สายตาเอียง

ความหมาย สายตาเอียง

สายตาเอียง (Astigmatism) เป็นปัญหาสายตาที่เกิดจากกระจกตาหรือเลนส์ตามีความโค้งไม่เท่ากันหรือมีรูปร่างผิดไปจากปกติ ทำให้มองเห็นเป็นภาพเบลอ หรือเห็นภาพผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง ทั้งในระยะใกล้และระยะไกล ทำให้เกิดผลข้างเคียงอย่างอาการปวดหัว ปวดตา หรือตาล้าหลังจากใช้สายตาเป็นเวลานาน เช่น การอ่านหนังสือ หรือการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ 

สายตาเอียงสามารถเกิดขึ้นได้ร่วมกับปัญหาสายตาสั้นหรือสายตายาว ซึ่งจะตรวจพบจากการตรวจวัดค่าสายตากับจักษุแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ การรักษาสายตาเอียงมีหลายวิธีตามความต้องการและความเหมาะสมกับแต่ละบุคคล เช่น การใส่แว่นสายตาหรือคอนแทคเลนส์สำหรับผู้ที่สายตาเอียง และการผ่าตัดแก้ไขสายตา

สายตาเอียง

อาการของสายตาเอียง

หากผู้ป่วยสายตาเอียงน้อยจะมีอาการทางสายตาที่ปรากฏน้อยมาก โดยอาการแสดงที่พบจะชัดเจนขึ้นตามระดับความรุนแรงของสายตาเอียง พบว่ามีอาการดังนี้

สาเหตุของสายตาเอียง

โดยปกติแล้ว กระจกตาและเลนส์ตาของคนจะมีรูปร่างโค้งมนเป็นทรงกลม เมื่อแสงตกกระทบบนจอประสาทตาจะเกิดเป็นภาพที่ทำให้คนเรามองเห็น 

ในกรณีสายตาเอียงจะเกิดจากกระจกตามีความโค้งไม่สม่ำเสมอกัน หรือกระจกตามีรูปร่างผิดไปจากปกติ เช่น โค้งเป็นทรงรี หรือรูปไข่ ทั้งในแนวตั้ง แนวนอน หรือแนวเฉียง ทำให้มองเห็นภาพไม่ชัดหรือผิดเพี้ยนไปจากความจริง เนื่องจากตำแหน่งการตกกระทบของแสงเปลี่ยนไป โดยสามารถเกิดขึ้นร่วมกับปัญหาสายตาสั้นและสายตายาวได้

สายตาเอียงส่วนใหญ่มักเป็นแต่กำเนิด หรืออาจเกิดจากปัจจัยอื่น เช่น

  • ตาเหล่
  • ได้รับบาดเจ็บบริเวณดวงตาจากการอักเสบหรือติดเชื้อที่สร้างรอยแผลที่กระจกตา
  • ได้รับบาดเจ็บบริเวณดวงตาจากการผ่าตัดดวงตา
  • กระจกตามีรูปร่างผิดปกติ

โดยสายตาเอียงมี 2 ชนิด คือ

สายตาเอียงแบบสม่ำเสมอ

สายตาเอียงแบบสม่ำเสมอเกิดจากกระจกตาหรือเลนส์ตามีความโค้งไม่สม่ำเสมอกัน หรือมีรูปร่างผิดไปจากปกติ เช่น โค้งเป็นวงรี หรือรูปไข่ ทั้งในแนวตั้ง แนวนอน หรือแนวเฉียงเพียงทิศทางเดียว ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้ทั่วไป และเป็นกรณีที่พบได้มากกว่าสายตาเอียงแบบไม่สม่ำเสมอ สามารถรักษาได้ด้วยการสวมใส่แว่นสายตา คอนแทคเลนส์ หรือการผ่าตัดรักษากระจกตา

สายตาเอียงแบบไม่สม่ำเสมอ

สายตาเอียงแบบไม่สม่ำเสมอเกิดจากกระจกตาหรือเลนส์ตามีความโค้งไม่สม่ำเสมอกัน หรือมีรูปร่างผิดไปจากปกติ เช่น โค้งเป็นวงรี หรือรูปไข่ ทั้งในแนวตั้ง แนวนอน หรือแนวเฉียงในหลายทิศทาง มักเกิดจากการประสบอุบัติเหตุกระทบกระเทือนดวงตา และไม่สามารถรักษาได้ด้วยการสวมแว่นสายตา แต่สามารถใส่คอนแทคเลนส์ หรือผ่าตัดรักษากระจกตาได้

การวินิจฉัยสายตาเอียง

สายตาเอียงสามารถตรวจวินิจฉัยเพื่อวางแผนรักษาแก้ไขต่อไปอย่างเหมาะสมได้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

