ออแกนิค ปลอดภัยเพื่อสุขภาพจริงหรือ ?

ออแกนิค (Organic) คือ สิ่งมีชีวิตที่ถูกผลิตขึ้นด้วยวิธีแบบอินทรีย์ และพึ่งพาสารเคมีให้น้อยที่สุด ซึ่งต้องทำโดยเกษตรกรที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญทางการเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้ผลผลิตที่ออกมานั้นปลอดสารพิษ

ออแกนิค

ทั้งนี้กระบวนการผลิตแบบออแกนิคนั้นยังมีจุดประสงค์ในด้านอื่น ๆ อีกหลายด้าน เช่น

  • ปรับปรุงคุณภาพของดินและน้ำในพื้นที่การเกษตร
  • ลดมลพิษในสิ่งแวดล้อม
  • ช่วยให้ที่อยู่อาศัยของสัตว์ที่เลี้ยงเพื่อบริโภคปลอดภัย และถูกสุขอนามัยมากขึ้น
  • ช่วยให้สัตว์ที่เลี้ยงเพื่อบริโภคมีพฤติกรรมที่เป็นธรรมชาติมากขึ้น ลดความเสี่ยงการ กลายพันธุ์
  • ช่วยให้ระบบวัฏจักรและวงจรธรรมชาติต่าง ๆ ในไร่ดีขึ้น

และเพื่อให้การเกษตรแบบออแกนิคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กระบวนการบางอย่างที่ใช้ในการเกษตรจะถูกห้ามนำมาใช้เพื่อป้องกันการปนเปื้อน อันได้แก่

  • การใช้ปุ๋ยสังเคราะห์ หรือปุ๋ยเคมีเพื่อเพิ่มสารอาหารในดิน
  • การใช้กากตะกอนจากน้ำเสียเป็นปุ๋ยให้แก่พืช
  • การใช้สารเคมีฆ่าแมลงเพื่อควบคุมศัตรูพืช
  • การฉายรังสีกับผลิตผลเพื่อป้องกันโรคและศัตรูพืช
  • การตัดต่อพันธุกรรมเพื่อช่วยให้ผลิตผลที่ออกมามีคุณภาพ และปริมาณมากขึ้น หรือกำจัดโรคหรือศัตรูพืชที่อาจทำร้ายพืชและสัตว์
  • การใช้ยาปฏิชีวนะ หรือโกรทฮอร์โมนเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตในปศุสัตว์

ทั้งนี้ผลผลิตออแกนิคที่ออกมาส่วนใหญ่ มักจะอยู่ในหมวดของอาหาร เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช ผลิตภัณฑ์จากนม และเนื้อสัตว์ เป็นต้น ซึ่งมักเรียกว่า อาหารออแกนิค

เหตุใดออแกนิคจึงได้รับความนิยม ?

ในปัจจุบันผลิตภัณฑ์ออแกนิคได้รับความนิยมมากขึ้นด้วยสาเหตุที่ว่า ผู้คนส่วนใหญ่กังวลว่าอาหารหรือวัตถุดิบในท้องตลาดนั้นอาจปนเปื้อนด้วยสารเคมี ยาปฏิชีวนะ หรือฮอร์โมนเร่งโตที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค จึงมองหาตัวเลือกที่เชื่อว่าจะช่วยให้ปลอดภัยจากสารพิษได้มากที่สุด นั่นก็คือการอุปโภคบริโภคผลิตภัณฑ์ออแกนิค แม้ว่าราคาจะสูงกว่าสินค้าการเกษตรทั่ว ๆ ไปก็ตาม

ประโยชน์ของออแกนิค

ออแกนิคนับเป็นวิธีการผลิตอาหารและวัตถุที่ดีต่อสุขภาพ และสภาพแวดล้อม โดยประโยชน์จากออแกนิค ได้แก่

