หัวใจโต

ความหมาย หัวใจโต

หัวใจโต (Cardiomegaly) เป็นภาวะที่หัวใจมีขนาดใหญ่กว่าปกติ เกิดจากหลากหลายสาเหตุด้วยกัน แต่ส่วนมากเกิดจากภาวะความดันโลหิตสูงหรือโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งส่งผลให้หัวใจสูบฉีดเลือดได้ไม่ดีและตามมาด้วยภาวะรุนแรงอย่างหัวใจล้มเหลว ทั้งนี้ ผู้ป่วยหัวใจโตส่วนใหญ่มักได้รับการรักษาในระยะยาวโดยการใช้ยา

หัวใจโต

อาการหัวใจโต

ภาวะหัวใจโตมักไม่มีอาการอื่น ๆ ปรากฏร่วม แต่หากภาวะหัวใจโตส่งผลให้หัวใจสูบฉีดเลือดได้ไม่ดีพอก็อาจทำให้มีอาการที่แสดงถึงภาวะหัวใจล้มเหลวตามมา บางรายอาจมีอาการเล็กน้อยต่อเนื่องหลายปี หรือบางรายอาจมีอาการหายใจเหนื่อยหอบแย่ลงเรื่อย ๆ โดยลักษณะอาการที่เกิดขึ้น มีดังนี้

  • หายใจเหนื่อยหอบ
  • รู้สึกอ่อนเพลีย
  • น้ำหนักเพิ่ม
  • ขาบวม
  • ใจสั่น หรือหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ

ภาวะหัวใจโตที่ตรวจพบในระยะต้นจะรักษาได้ง่าย ดังนั้น หากมีอาการดังกล่าวข้างต้นหรือวิตกกังวลว่าตนเองอาจมีภาวะนี้ให้ปรึกษาแพทย์ ทั้งนี้ ผู้ที่มีอาการเจ็บหน้าอก หายใจหอบรุนแรง เป็นลม หรือรู้สึกปวดบริเวณหน้าอก แขน หลัง คอ หน้าท้อง หรือกราม ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที

สาเหตุของภาวะหัวใจโต

ภาวะหรืออาการเจ็บป่วยที่ส่งผลให้หัวใจทำงานหนัก หรือส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจเสียหายเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจโตตามมาได้ เช่น หัวใจพิการแต่กำเนิด หัวใจเต้นผิดจังหวะ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือในบางกรณีหัวใจอาจมีขนาดใหญ่ขึ้นหรืออ่อนแอลงได้โดยไม่ทราบสาเหตุ ทั้งนี้ การขยายใหญ่ของหัวใจอาจเป็นผลจากภาวะใดภาวะหนึ่งต่อไปนี้

  • ความดันโลหิตสูง (High Blood Pressure) ส่งผลให้หัวใจสูบฉีดเลือดส่งไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ไม่ดี ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะหัวใจโต เพราะทำให้หัวใจห้องล่างซ้ายขยายใหญ่ขึ้น กล้ามเนื้อหัวใจค่อย ๆ อ่อนแอลง นอกจากนี้ ยังทำให้หัวใจห้องบนโตขึ้น
  • โรคลิ้นหัวใจ (Heart Valve Disease) ความผิดปกติของลิ้นหัวใจซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการไหลเวียนของเลือดไปยังหัวใจห้องต่าง ๆ อาจเกิดจากภาวะผิดปกติต่าง ๆ เช่น โรคไข้รูมาติก โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ โรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพันผิดปกติ การใช้ยาหรือฉายรังสีรักษาโรคมะเร็ง โรคเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อลิ้นหัวใจและพลอยทำให้เกิดภาวะหัวใจโตด้วย
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ (Cardiomyopathy) ภาวะที่กล้ามเนื้อหัวใจแข็งและก่อตัวหนาขึ้นเรื่อย ๆ อาจส่งผลให้หัวใจโตขึ้น เนื่องจากหัวใจทำงานหนักกว่าเดิมเพราะต้องสูบฉีดเลือดมาเลี้ยงร่างกาย มากขึ้น
  • ภาวะความดันหลอดเลือดปอดสูง (Pulmonary Hypertension) ส่งผลให้หัวใจสูบฉีดเลือดไปยังปอดและกลับมาลำบาก หัวใจห้องขวาจึงโตขึ้น
  • ภาวะน้ำในเยื่อหุ้มหัวใจมากผิดปกติ (Pericardial Effusion) ภาวะที่มีการสะสมของของเหลวในเยื่อหุ้มหัวใจมากเกินไป จะทำให้หัวใจโตขึ้นได้เช่นกัน
  • โรคโลหิตจาง (Anemia) เป็นภาวะที่ร่างกายมีเซลล์เม็ดเลือดแดงไม่เพียงพอที่จะนำพาออกซิเจนไปตามเนื้อเยื่อต่าง ๆ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาและเกิดเป็นภาวะโลหิตจางชนิดเรื้อรังจะส่งผลให้หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดปกติ และยังทำให้หัวใจต้องสูบฉีดเลือดมากขึ้นเพื่อทดแทนการขาดออกซิเจนในเลือด
  • ต่อมไทรอยด์ผิดปกติ (Thyroid Disorders) ทั้งภาวะไทรอยด์เป็นพิษและไทรอยด์ต่ำเป็นสาเหตุของปัญหาเกี่ยวกับหัวใจรวมถึงภาวะหัวใจโตด้วย
  • ภาวะเหล็กเกิน (Hemochromatosis) ภาวะผิดปกติที่ร่างกายไม่สามารถนำธาตุเหล็กไปใช้ได้ จนทำให้มีธาตุเหล็กสะสมอยู่ตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ไม่เว้นแม้แต่หัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจที่มีธาตุเหล็กสะสมอยู่จะอ่อนแอลงและตามมาด้วยหัวใจห้องล่างซ้ายที่ขยายใหญ่ขึ้นในที่สุด
  • โรคเกี่ยวกับหัวใจที่พบได้ยาก อย่างเช่น โรคอะไมลอยด์โดซิส (Amyloidosis) ภาวะที่มีโปรตีนผิดปกติไหลเวียนในเลือด โปรตีนนี้อาจไปสะสมที่หัวใจและขัดขวางการทำงานของหัวใจ ทำให้เกิดภาวะหัวใจโตตามมา

