หัวใจสลาย

ความหมาย หัวใจสลาย

หัวใจสลาย (Broken Heart Syndrome หรือ Takotsubo Cardiomyopathy) คือ ภาวะเจ็บหน้าอกกะทันหันร่วมกับหายใจลำบากคล้ายอาการของหัวใจขาดเลือด ซึ่งเกิดจากการเผชิญสถานการณ์เครียดจัดอย่างทันทีทันใด เช่น การสูญเสียคนรัก การบาดเจ็บสาหัส หรือการผ่าตัดใหญ่ ซึ่งทำให้หัวใจสูญเสียการทำงานชั่วคราวและเกิดขึ้นได้หลายนาทีหรือเป็นชั่วโมง

หัวใจสลาย

ภาวะหัวใจสลายมักเกิดในผู้หญิง ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ผู้ป่วยทางระบบประสาท เช่น เคยได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ หรือเป็นลมชัก และผู้ป่วยจิตเวช เช่น ผู้ป่วยโรควิตกกังวล หรือมีภาวะซึมเศร้า โดยผู้ป่วยหัวใจสลายอาจหายเป็นปกติได้เองภายในไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้น แต่ผู้ที่เผชิญภาวะนี้ควรศึกษาสัญญาณอาการ และเรียนรู้วิธีรักษาดูแลตนเอง เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้

อาการของหัวใจสลาย

ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บหน้าอกรุนแรงอย่างกะทันหันและหายใจลำบากคล้ายอาการของภาวะหัวใจขาดเลือด โดยมักมีอาการหลายนาทีหรือนานเป็นชั่วโมง นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจหน้ามืด ความดันเลือดต่ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ช็อกจากหัวใจทำงานผิดปกติ และหัวใจวายได้

ผู้ป่วยหัวใจสลายควรได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ทันที เพราะอาการของโรคคล้ายกับภาวะหัวใจขาดเลือด ซึ่งอาจทำให้หัวใจเสียหายและเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ โดยอาการของหัวใจสลายจะมีลักษณะที่แตกต่างจากหัวใจขาดเลือดดังนี้

  • หัวใจสลายเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันหลังเกิดความเครียดทางจิตใจหรือร่างกาย แต่หัวใจขาดเลือดเกิดจากหลอดเลือดบริเวณหัวใจอุดตัน จนทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย
  • หัวใจสลายอาจทำให้หัวใจห้องล่างซ้ายมีขนาดใหญ่และบีบตัวผิดปกติ แต่หัวใจขาดเลือดทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดออกซิเจน
  • ผู้ป่วยหัวใจสลายอาจหายเป็นปกติภายในไม่กี่วันหรือสัปดาห์ แต่ผู้ป่วยหัวใจขาดเลือดมักต้องพักฟื้นนานหลายเดือน

สาเหตุของหัวใจสลาย

ภาวะหัวใจสลายไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด แต่คาดว่าอาจเกิดจากเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง ภาวะที่ทำให้ร่างกายได้รับอันตราย และปัจจัยอื่น ๆ ดังนี้

  • ภาวะที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ เช่น การสูญเสียคนรัก ปัญหาด้านการเงิน ความรุนแรงในครอบครัว การทะเลาะวิวาท การตกงาน การพูดในที่สาธารณะ เป็นต้น
  • ภาวะที่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย เช่น หอบหืด การบาดเจ็บสาหัส การผ่าตัดใหญ่ อุบัติเหตุทางรถยนต์ หรือร่างกายอ่อนล้า
  • การหลั่งฮอร์โมน ร่างกายอาจหลั่งฮอร์โมนเพื่อตอบสนองต่อความเครียด เช่น อะดรีนาลีน และนอร์อะดรีนาลีน
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น อิพิเนฟริน ซึ่งใช้รักษาโรคภูมิแพ้ หรือหอบหืดรุนแรง ดูล็อกเซทีน ซึ่งใช้รักษาโรคระบบประสาท เบาหวาน หรือซึมเศร้า เวนลาแฟ็กซีน ซึ่งใช้รักษาโรคซึมเศร้า และลีโวไทร็อกซีน ซึ่งใช้รักษาภาวะไทรอยด์ทำงานผิดปกติ
  • ความผิดปกติของหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ ได้แก่ ภาวะหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจหดตัวกะทันหันจากความเครียด และภาวะหลอดเลือดหัวใจขนาดเล็กไม่ทำงานจากระดับฮอร์โมนที่ลดลงในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน

การวินิจฉัยหัวใจสลาย

การวินิจฉัยภาวะหัวใจสลายคล้ายกับการตรวจผู้ป่วยหัวใจขาดเลือด โดยแพทย์มักทำการตรวจด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • การซักประวัติผู้ป่วย แพทย์อาจซักประวัติโรคหัวใจของผู้ป่วยหรือคนในครอบครัว ภาวะเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ ลักษณะกับอาการของโรค บริเวณที่มีอาการ และปัจจัยกระตุ้น เช่น ความเครียด ซึ่งผู้ป่วยหัวใจสลายมักไม่เคยมีอาการใด ๆ มาก่อนหน้านี้
  • การตรวจเลือด เพื่อวิเคราะห์ระดับไขมัน คอเลสเตอรอล น้ำตาล และโปรตีน ซึ่งเอนไซม์บางชนิดบ่งชี้ถึงภาวะหัวใจสลายได้ เช่น ครีเอทีนไคเนส (Creatine Kinase) โทรโปนิน (Troponin) และสาร BNP (Brain Natriuretic Peptides)
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อตรวจลักษณะการเต้นของหัวใจ
  • การตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อดูรูปร่างกับขนาดของหัวใจที่ผิดปกติ ซึ่งเกิดจากหัวใจสลาย ดูการทำงานของหัวใจกับลิ้นหัวใจ และอาจดูการไหลเวียนของเลือดในหัวใจห้องซ้ายด้วย
  • การเอกซเรย์ทรวงอก เพื่อดูรูปร่างกับขนาดของหัวใจที่ผิดปกติ และความผิดปกติของปอดที่อาจทำให้เกิดหัวใจสลาย
  • การตรวจเอ็มอาร์ไอสแกน เพื่อดูรูปร่าง ขนาด และการทำงานของหัวใจกับหลอดเลือด
  • การสวนหลอดเลือดหัวใจกับหัวใจห้องซ้ายล่าง โดยสวนสายยางเพื่อฉีดสารทึบแสงเข้าหลอดเลือดบริเวณแขน ขาหนีบ หรือคอ เพื่อตรวจดูการทำงานของหลอดเลือดหัวใจ หัวใจห้องล่างซ้าย และลิ้นหัวใจไมทรัลจากภาพเอกซเรย์
  • การตรวจหัวใจด้วยเวชศาสตร์นิวเคลียร์ (Cardiac Positron Emission Tomography) เป็นการฉีดสารกัมตรังสีเข้าหลอดเลือดแล้วฉายภาพเพื่อตรวจดูการทำงานของหัวใจ

การรักษาหัวใจสลาย

ภาวะหัวใจสลายไม่มีการรักษาแบบเฉพาะเจาะจง แพทย์จึงรักษาอาการเบื้องต้นเช่นเดียวกับภาวะหัวใจขาดเลือดโดยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดบริเวณหัวใจ แล้วให้ผู้ป่วยพักฟื้นในโรงพยาบาลจนกว่าจะหายดี

โดยแพทย์อาจให้ยาดังต่อไปนี้ เพื่อรักษาการสะสมของของเหลวรอบเนื้อเยื่อหัวใจ ควบคุมความดันเลือดกับระดับฮอร์โมนที่ตอบสนองต่อความเครียดให้เป็นปกติ และป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน

  • ยากลุ่ม ACE Inhibitors เพื่อลดความดันเลือด และลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อหัวใจ
  • ยากลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ เพื่อลดการบีบตัวของหัวใจและลดความดันเลือด
  • ยาขับปัสสาวะ เพื่อลดภาวะน้ำคั่งในปอด ลดการบวมของเท้าและข้อเท้า
  • ยาคลายกังวล เพื่อช่วยควบคุมระดับฮอร์โมนที่ตอบสนองต่อความเครียดให้เป็นปกติ

หลังการรักษา ผู้ป่วยต้องดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจของตนเองให้ดีอยู่เสมอ โดยเฉพาะการรับมือกับปัญหาและการจัดการความเครียด โดยผู้ป่วยอาจต้องมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจติดตามอาการเป็นระยะ และแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยมาตรวจสุขภาพหัวใจทุกปีด้วย

ภาวะแทรกซ้อนของหัวใจสลาย

แม้ผู้ป่วยหัวใจสลายมักหายเป็นปกติได้เร็วภายในไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน แต่บางรายอาจเกิดหัวใจสลายซ้ำอีกหากประสบกับภาวะเครียดจัด และบางรายอาจเผชิญภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้ ดังนี้

  • ความดันเลือดต่ำ
  • ปอดบวมน้ำ
  • ลิ้นหัวใจมีปัญหา เช่น ลิ้นหัวใจไมตรัลรั่ว
  • หัวใจเต้นผิดปกติ หัวใจวาย ช็อค หรือเสียชีวิต

การป้องกันหัวใจสลาย

ดูแลสุขภาพจิตด้วยการรับมือกับปัญหาและจัดการความเครียด เช่น ปรึกษาปัญหากับเพื่อนหรือครอบครัว รู้จักปฏิเสธ ปล่อยวาง มองโลกในแง่ดี เข้าร่วมกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลาย ฝึกสมาธิ และหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดความเครียดได้ เป็นต้น

  • รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ และไม่สูบบุหรี่
  • รับประทานยาบางชนิด เช่น ยากลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ เพื่อป้องกันผลกระทบของความเครียดต่อหัวใจในระยะยาว