  • ช่วยให้ผู้บริโภคได้บริโภคอาหารที่มีสารเคมีปนเปื้อนน้อย จากฮอร์โมนเร่งโต และยาปฏิชีวนะ
  • ช่วยลดความกังวลของผู้บริโภค ในเรื่องการปนเปื้อนสิ่งมีชีวิตตัดต่อพันธุกรรมในอาหารหรือวัตถุดิบต่าง ๆ
  • ผู้บริโภคได้รับประทานอาหาร หรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย และดีต่อสุขภาพมากขึ้น เนื่องจากการเพาะปลูก และเพาะเลี้ยงของอาหารออแกนิคนั้นใช้วิธีแบบอินทรีย์เกษตรเป็นหลัก

อันตรายจากออแกนิค

แม้อาหารและผลิตภัณฑ์จากออแกนิคจะมีความปลอดภัยสูง แต่ก็ต้องยอมรับว่าสิ่งเหล่านี้ยังไม่สามารถหลีกเลี่ยงอันตรายได้ 100% โดยอันตรายที่อาจพบได้จากอาหารออแกนิค คือ

  • การตกค้างของสารพิษ แม้กระบวนการเพาะปลูก และเพาะเลี้ยงจะหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีมากที่สุด แต่ก็อาจมีสารเคมีที่อยู่ตามธรรมชาติตกค้างได้ มีการศึกษาหนึ่งแสดงให้เห็นว่า พบปริมาณแคดเมียมตกค้างในธัญพืชที่เป็นออแกนิคลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับผลผลิตที่ผลิตด้วยวิธีทั่วไป แต่งานวิจัยดังกล่าวไม่ได้กล่าวถึงปริมาณแคดเมียมในผักและผลไม้แต่อย่างใด
  • การตกค้างสารกำจัดศัตรูพืช ในกระบวนการเพาะปลูกแบบออแกนิค สารกำจัดศัตรูพืชบางชนิดได้รับอนุญาตให้นำมาใช้ได้ นอกจากนี้ สารเคมีบางชนิดสามารถลอยตัวในอากาศได้ จึงทำให้อาจพบการตกค้างจากสารกำจัดศัตรูพืชได้เช่นกัน
  • การตกค้างของเชื้อแบคทีเรีย ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์โดยส่วนใหญ่ยังไม่สามารถปลอดภัยจากเชื้อแบคทีเรียได้ จึงอาจทำให้พบการตกค้างของเชื้อแบคทีเรียในอาหารออแกนิคได้เช่นกัน

อาหารออแกนิคมีสารอาหารสูงกว่าอาหารชนิดอื่น ๆ หรือไม่?

ในขณะที่อาหารออแกนิคนั้นขึ้นชื่อว่าเป็นอาหารที่ปลอดสารพิษ แต่ยังไม่มีผลการยืนยันที่แน่ชัดว่าอาหารออแกนิคมีปริมาณสารอาหารสูงกว่าอาหารที่ผลิตด้วยวิธีปกติหรือไม่ มีการศึกษาบางส่วนพบว่าอาหารออแกนิคมีปริมาณไนเตรทลดลง และมีวิตามินซี เซเรเนียม และแร่ธาตุอื่น ๆ รวมทั้งสารต้านอนุมูลอิสระ โดยเฉพาะสารฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) อยู่ในปริมาณที่สูง แต่ไม่สูงมากเพียงพอที่จะส่งผลต่อโภชนาการโดยรวมของอาหาร ทว่าพบว่าในผลิตภัณฑ์ออแกนิคที่มาจากสัตว์ที่เลี้ยงไว้เพื่อบริโภคนั้นมีปริมาณของกรดไขมันโอเมก้า 3 สูงกว่าอาหารชนิดเดียวกันที่เลี้ยงด้วยวิธีอื่น ๆ เนื่องจากอาหารที่ใช้เลี้ยงนั้นมีความปลอดภัยและมีคุณค่าทางอาหารต่อสัตว์มากกว่า อย่างไรก็ตาม เรื่องของสารอาหารในผลิตภัณฑ์ออแกนิคนั้นยังต้องมีการศึกษาวิจัยต่อไปเพื่อให้ได้ผลที่ชัดเจนมากขึ้น

ออแกนิคปลอดภัยหรือไม่ ?