สาเหตุอื่น ๆ ของภาวะหัวใจโตยังรวมถึงการติดเชื้อไวรัสบริเวณหัวใจ อาจเกิดกับหญิงตั้งครรภ์ในช่วงใกล้คลอด โรคไตในระยะที่ต้องฟอกไต การใช้แอลกอฮอล์หรือสารเสพติด การติดเชื้อเอชไอวี และโรคที่ได้รับการถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรม

นอกจากนี้ ภาวะหัวใจโตมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นกับผู้ที่อยู่ในสภาวะเสี่ยง ได้แก่ ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง โดยอยู่ในระดับมากกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวเคยป่วยภาวะหัวใจโตหรือเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว รวมถึงผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจที่มีไขมันอุดตันในหลอดเลือดหัวใจจนไปปิดกั้นเลือดไม่ให้สามารถไหลผ่านหลอดเลือดหัวใจ อาจเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันตามมาและอาจส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย ด้วยเหตุนี้ หัวใจจึงต้องทำงานหนักเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายส่วนต่าง ๆ ให้ได้เพียงพอ

การวินิจฉัยภาวะหัวใจโต

เบื้องต้นแพทย์อาจซักประวัติและสอบถามอาการของผู้ป่วย เพื่อดูว่ามีอาการหายใจเหนื่อยหอบหรืออาการของภาวะหัวใจล้มเหลวที่บ่งบอกถึงภาวะหัวใจโตหรือไม่ จากนั้นจึงตรวจตามร่างกายหาอาการบวมที่อาจบ่งบอกถึงภาวะนี้ รวมทั้งใช้เครื่องฟังเสียงหัวใจเพื่อตรวจหาความผิดปกติในหัวใจ และในขั้นต่อไปอาจเลือกใช้การวินิจฉัยอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้

  • การตรวจเอกซเรย์บริเวณหน้าอก ถ่ายภาพหัวใจเพื่อดูว่าหัวใจมีขนาดใหญ่ผิดปกติหรือไม่
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram) การตรวจโดยติดขั้วไฟฟ้าเข้ากับผิวหนังเพื่อบันทึกการทำงานของคลื่นไฟฟ้าในหัวใจ วิธีนี้ช่วยวินิจฉัยจังหวะการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติหรือความเสียหายใด ๆ ที่เกิดขึ้นกับหัวใจเนื่องจากภาวะหัวใจล้มเหลว
  • เอคโคคาร์ดิโอแกรม (Echocardiogram) การวินิจฉัยด้วยคลื่นความถี่สูง ถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่นำมาวินิจฉัยผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายภาวะหัวใจโต แพทย์จะสามารถตรวจดูขนาด ความหนาของกล้ามเนื้อหัวใจ รวมถึงตรวจการทำงานว่าผิดปกติหรือไม่ โดยไม่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดหรือมีผลข้างเคียงใด ๆ ตามมา  

