาห์แรกและค่อย ๆ เห็นผลลดลง ในขณะที่ยาทาจากวิตามิน บี 12 ผสมกับน้ำมันอะโวคาโดให้ผลการรักษาคงที่ตลอดในช่วงการทดลอง จึงคาดว่ายาทาจากวิตามิน บี 12 ผสมกับน้ำมันอะโวคาโดอาจช่วยบรรเทาอาการของโรคสะเก็ดเงิน ซึ่งต้องค้นคว้าเพิ่มเติม เพื่อช่วยยืนยันผลจากการศึกษาครั้งนี้

โรคมะเร็ง อะโวคาโดอุดมไปด้วยสารแคโรทีนอยด์ที่เชื่อว่าช่วยป้องกันซลล์เสียหายและชะลอการเกิดอนุมูลอิสระ รวมยังมีกรดโอเลอิกที่ถูกอ้างถึงสรรพคุณในการต้านมะเร็งบางชนิด จึงอาจเป็นประโยชน์ต่อการรักษาหรือป้องกันโรคมะเร็ง

จากการศึกษาบทบาทของวิตามินเอ เรตินอล และแคโรทีนอยด์บางชนิดต่อความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารของอาสาสมัครชาวสวีเดน อายุ 45-83 ปี จำนวน 82,002 คน โดยวัดผลจากการทำแบบสอบถามที่สำรวจพฤติกรรมการรับประทานอาหารและอาหารเสริมในช่วงประมาณ 7 ปี พบว่า การรับประทานวิตามินเอ เรตินอล และสารกลุ่มแคโรทีนอยด์ (แอลฟา-แคโรทีนและบีตา-แคโรทีน) ในปริมาณมากจากอาหารหรืออาหารเสริมสัมพันธ์กับความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารที่ลดลง จึงคาดว่าการรับประทานอะโวคาโดที่มีสารสำคัญเหล่านี้น่าจะมีส่วนช่วยลดโอกาสการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารลงได้ ทั้งนี้ ยังไม่สามารถระบุประสิทธิภาพของอะโวคาโดในการรักษาโรคมะเร็งได้แน่ชัด เนื่องจากสารเหล่านี้พบได้จากพืชผักผลไม้ชนิดอื่นเช่นกันและไม่ได้ศึกษาถึงการรับประทานอะโวคาโดโดยตรง

บำรุงสายตา อะโวคาโดอุดมไปด้วยสารลูทีน (Lutein) และซีแซนทิน (Zeaxanthin) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระสำคัญที่ช่วยบำรุงดวงตาและป้องกันโรคทางสายตาบางโรค จากการทบทวนงานวิจัยที่ศึกษาความสัมพันธ์ของลูทีนและซีแซนทินในเลือดต่อความเสี่ยงของการเกิดโรคต้อกระจก (Cataract) พบว่า ลูทีนและซีแซนทินในเลือดสูงมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต้อกระจกลดลง และอาจช่วยลดความเสี่ยงการขุ่นของเลนส์ตา อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทราบประสิทธิภาพของสารเหล่านี้ในการป้องกันโรคที่แน่ชัด แต่คาดว่าการรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยลูทีนและซีแซนทินอย่างอะโวคาโดก็อาจช่วยบำรุงสายตาและชะลอการเกิดโรคทางดวงตาบางโรค เช่น โรคจอตาเสื่อมหรือโรคต้อกระจก นอกจากนี้ การศึกษาในครั้งนี้ไม่ใช่การศึกษาประโยชน์จากการรับประทานอะโวคาโดโดยตรง จึงอาจต้องมีการค้นคว้าเพิ่มเติมต่อไปในอนาคต เพื่อหาหลักฐานยืนยันผลที่แน่นอน

ความปลอดภัยในการรับประทานอะโวคาโด

  • โดยทั่วไปแล้ว การรับประทานอะโวคาโดที่ประกอบอยู่ในเมนูอาหารนั้นถือเป็นปริมาณที่ค่อนข้างปลอดภัย แต่การรับประทานโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาโรคควรปรึกษาแพทย์และไม่ควรรับประทานในปริมาณมากติดต่อกันเกิน 2 ปี
  • การใช้อะโวคาโดหรือผลิตภัณฑ์จากอะโวคาโดทาผิวโดยตรงไม่ควรใช้ติดต่อกันเกิน 3 เดือน เนื่องจากอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้เล็กน้อย ดังรายงานชิ้นหนึ่งซึ่งพบอาการคันตามผิวหนังในผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินจากการใช้ครีมที่มีส่วนผสมของน้ำมันอะโวคาโดผสมวิตามิน บี 12
  • อะโวคาโดมีปริมาณแคลอรีสูง ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม
  • หญิงตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตรควรระมัดระวังการรับประทานหรือใช้อะโวคาโดเกินปริมาณที่รับประทานในชีวิตประจำวัน เนื่องจากยังไม่มีรายงานยืนยันความปลอดภัย
  • ผู้ที่มีอาการแพ้ยางธรรมชาติ (Latex Allergy) อาจมีความเสี่ยงต่อการแพ้อะโวคาโดได้เช่นกัน
  • การรับประทานอะโวคาโดในช่วงที่มีการรับประทานยาวาร์ฟาริน (Warfarin) อาจลดประสิทธิภาพของยาลง ผู้ที่รับประทานยาชนิดนี้เป็นประจำหรืออยู่ในช่วงการใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน