หน้าบวม

ความหมาย หน้าบวม

หน้าบวม (Facial Swelling หรือ Facial Edema) คือ อาการที่บริเวณใบหน้า และคอ เกิดอาการบวมอย่างผิดปกติ โดยอาการบวมอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ มีทั้งสาเหตุที่ไม่เป็นอันตราย หรือเป็นสัญญาณของโรคบางชนิด หน้าบวมรักษาให้หายได้หากรักษาได้ตรงจุดและถูกวิธี

หน้าบวม

อาการหน้าบวม

อาการที่เห็นได้ชัดของอาการหน้าบวมคือ อาการบวมที่ผิดปกติของใบหน้า เปลือกตา บางครั้งอาจลุกลามลงมาถึงคอ และต้นแขน หากจับบริเวณที่บวมอาจรู้สึกนิ่ม ๆ หากเกิดจากการอักเสบ บริเวณที่บวมอาจมีลักษณะแข็ง และกดเจ็บ นอกจากนี้ หากเป็นอาการบวมที่เกิดจากการแพ้ อาจมีอาการดังต่อไปนี้ร่วมด้วย ได้แก่

  • ปากและคอบวม
  • หายใจหรือกลืนได้ลำบาก
  • มีผื่นลมพิษขึ้น
  • รู้สึกสับสน หรือมึนงง
  • ไอ หรือหายใจมีเสียงดังวี้ด
  • วิงเวียนศีรษะ บ้านหมุน
  • คัดจมูก
  • มีอาการใจสั่น หรือการเต้นของหัวใจผิดปกติ
  • ปากและคอบวมจนมีปัญหาในการออกเสียง

นอกจากนี้ หากพบอาการอื่น ๆ ร่วมกับหน้าบวมที่เกิดจากการแพ้อย่างรุนแรง ควรรีบแจ้งหน่วยแพทย์ฉุกเฉินโดยเร็วที่สุด เพราะหากปล่อยไว้ผู้ป่วยอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยสัญญาณอาการแพ้ที่รุนแรง ได้แก่

  • หายใจเร็ว
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • ชีพจรเต้นเบาลง
  • ความดันโลหิตต่ำ

สาเหตุของหน้าบวม

หน้าบวมเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุที่เกิดที่ทำให้เกิดมีตั้งแต่ไม่รุนแรง ไปจนถึงรุนแรงจนเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน ซึ่งที่พบได้บ่อยมักเกิดจาก

  • อาการแพ้ชนิดรุนแรง และลมพิษ
  • การผ่าตัด เช่น การผ่าตัดที่ศีรษะ จมูกหรือกราม  
  • การอักเสบ และการติดเชื้อ เช่น การอักเสบบริเวณดวงตา ตากุ้งยิง ไซนัสอักเสบ ฝีบนใบหน้า ฟันเป็นหนอง  และการอักเสบของต่อมน้ำลาย
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาต่าง ๆ
  • ปัญหาด้านโภชนาการ เช่น โรคอ้วน ภาวะขาดสารอาหารอย่างรุนแรง
  • ภาวะน้ำเกินในร่างกาย ทำให้เกิดอาการบวมน้ำ เช่น โรคไต โรคหัวใจ
  • อุบัติเหตุบริเวณใบหน้า

นอกจากนี้ หน้าบวมยังอาจเกิดจากกลุ่มอาการคุชชิง (Cushing Syndrome) ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายมีฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) มากผิดปกติ โดยกลุ่มอาการดังกล่าวจะระบุได้ยาก และต้องสังเกตอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยจึงจะวินิจฉัยได้

การวินิจฉัยอาการหน้าบวม

ในเบื้องต้นหากผู้ป่วยสังเกตความผิดปกติได้ด้วยตนเอง ซึ่งหากพบว่าใบหน้าของตนเองมีอาการบวม กดแล้วมีลักษณะบุ๋ม สันนิษฐานได้ว่ามีอาการหน้าบวม แต่ถ้าหากมีอาการดังต่อไปนี้ร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์ ได้แก่

  • ใบหน้าบวม หรือปวดอย่างรุนแรงและเฉียบพลัน
  • ใบหน้ามีอาการบวมติดต่อกันเป็นเวลานานโดยไม่ทุเลาลง หรืออาการยิ่งรุนแรงขึ้น
  • หายใจติดขัด
  • มีไข้ มีอาการกดเจ็บหรือบริเวณใบหน้าที่บวมแดงผิดปกติ

เมื่อไปพบแพทย์แล้ว แพทย์จะซักประวัติการรักษา หรือประวัติอาการเจ็บป่วย และแพทย์จะสังเกตดูจากภายนอกว่ามีความผิดปกติใด นอกเหนือจากอาการหน้าบวม เช่น มีรอยฟกช้ำ หรือมีอาการเลือดออกหรือไม่ หากมีรอยดังกล่าว แพทย์อาจสั่งตรวจเอกซเรย์เพิ่มเติม เพื่อดูความผิดปกติของใบหน้า และอวัยวะโดยรอบ

นอกจากนี้ หากแพทย์สันนิษฐานว่าเกิดจากการติดเชื้อ แพทย์อาจสั่งเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งในร่างกายไปตรวจหาร่องรอยของการติดเชื้อ หรือหากเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของอวัยวะ เช่น ไต แพทย์จะสั่งตรวจการทำงานของไตด้วย ขณะที่หากเป็นอาการบวมที่เกิดจากอาการแพ้ แพทย์มักตรวจหาความผิดปกติของโปรตีนในเลือดที่เกี่ยวข้องกับอาการแพ้ด้วย