นอกจากนี้ ยังมีการตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การตรวจเลือดซึ่งใช้ตรวจหาสาเหตุของหัวใจโต เช่น โรคไทรอยด์ โรคติดเชื้อเอชไอวี หรือติดเชื้อไวรัสอื่น ๆ การตรวจ MRI และ CT Scan รวมถึงการเจาะชิ้นเนื้อหัวใจเพื่อส่งตรวจ

การรักษาภาวะหัวใจโต

การรักษาด้วยการดูแลตนเอง ผู้ป่วยภาวะหัวใจโตจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้อาการของโรคดีขึ้นและไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา ควรปฏิบัติดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเค็ม อาหารหวาน หรืออาหารที่มีไขมันสูง และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีนทั้งหลาย
  • งดสูบบุุหรี่
  • ควบคุมน้ำหนัก
  • ควบคุมระดับความดันโลหิตไม่ให้สูงเกินปกติ
  • หมั่นออกกำลังกายอย่างพอดีโดยปรึกษาแพทย์ถึงกิจกรรมที่เหมาะสม
  • พักผ่อนให้เพียงพอโดยควรนอนวันละ 8 ชั่วโมง

การใช้ยารักษาโรค ในกรณีที่ภาวะหัวใจโตเกิดจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติหรือโรคหัวใจชนิดอื่น ๆ แพทย์อาจสั่งจ่ายยาตัวใดตัวหนึ่งต่อไปนี้

  • ยาขับปัสสาวะ เพื่อลดปริมาณโซเดียมและน้ำในร่างกาย ช่วยให้ระดับความดันในเส้นเลือดและหัวใจลดต่ำลง
  • ยาลดความดันโลหิตกลุ่ม ACEI ยาใช้สำหรับช่วยลดความดันโลหิตและทำให้หัวใจสามารถสูบฉีดเลือดได้ดีขึ้น
  • ยาลดความดันโลหิตกลุ่ม ARBs สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับประทานยาลดความดันโลหิตกลุ่ม ACE ได้ แพทย์จะให้รับประทานยาชนิดนี้แทน
  • ยาเบต้า บล็อกเกอร์ ใช้เพื่อช่วยลดความดันโลหิตและช่วยในการทำงานของหัวใจ
  • ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เป็นยาที่ใช้ลดความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือด ป้องกันภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันหรือโรคหลอดเลือดสมอง
  • ยาต้านการเต้นหัวใจผิดจังหวะ จะช่วยให้จังหวะการเต้นของหัวใจของผู้ป่วยกลับเป็นปกติ

การใช้กระบวนการทางการแพทย์หรือการผ่าตัด

  • ใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ทำให้หัวใจเต้นปกติ ใช้สำหรับภาวะหัวใจโตบางชนิด อุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดนี้จะช่วยประสานการบีบตัวของหัวใจฝั่งซ้ายและฝั่งขวา แต่หากแพทย์เห็นว่าผู้ป่วยเสี่ยงเกิดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะอย่างรุนแรงก็อาจเลือกรักษาโดยใช้ยาหรือเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติชนิดถาวรเข้าช่วยแทน

เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัตินี้เป็นอุปกรณ์ขนาดเล็กที่ฝังไว้ในอกเพื่อคอยตรวจดูจังหวะของหัวใจและส่งกระแสไฟฟ้าออกมากระตุ้นให้หัวใจเต้นเป็นปกติเมื่อเกิดความผิดปกติขึ้น และหากเป็นภาวะหัวใจโตที่เกิดจากภาวะหัวใจห้องบนสั่นพริ้ว (Atrial Fibrillation) ผู้ป่วยอาจต้องรับการรักษาเฉพาะเพื่อให้หัวใจกลับมาเต้นเป็นปกติดังเดิม  