  • การวัดระดับการมองเห็น (Visual Acuity Test) เป็นการวัดความสามารถในการมองเห็นด้วยการให้ผู้ป่วยอ่านตัวเลขหรือตัวอักษรบนแผนภูมิสเนลเลน (Snellen Chart) ซึ่งตัวอักษรจะมีขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ ในแถวถัดลงมา
  • การวัดค่าความโค้งของกระจกตา (Keratometer Test) แพทย์จะใช้เครื่องเคอราโตมิเตอร์ (Keratometer) ส่องไฟไปที่กระจกตา เครื่องจะวัดระดับความโค้งของกระจกตาจากแสงสะท้อนที่ตกกระทบบริเวณกระจกตา

ทุกคนควรตรวจวัดสายตาเป็นระยะตามความเหมาะสมกับวัย ซึ่งโดยปกติแล้วเด็กในวัยเริ่มเข้าโรงเรียนและเด็กในวัยเรียนควรตรวจวัดสายตาทุก ๆ 2 ปี หลังจากนั้น ผู้ที่ไม่มีสัญญาณอาการของปัญหาสายตา ควรเข้ารับการตรวจวัดสายตา ดังนี้

  • ผู้ที่มีอายุ 19–40 ปี ควรตรวจวัดสายตาทุก ๆ 10 ปี
  • ผู้ที่มีอายุ 41–55 ปี ควรตรวจวัดสายตาทุก ๆ 5 ปี
  • ผู้ที่มีอายุ 56–65 ปี ควรตรวจวัดสายตาทุก ๆ 2 ปี
  • ผู้ที่มีอายุ 65 ปี ขึ้นไป ควรตรวจวัดสายตาปีละครั้ง

ส่วนผู้ที่มีอาการและทำให้เกิดปัญหาในการมองเห็น หรือมีทัศนวิสัยในการมองเห็นที่เปลี่ยนไปจนกระทบต่อการทำกิจกรรมต่าง ๆ  ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย หรือไปตรวจวัดสายตาอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์

การรักษาสายตาเอียง

โดยทั่วไป สายตาเอียงมักไม่ปรากฏอาการที่รุนแรงจนต้องทำการรักษา แต่หากมีอาการสำคัญที่ต้องทำการรักษาเพื่อแก้ปัญหาการมองเห็น สามารถทำการรักษาและแก้ปัญหาสายตาเอียงได้โดยการสวมแว่นตาและใส่คอนแทคเลนส์ และการผ่าตัดในกรณีที่สายตามีปัญหาอย่างรุนแรง

การสวมแว่นตา

แว่นตาจะช่วยแก้ปัญหาการมองเห็นได้ในขณะที่สวมใส่ เป็นวิธีที่ปลอดภัยและไม่มีการสัมผัสกับบริเวณดวงตา โดยการตัดแว่นสายตาที่ประกอบไปด้วยเลนส์ที่ช่วยปรับการหักเหของแสงให้ตกกระทบบนจอตา ทำให้มองเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น

การใส่คอนแทคเลนส์

คอนแทคเลนส์เป็นแผ่นเลนส์ใสที่ใส่บริเวณดวงตา ผู้ป่วยสามารถสวมใส่ได้ด้วยตนเองและถอดออกเมื่อไม่ต้องการใช้งาน โดยคอนแทคเลนส์จะช่วยปรับการหักเหของแสงให้ตกกระทบบนจอตา ทำให้มองเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นเช่นเดียวกับการสวมแว่นตา 

คอนแทคเลนส์มีให้เลือกหลายรูปแบบ เช่น เลนส์สัมผัสชนิดอ่อนแบบใช้แล้วทิ้ง เลนส์ชนิดที่ไม่ต้องถอดทุกวัน เลนส์ชนิดแข็งที่ยอมให้ก๊าซออกซิเจนซึมผ่านไปยังกระจกตาได้ และเลนส์ 2 ชั้นที่ทำให้ผู้ใส่มองเห็นได้ 2 ระยะ คือใกล้กับไกล

ส่วนวิธีการใส่คอนแทคเลนส์เพื่อปรับความโค้งของกระจกตาชั่วคราว มีชื่อว่า Orthokeratology ผู้ป่วยต้องสวมคอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง (Orthokeratology Lens) เป็นเวลาหลายชั่วโมงต่อวันแล้วถอดออก โดยผู้ป่วยจะสามารถใช้สายตาได้หลังจากปรับความโค้งกระจกตาแล้ว ซึ่งจะส่งผลให้เห็นภาพชัดขึ้น 

หากผู้ป่วยไม่ใส่คอนแทคเลนส์ชนิดนี้อย่างต่อเนื่อง ความโค้งของกระจกตาก็จะกลับไปมีลักษณะดังเดิม และกลับไปมีสายตาการมองเห็นดังเช่นก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม การใส่คอนแทคเลนส์อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ๆ โดยไม่ถอดออกล้างทำความสะอาดตามสมควรของเลนส์แต่ละประเภท จะเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อบริเวณดวงตา ดังนั้น หากผู้ป่วยต้องการรักษาแก้ไขปัญหาสายตาด้วยการใส่คอนแทคเลนส์ จะต้องมีความระมัดระวังและใส่ใจในการปฏิบัติตามคำแนะนำ