คนส่วนใหญ่ล้วนเชื่อว่าผลิตภัณฑ์ออแกนิคมีความปลอดภัยในระดับที่เชื่อได้เนื่องจากฉลากผลิตภัณฑ์ที่ช่วยยืนยันถึงความปลอดภัยซึ่งเป็นความจริง แต่ไม่ใช่ทั้งหมดเสียทีเดียว เพราะอาหารผลิตภัณฑ์ออแกนิคบางส่วนยังมีการใช้สารกำจัดศัตรูพืชที่ได้รับการรับรองว่าสามารถใช้ในการเพาะปลูกแบบออแกนิคได้ และในการเพาะปลูก หรือเพาะเลี้ยงอาหารใช้พื้นที่ที่เคยผ่านการเพาะปลูกโดยใช้สารเคมีก่อน จึงอาจทำให้ดินบริเวณนั้นยังคงมีสารเคมีตกค้าง และถูกดูดซึมโดยพืชออแกนิคที่ถูกปลูกแทนที่ได้เช่นกัน แต่มีปริมาณน้อย จนไม่สามารถยืนยันได้ว่าการบริโภคอาหารออแกนิคที่มีสารพิษตกค้างในปริมาณน้อยมาก ๆ จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยสูงสุด หากซื้ออาหารสดที่ปลูกและเลี้ยงด้วยวิธีออแกนิคควรล้างให้สะอาดก่อนทุกครั้ง วิธีนี้จะช่วยชำระล้างสารเคมีที่อาจตกค้างออกได้

นอกจากนี้ ผู้บริโภคอาจสังเกตดูว่าผลิตภัณฑ์ที่ใช้เป็นผลิตภัณฑ์ออแกนิคหรือไม่จากฉลากสินค้า โดยฉลากเหล่านี้ถูกกำหนดโดยกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture: USDA) มีจุดประสงค์เพื่อรับรองคุณภาพของผลิตภัณฑ์ออแกนิค ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้

  • ฉลากผลิตภัณฑ์ออแกนิค 100% จะใช้กับอาหารสดที่เพาะปลูก หรือเพาะเลี้ยงแบบออแกนิค ซึ่งผ่านการรองรับโดย USDA แต่อาจใช้กับอาหารที่มีส่วนประกอบหลายอย่างของผลิตภัณฑ์ออแกนิคด้วยเช่นกัน
  • ฉลากผลิตภัณฑ์ออแกนิค ในสินค้าที่มีส่วนประกอบของออแแกนิค 95% ขึ้นไป จะถูกติดฉลากว่าเป็นสินค้าออแกนิคที่ผ่านการรองรับโดย USDA แต่ส่วนประกอบที่เหลือ 5% จะต้องเป็นส่วนประกอบที่ได้รับการรับรองว่าหากใช้แล้วจะทำให้สินค้านั้นเข้าข่ายสินค้าออแกนิคได้
  • ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากออแกนิค ในกรณีที่ผลิตภัณฑ์มีส่วนประกอบของวัตถุดิบที่เป็นออแกนิค 70% ขึ้นไปที่ผ่านการรองรับโดย USDA ฉลากจะต้องระบุว่าสินค้าดังกล่าวผลิตจากวัตถุดิบที่เป็นออแกนิค แต่จะไม่มีฉลากที่ระบุว่าเป็นสินค้าออแกนิค
  • ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของออแกนิค หากสินค้ามีส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ออแกนิคต่ำกว่า 70% ที่ผ่านการรองรับโดย USDA ไม่ต้องติดฉลากว่าเป็นสินค้าออแกนิค แต่จะมีการระบุว่ามีส่วนผสมของวัตถุดิบที่เป็นออแกนิค

ผลิตภัณฑ์ออแกนิคคุ้มค่ากับราคาหรือไม่ ?