การรักษาอาการหน้าบวม

ในเบื้องต้นหากผู้ป่วยมีอาการหน้าบวมที่ไม่รุนแรง และไม่ได้เกิดจากปัญหาสุขภาพที่รุนแรง ผู้ป่วยสามารถบรรเทาอาการด้วยตัวเองได้โดยประคบเย็น และปรับหมอนให้สูงขึ้น จะช่วยให้อาการบวมลดลงได้ แต่หากอาการหน้าบวมเกิดจากปัญหาอื่น ๆ อาจต้องรักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ

การรักษาจากการกัดต่อยของสัตว์มีพิษ

ในกรณีนี้ควรเอาเหล็กในออกให้เร็วที่สุด จากนั้นประคบเย็นจนกว่าอาการบวมจะลดลง แต่ถ้าหากผู้ป่วยมีอาการที่รุนแรงขึ้นควรรีบพาไปพบแพทย์โดยด่วน

การรักษาจากอาการติดเชื้อ

ในกรณีที่หน้าบวมจากการติดเชื้อ หากผู้ป่วยไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยแน่ชัดแล้ว แพทย์อาจสั่งยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาการติดเชื้อ และหากมีอาการของฝีร่วมด้วย แพทย์จะตัดฝีและระบายหนองออก จากนั้นจะปิดแผลด้วยวัสดุที่สามารถป้องกันการติดเชื้อ หรือการกลับมาเป็นซ้ำ โดยผู้ป่วยจะต้องรักษาความสะอาดและรับประทานยาอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะหายดี

การรักษาจากอาการลมพิษ

การทาครีมที่มีส่วนประกอบของยาไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) หรือและการประคบเย็นจะช่วยให้ผื่นจากลมพิษที่ทำให้เกิดอาการหน้าบวมลดลง และช่วยบรรเทาอาการคันได้ แต่ในระหว่างที่ผื่นยังไม่หายดีควรหลีกเลี่ยงการเกาบริเวณใบหน้าเพราะจะทำให้ยิ่งลุกลามและรุนแรงกลายเป็นการติดเชื้อและอักเสบในที่สุด

ขณะที่การรักษาจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น อาการบวมน้ำ หรือเป็นผลข้างเคียงจากอาการป่วยอื่น ๆ แพทย์จะต้องรักษาตามสาเหตุที่ทำให้หน้าบวม และหากเป็นผลจากการใช้ยา แพทย์จะพิจารณาปรับขนาดของยา หรือเปลี่ยนชนิดของยาที่ใช้ในการรักษา ซึ่งจะช่วยให้อาการหน้าบวมค่อย ๆ ลดลงตามลำดับได้

ภาวะแทรกซ้อนจากหน้าบวม

อาการหน้าบวมหากเกิดจากสาเหตุไม่รุนแรงอาจหายเองได้และไม่มีผลข้างเคียง แต่หากเกิดจากปัญหาที่รุนแรงอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ดังนี้

  • ทางเดินหายใจถูกปิดกั้น หากอาการบวมของใบหน้าเกิดจากอุบัติเหตุจนทำให้กระดูกแตกหัก หรือเกิดจากอาการแพ้ อาจทำให้ทางเดินหายใจตีบแคบลง หรือมีเศษกระดูกไปขัดขวางจนทำให้หายใจไม่ออกในที่สุด
  • เชื้อโรคแพร่กระจายไปยังบริเวณอื่น ๆ หากผู้ป่วยมีอาการหน้าบวมจากการติดเชื้อ และไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง เชื้ออาจแพร่กระจายไปยังบริเวณอื่น ๆ โดยเฉพาะการติดเชื้อภายในช่องปาก อาจเข้าสู่กระแสเลือดและเสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระแสเลือดได้
  • ปัญหาเกี่ยวกับดวงตา ในกรณีที่หน้าบวมตาภาวะตาอักเสบ หากไม่รีบรักษา อาการอักเสบที่ตาอาจลุกลามรุนแรง ก่อให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ และหูชั้นกลางอักเสบได้

การป้องกันอาการหน้าบวม

อาการหน้าบวมสามารถป้องกันได้บางส่วน โดยหากเกิดจากอาการแพ้ ผู้ป่วยควรเรียนรู้ว่าตัวเองแพ้อะไรบ้าง และควรหลีกเลี่ยง จะช่วยให้อาการหน้าบวมเกิดขึ้นน้อยลง หรือถ้าหากเกิดจากการใช้ยา ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์ที่รักษาและเป็นผู้จ่ายยานั้น ๆ ถึงอาการดังกล่าว เพื่อที่แพทย์จะได้พิจารณาปรับขนาดยา หรือเปลี่ยนยาที่ใช้ในการรักษา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการหน้าบวมอีก

ขณะที่อาการหน้าบวม หากเกิดจากปัญหาสุขภาพ ผู้ป่วยควรใช้ชีวิตเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคนั้น ๆ เช่น รับประทานเกลือ หรือโซเดียมให้น้อยลง จะช่วยลดความเสี่ยงอาการบวมน้ำได้ หรือควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมก็ช่วยลดความเสี่ยงโรคต่าง ๆ ได้เช่นกัน