  • ผ่าตัดลิ้นหัวใจ หัวใจโตที่มีสาเหตุเกี่ยวกับลิ้นหัวใจ ผู้ป่วยอาจต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจ
  • ผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจโตเนื่องจากโรคหลอดเลือดหัวใจ แพทย์อาจแนะนำให้รักษาโดยวิธีต่อไปนี้
  • ใช้เครื่องช่วยการไหลเวียนของเลือดในหัวใจห้องล่างซ้าย หรืออาจเรียกว่าหัวใจเทียม ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวซึ่งมีหัวใจอ่อนแออาจต้องใช้อุปกรณ์นี้ช่วยในการสูบฉีดเลือด โดยใส่เครื่องมือชนิดนี้ระหว่างรอการปลูกถ่ายหัวใจ หรืออาจต้องใส่ไว้เป็นระยะเวลานานเพื่อรักษาอาการในกรณีที่ผู้ป่วยไม่มีการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ
  • ผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ การเปลี่ยนหัวใจอาจเป็นทางเลือกสุดท้าย หากการรักษาด้วยยาหรือวิธีอื่น ๆ ไม่ช่วยให้อาการดีขึ้น อย่างไรก็ตาม จำนวนหัวใจที่ได้รับบริจาคในปัจจุบัน ยังไม่เพียงพอ ทำให้แม้แต่ผู้ป่วยที่อาการหนักก็ต้องรอรับบริจาคหัวใจเป็นเวลานาน

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะหัวใจโต

ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจโตอาจเสี่ยงต่อการมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ซึ่งจะมีอาการอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับว่าหัวใจส่วนใดบ้างที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งสาเหตุต่างๆ ดังนี้

  • หัวใจล้มเหลว นับเป็นภาวะหัวใจโตขั้นวิกฤตที่สุด ถ้าเกิดขึ้นบริเวณห้องล่างซ้ายจะยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวยิ่งขึ้น โดยเป็นภาวะที่กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแอและขยายใหญ่ขึ้นจนหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • เกิดลิ่มเลือด หัวใจที่โตขึ้นอาจเป็นสาเหตุกระตุ้นให้เกิดลิ่มเลือดในเยื่อบุหัวใจได้ง่าย หากลิ่มเลือด เข้าไปสู่กระแสเลือด อาจทำให้เกิดการอุดตันในการไหลเวียนของเลือดไปสู่อวัยวะสำคัญอื่น ๆ ยิ่งกว่านั้น อาจส่งผลให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันหรือโรคหลอดเลือดในสมองแตกตามมา หรือลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นในหัวใจห้องขวาอาจเดินทางไปสู่ปอดจนเกิดโรคร้ายแรงอย่างลิ่มเลือดอุดกั้นในปอดได้อีกด้วย
  • เสียงฟู่ของหัวใจ ในผู้ป่วยภาวะหัวใจโตบางรายอาจพบว่ามีลิ้นหัวใจ 2 ลิ้นที่ปิดไม่สนิทเนื่องจากการขยายขนาดของหัวใจ จนเกิดการไหลกลับของเลือดซึ่งจะได้ยินเสียงดังฟู่ของหัวใจ ถึงแม้จะไม่มีอันตรายอย่างใด แต่ผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนนี้ก็ควรอยู่ในการเฝ้าระวังของแพทย์อย่างใกล้ชิด
  • ภาวะหัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตอย่างฉับพลัน ภาวะหัวใจโตที่เกิดขึ้นบางชนิดอาจทำให้การเต้นของหัวใจหยุดชะงักลง จังหวะการเต้นของหัวใจที่ช้าหรือเร็วเกินไปนั้นทำให้มีอาการคล้ายจะเป็นลม หรือบางรายหัวใจอาจหยุดเต้นและเสียชีวิตอย่างกะทันหันได้
  • ภาวะน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอดและปอดบวมน้ำ เป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการสะสมของของเหลวในปอดหรือบริเวณช่องว่างระหว่างปอดและผนังหน้าอก ส่งผลให้ผู้ป่วยหายใจลำบาก

การป้องกันภาวะหัวใจโต

ผู้ป่วยที่มีประวัติสมาชิกในครอบครัวป่วยด้วยโรคที่เป็นสาเหตุของภาวะหัวใจโต เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ (Cardiomyopathy) ควรพุดคุยและปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยง เพราะการตรวจวินิจฉัยพบโรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติหรือโรคใด ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับภาวะหัวใจโตแต่เนิ่น ๆ และได้รับการรักษาทันท่วงที จะช่วยป้องกันอาการได้ และช่วยไม่ให้เกิดภาวะหัวใจโตตามมา

นอกจากนี้ ยังควรควบคุมปัจจัยทั้งหลายที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ เช่น ควบคุมความดันโลหิต ระดับคลอเรสเตอรอลในเลือด และโรคเบาหวาน ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ซึ่งเป็นภาวะที่ส่งผลให้หัวใจโตและหัวใจล้มเหลวตามมาได้ รวมทั้งป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ได้แก่ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ การเลี่ยงอาหารที่อาจส่งผลให้ระดับความดันโลหิตขึ้นสูงอย่างอาหารที่มีเกลือโซเดียมสูง รวมถึงงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดเว้นการสูบบุหรี่และสารเสพติดทั้งหลาย