ราคาของผลิตภัณฑ์ออแกนิคนั้นมีอิทธิพลสำคัญต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค โดยราคาของอาหารออแกนิคจะค่อนข้างสูงกว่าอาหารทั่วไปตามท้องตลาด เนื่องต้นทุนในการผลิตค่อนข้างสูง แต่ก็ใช่ว่าจะไม่สามารถหาอาหารออแกนิครับประทานในราคาย่อมเยาว์ เพียงหันไปเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ขายโดยเจ้าของที่เพาะปลูกเอง หรือซื้อในปริมาณมากและใช้วิธีเก็บรักษาที่ดีก็จะช่วยให้มีอาหารออแกนิคไว้รับประทานได้นาน ๆ รวมทั้งประหยัดค่าใช้จ่ายได้

เลือกผลิตภัณฑ์ออแกนิคอย่างไรให้ปลอดภัย ?

แม้ฉลากสินค้าออแกนิคจะสามารถช่วยคัดกรองอาหารออแกนิคได้ แต่เพื่อความมั่นใจ ผู้บริโภคอาจเลือกซื้ออาหารออแกนิคได้อย่างมั่นใจด้วยวิธีเหล่านี้ ได้แก่

  • เลือกซื้ออาหารออแกนิคจากหลาย ๆ แห่ง จะช่วยกระจายความเสี่ยงการตกค้างของสารเคมีในอาหารได้
  • ซื้อผักและผลไม้ในฤดูกาล ผักหรือผลไม้ที่ขายนอกฤดูกาลนั้นมีความเป็นไปได้ว่าอาจไม่ใช่อาหารออแกนิค และอาจมีการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก ดังนั้นเลือกซื้ออาหารตามฤดูกาลจะดีที่สุดเพราะจะค่อนข้างสดใหม่ และปลอดภัยมากกว่า
  • อ่านฉลากให้ละเอียด ในกรณีที่มีฉลากสินค้าออแกนิคติดที่ผลิตภัณฑ์อาหาร ก็ใช่ว่าอาหารเหล่านั้นจะปลอดภัย เพราะยังมีอาหารออแกนิคอีกจำนวนไม่น้อยที่อุดมไปด้วยส่วนประกอบของน้ำตาล เกลือ น้ำตาล และไขมัน ซึ่งอาจนำมาสู่ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้เช่นกัน ดังนั้น จึงควรอ่านฉลากโภชนาการให้ละเอียดเพื่อความปลอดภัยและดีต่อสุขภาพมากที่สุด
  • ล้างทำความสะอาดผักผลไม้ทุกครั้ง การทำความสะอาดผักผลไม้ด้วยการล้างน้ำจะช่วยกำจัดสารตกค้างบางส่วนได้ ซึ่งวิธีการล้างผักผลไม้ที่ดีที่สุดคือ ควรล้างโดยน้ำไหลผ่าน และขัดเบา ๆ ที่ผิวจะช่วยลดสารตกค้างได้
  • ปอกเปลือกผักผลไม้ การปอกเปลือกสามารถกำจัดสารตกค้างทั้งหมดได้ แต่อาจต้องแลกด้วยสารอาหารบางชนิดที่อยู่ในเปลือกด้วยเช่นกัน
  • เด็ดใบที่อยู่ด้านนอกออก ใบของผักตระกูลกะหล่ำ เช่น กะหล่ำปลี ผักกาดแก้ว และอื่น ๆ อาจมีสารตกค้างปนเปื้อนบนใบผักที่อยู่ด้านนอกสุด ดังนั้น ก่อนนำมาทำอาหารควรเด็ดใบด้านนอกออกแล้วล้างทำความสะอาด จะช่วยลดสารตกค้างได้