การผ่าตัด

การผ่าตัดจะช่วยทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องใช้แว่นสายตาและคอนแทคเลนส์อีกต่อไป หรือลดความจำเป็นในการใช้แว่นสายตาและคอนแทคเลนส์ลง โดยแพทย์จะต้องทำการผ่าตัดปรับเปลี่ยนรูปร่างและความโค้งของกระจกตา เพื่อให้แสงตกกระทบบนจอตาและทำให้ผู้ป่วยสามารถมองเห็นภาพต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจนขึ้น

โดยวิธีการผ่าตัดแก้ไขสายตาที่ใช้รักษาสายตาเอียง ได้แก่

  • เลสิก(Laser-Assisted In Situ Keratomileusis: LASIK) แพทย์จะผ่าตัดนำเนื้อเยื่อในเลนส์กระจกตาออกมา แล้วใช้เลเซอร์ปรับแต่งให้ได้รูปร่างและส่วนโค้งที่เหมาะสม แล้วใส่กลับเข้าไปในตำแหน่งเดิม
  • เลเสก (Laser-Assisted Subepithelial Keratectomy: LASEK) เลเสกต่างจากการทำเลสิกตรงที่แพทย์จะใช้แอลกอฮอล์ชนิดพิเศษลอกเนื้อเยื่อกระจกตาชั้นนอกออกมา จากนั้นจึงใช้เลเซอร์ปรับแต่งให้ได้รูปร่างและส่วนโค้งที่เหมาะสม แล้วใส่กลับเข้าไปในตำแหน่งเดิม
  • พีอาร์เค (Photorefractive Keratectomy: PRK) ซึ่งมีขั้นตอนคล้ายกับการทำเลเสก แต่แพทย์จะทำการผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อกระจกตาออกไป เพื่อให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นเจริญเติบโตขึ้นมาใหม่และเกิดเป็นรูปร่างใหม่ โดยหลังผ่าตัด ผู้ป่วยอาจต้องใส่คอนแทคเลนส์ชนิดพิเศษที่มีออกซิเจนผ่านสูงเป็นเวลา 2–3 วัน
  • อีพิเลสิก (Epi-LASIK) เป็นการผ่าตัดชนิดหนึ่งที่คล้ายกับเลเสก แต่แพทย์จะใช้มีดผ่าตัดแทนการใช้แอลกอฮอล์ชนิดพิเศษในการผ่านำเนื้อเยื่อกระจกตาออกมาเป็นแผ่นบาง ๆ และปรับแต่งรูปร่างด้วยเลเซอร์ก่อนใส่กลับเข้าไปในตำแหน่งเดิม

แม้วิธีรักษาสายตาเอียงด้วยการผ่าตัดจะเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยไม่ต้องใช้แว่นสายตาและคอนแทคเลนส์อีกต่อไป หรือลดความจำเป็นในการใช้แว่นสายตาและคอนแทคเลนส์ลง แต่ก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น มีค่าสายตาน้อยกว่าหรือมากกว่าแต่เดิมก่อนการรักษา ตาแห้ง มองเห็นแสงเป็นวงหรือกระจายเป็นแฉก เกิดรอยแผลเป็นบนกระจกตา ตาติดเชื้อ หรือสูญเสียการมองเห็น แม้จะพบได้น้อยมาก 

หากต้องการรักษาปัญหาสายตาเอียงด้วยการผ่าตัด ผู้ป่วยต้องปรึกษาแพทย์ถึงขั้นตอน วิธีการ ข้อดี ข้อเสีย และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นให้ดีก่อนตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัด

ภาวะแทรกซ้อนของสายตาเอียง

หากประสบกับปัญหาสายตาเอียงเพียงข้างเดียว มีแนวโน้มที่ผู้ป่วยจะเผชิญกับภาวะตาขี้เกียจ (Lazy Eye หรือ Amblyopia) ซึ่งจะทำให้การมองเห็นไม่ชัดเจน เนื่องจากตาทั้ง 2 ข้างมีการมองเห็นที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

การป้องกันการเกิดสายตาเอียง

สายตาเอียงเกิดจากรูปร่างและความโค้งของเลนส์กระจกตาที่ผิดปกติ จึงไม่มีวิธีการที่ชัดเจนในการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหานี้ขึ้น แต่สามารถทำได้โดยการดูแลรักษาดวงตา ป้องกันไม่ให้ได้ดวงตารับความกระทบกระเทือนจากอุบัติเหตุต่าง ๆ และใช้สายตาอย่างเหมาะสม เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของเลนส์กระจกตา