สาเหตุของอาการมือเท้าเย็น กับวิธีแก้เบื้องต้น

หลายคนอาจเคยประสบกับอาการมือเท้าเย็น โดยเฉพาะเมื่อต้องทำงานในออฟฟิศที่ใช้เครื่องปรับอากาศ เมื่อเดินทางไปยังพื้นที่ที่อุณหภูมิต่ำหรือสภาพอากาศหนาวในบางพื้นที่ของประเทศไทย ซึ่งอาการมือเท้าเย็นนั้นเป็นอาการทั่วไปที่เกิดขึ้นได้เมื่อสัมผัสกับอากาศหนาวเย็น

อาการมือเท้าเย็นเป็นการตอบสนองของร่างกายต่ออากาศเย็น ส่วนใหญ่มักหายหรือดีขึ้นเมื่อสวมเสื้อผ้าที่เหมาะสมหรือเมื่ออุณหภูมิในพื้นที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม นอกจากปัจจัยภายนอกแล้ว อาการมือเท้าเย็นก็อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพได้เช่นกัน

A,Woman,Is,Touching,Her,Sole.

สาเหตุของอาการมือเท้าเย็น

เดิมทีอุณหภูมิร่างกายของคนเราจะอยู่ที่ประมาณ 36.1–37.2 องศาเซลเซียส ตามสภาพร่างกายและช่วงอายุ เมื่อสัมผัสกับอุณหภูมิที่ต่ำกว่าก็อาจทำให้รู้สึกเย็นไปจนถึงรู้สึกหนาว โดยร่างกายมนุษย์มีกลไกในการรักษาอุณหภูมิภายในด้วยการสูบฉีดเลือดไปยังอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกายผ่านหลอดเลือดขนาดเล็กและใหญ่ รวมไปถึงบริเวณมือและเท้าก็มีหลอดเลือดประกอบอยู่ด้วย

มือและเท้าถือเป็นอวัยวะส่วนปลายสุดของร่างกายและมักไม่ได้รับการปกปิดจากเครื่องนุ่งห่ม เมื่อสัมผัสกับอากาศหนาวเย็นจากภายนอกก็อาจทำให้หลอดเลือดบริเวณมือและเท้าหดตัว เนื่องจากร่างกายจะเพิ่มการไหลเวียนเลือดไปยังอวัยวะสำคัญ อย่างหัวใจและสมองก่อนอวัยวะส่วนอื่นเพื่อรักษาอุณหภูมิและการทำงานของอวัยวะ ส่งผลให้เลือดสูบฉีดไปยังมือและเท้าได้น้อยลง โดยเฉพาะปลายนิ้ว ทำให้หลอดเลือดและเซลล์บริเวณนั้นไม่สามารถรักษาอุณหภูมิปกติไว้ได้จนเป็นต้นเหตุให้มือเท้าเย็น

อาการมือเท้าเย็นอาจเกิดร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น นิ้วเปลี่ยนเป็นสีม่วงหรือดูซีดลง มือเท้าชา มือและเท้าแข็งขยับได้ยากขึ้น เป็นต้น แม้ว่าความรู้สึกเย็นบริเวณมือและเท้าจะพบได้ทั่วไป แต่งานศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า คนในกลุ่มเด็ก ผู้หญิงรูปร่างผอม ผู้ชายตัวหนา และผู้สูงอายุ อาจรู้สึกไวต่ออากาศเย็นกว่าคนกลุ่มอื่น

อาการมือเท้าเย็นส่วนใหญ่มักไม่เป็นอันตราย แต่บางครั้งอาจมีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพ เช่น โลหิตจาง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ (Peripheral Arterial Disease) ภาวะขาดไทรอยด์ โรคแพ้ภูมิตัวเอง (Lupus) โรคหนังแข็ง (Scleroderma) โรคเรเนาด์ (Raynaud's Disease) โรคเบอร์เกอร์ (Buerger's Disease) เป็นต้น

นอกจากนี้อาจมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงของอาการดังกล่าวได้เช่นกัน ดังนั้น หากมีอาการมื้อเท้าเย็นบ่อยครั้ง ไวต่ออากาศหนาวเย็น หรือเกิดอาการอื่นร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม

มือเท้าเย็นแก้ได้ เพิ่มความอบอุ่นด้วยวิธีง่าย ๆ

สภาพอากาศทั่วไปของประเทศไทยอาจส่งผลให้เกิดอาการมือเท้าเย็นได้น้อยกว่าประเทศเมืองหนาว แต่ก็อาจมีผลอยู่บ้างในช่วงหน้าหนาวหรือในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิต่ำ เช่น บนยอดเขา จังหวัดทางภาคเหนือ ในห้องนอน หรือออฟฟิศที่ใช้เครื่องปรับอากาศ

ลองมาดูวิธีง่าย ๆ ที่ช่วยบรรเทาอาการมือเท้าเย็นหากต้องอยู่ในพื้นที่หรือสถานที่ที่มีอากาศหนาวเย็น

  • สวมเสื้อผ้าให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ โดยเฉพาะหากต้องไปอยู่ในพื้นที่ที่หนาวเย็น เช่น ถุงมือ ถุงเท้า ผ้าพันคอ เสื้อกันหนาว หรือเสื้อคลุม
  • งดดื่มน้ำเย็น และดื่มน้ำอุ่นแทน การใช้มือประคองแก้วน้ำอุ่นจะยิ่งช่วยบรรเทาอาการมือเท้าเย็นได้มากขึ้น
  • นวดหรือถูมือและเท้าอย่างรวดเร็วเพื่อเพิ่มความอบอุ่น
  • เคลื่อนไหวให้มากขึ้น เช่น ออกกำลังกาย เดิน หรือลุกขึ้นยืดเส้นยืดสาย
  • งดดื่มกาแฟและสูบบุหรี่ เพราะคาเฟอีนจากกาแฟและนิโคตินในบุหรี่ส่งผลให้หลอดเลือดหดตัวได้ จึงอาจเสี่ยงต่ออาการมือเท้าเย็นมากขึ้น หรือเพิ่มความรุนแรงของอาการได้
  • หมั่นทาครีมทาผิวเสมอ แม้ว่าจะไม่เกี่ยวกับอุณหภูมิ แต่ความหนาวเย็นมักมาพร้อมอากาศที่แห้ง ดังนั้นเพื่อป้องกันมือแห้งแตกที่อาจทำให้เกิดแผล จึงควรรักษาความชุ่มชื่นของผิวหนังไว้

สำหรับครอบครัวที่มีทารก เด็กเล็ก และผู้สูงอายุ ควรใส่ใจเรื่องมือเท้าเย็นมากเป็นพิเศษเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน และควรไปพบแพทย์ทันทีหากพบอาการผิดปกติ เช่น นิ้วมือนิ้วเท้ามีสีม่วงคล้ำหรือเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน หายใจลำบาก มือเท้าบวม ปวดข้อ น้ำหนักลง เป็นไข้ หรืออาการอื่น ๆ ที่ดูรุนแรง